หมอนิธิพัฒน์ เผย ยอดผู้ป่วยทะลุแนวต้าน คาดติดเชื้อ 5 หมื่นรายต่อวัน

19 ก.ค. 65

หมอนิธิพัฒน์ เผย ยอดผู้ป่วยทะลุแนวต้าน คาดติดเชื้อ 5 หมื่นรายต่อวัน อาจทรงตัวหรือลดลง หากอยู่ในช่วงขาลงจริง หลังหยุดยาวอาจไม่เกิดระลอกใหญ่

 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุว่า

 

ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงเมื่อวานอยู่ที่ 794 คน ใกล้ทะลุแนวต้านแรกที่ 800 ได้แล้ว และยอดผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 10,974 คน ใกล้ทะลุแนวต้านแรกที่ 11,000 ได้เช่นกัน (ล่าสุดเมื่อครู่หลังแปดโมง ทะลุทั้งสองแนวต้านแล้ว) สำหรับตัวเลขผู้ป่วยตรวจพบเชื้อแล้วแยกกักตัวที่บ้าน สัปดาห์ที่ 10-16 ก.ค. อยู่ที่ 143,827 คน ซึ่งลดจากสองสัปดาห์ก่อนที่ 207,643 และลดจากหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ 149,537 แต่ต้องระวังว่าน่าจะมีผู้ไม่รายงานเข้าในระบบอีกอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง



ดังนั้น ยอดผู้ติดเชื้อปัจจุบันยังน่าจะอยู่ที่ราวห้าหมื่นคนต่อวัน อาจทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย ถ้าอยู่ขาทรงหรือขาลงจริง การกระเพื่อมหลังช่วงหยุดยาวจึงไม่น่าเป็นระลอกใหญ่ เชื่อว่าผ่านโอไมครอนมาตั้งแต่ BA.1, BA.2 , BA.4,  และ BA.5 คนกรุงเทพติดเชื้อโอไมครอนไปแล้วเกินครึ่งเมือง จึงไม่น่าเหลือให้มาระบาดใหญ่อีก เหลือแค่กระเพื่อมเล็กน้อยเป็นช่วงๆ จากพวกที่ยังรอดตัวอยู่ หรือพวกที่ติดเชื้อโอไมครอนแล้วมานานเกิน 4 เดือนขึ้นไป



ประชาชนควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่การอยู่ร่วมกับโควิดแบบโรคประจำถิ่น

 

หนึ่ง...เข้ารับวัคซีนโควิดเข็มมาตรฐานให้ครบ และเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อยหนึ่งเข็มสำหรับคนทั่วไป และสองเข็มอย่างน้อยสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนที่มีอาชีพต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา หรือคนที่ต้องคอยดูแลคนกลุ่มเปราะบาง วัคซีนช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโควิดได้ แถมยังช่วยลดโอกาสและลดความรุนแรงของกลุ่มอาการลองโควิดได้อีกด้วย

 

สอง...ทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม อย่างมีสติและพอประมาณ ระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา และพร้อมจะปรับเปลี่ยนให้รัดกุมขึ้นเมื่อมีสถานการณ์โรคกระเพื่อม

 

สาม...ทำความคุ้นเคยและรู้จักกับโควิดในฐานะโรคประจำถิ่น ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ดูแลตนเองที่บ้านได้เมื่อเกิดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ซึ่งคนที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่ใช้แค่เพียงยารักษาตามอาการก็พอ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสใดๆ ทั้งสิ้น ท้ายสุดคือต้องตรวจจับสัญญานการติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยรุนแรงให้ได้เร็ว คือ ไข้สูง หายใจเร็วและหายใจหอบเหนื่อย (ถ้าวัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำร่วมด้วยก็จะแม่นยำขึ้น) หรือ มีชีพจรเต้นเร็วโดยไม่ทราบเหตุ เพื่อที่จะได้ประสานงานเข้ารับการรักษาโดยรีบด่วนในโรงพยาบาล

 

ตนเห็นว่าภาคการแพทย์และภาคประชาชนมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว รอแต่ฝ่ายนโยบายให้มาแสดงบทบาทนำหน้าให้ชัดเจน ไม่รู้ตอนนี้มัวไปสาละวนกับเรื่องสุขภาพอื่นๆ หรือเรื่องเปิดเสรี “สางเขียว (กัญชา)” หรือเตรียมรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ซึ่งไม่รู้จะเป็นมวยล้มต้มคนดูเหมือนที่ผ่านๆ มาหรือเปล่า

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส