MEA จับมือ จุฬาฯ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

8 ก.ย. 65
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ร่วมพิธีลงนามสัญญาต่างตอบแทนโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของมหาวิทยาลัย (Sandbox) ระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา การออกแบบระบบบริหารจัดการพลังงานและระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ SAMYAN SMART CITY ณ ห้องสัมมนา 1 ชั้น 12A อาคารวัฒนวิภาส(อาคาร B) การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย
 
MEA1

MEA2

รองผู้ว่าการ กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมขับเคลื่อนการสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ตามนโยบายพลังงานหมุนเวียนของแผนพลังงานชาติ สู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 จึงได้ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย MEA เป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคาร ในพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้น 6 อาคาร ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 678.78 kWp และบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าตลอดอายุโครงการทั้งสิ้น 20 ปี สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) โดยเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ MEA จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการขยายผลต่อที่เป็นประโยชน์แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป 

MEA3

MEA4

ด้าน รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวว่า ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง จัดทำโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของมหาวิทยาลัย (Sandbox)” เป็นส่วนหนึ่งของ SAMYAN SMART CTIY 

 

จากแนวโน้มทางด้านการพัฒนาพลังงานของโลกและของประเทศไทย พบว่า ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา นอกจากนี้ จากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (Consumer) มาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า (Producer) ในบางช่วงเวลาด้วย หรือที่เรียกว่า Prosumer ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างการจัดหาไฟฟ้าและโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต การทดลองการซื้อขายไฟฟ้าของ Prosumer ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer (P2P) ควบคู่ไปกับการทดสอบการบริหารจัดการการใช้พลังงานในระบบจำหน่ายไฟฟ้าจริงที่จะดำเนินในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เห็นประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปเป็นบทเรียนที่เติมเต็มกับทั้งภาควิชาการ และหน่วยงานการไฟฟ้า ซึ่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงนโยบายและกำกับดูแลทางด้านพลังงานของประเทศไทยได้ 

MEA5

MEA6

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ SAMYAN SMART CITY ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ "SMART 7" คือ(1) SMART ENERGY (2) SMART ENVIRONMENT  (3) SMART MOBILITY  (4) SMART ECONOMY  (5) SMART PEOPLE  (6) SMART LIVING และ  (7) SMART GOVERNANCE  โดยความร่วมมือครั้งนี้ ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเน้นที่การพัฒนาเสาหลัก "Chula Smart Campus" ทางด้าน SMART ENERGY ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะที่ประกอบด้วยการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-peer และอาคารอัจฉริยะ พร้อมทั้งจะทำการทดลองการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระบบผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบ P2P เพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์กลไกตลาด (Market Mechanisms) การออกแบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้า และการออกแบบอัตราค่าผ่านทาง (Wheeling charge) ที่เหมาะสมกับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P โดยคาดหวังว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาประเทศในมิติทางด้านพลังงานและเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของต้นแบบเมืองอัจฉริยะทางด้านพลังงานต่อไป 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม