พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 4 เรื่องไม่จริง และ 10 เรื่องที่ต้องรู้

31 พ.ค. 65

PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เผย 4 เรื่องไม่จริง และ 10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565

กฎหมาย PDPA Thailand (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก PCDC Thailand ได้เผยข้อมูล

10 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ เกี่ยวกับ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

1. ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมเฉพาะ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ

2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเราไว้ก่อนหรือในขณะเก็บรวบรวม (ห้ามใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์)

3. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคลล ต้องเก็บรวมรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเราเท่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย

4. ความยินยอม เป็นฐานการประมวลผลฐานหนึ่งเท่านั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ในการกำหนดฐานการประมวลผลให้สอดคล้องกับลักษณะการประมวลผลและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

5. การขอความยินยอม ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องคำนึงอย่างที่สุดในความเป็นอิสระของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

6. เจ้าของของมูลส่วนบุคคลมีสิทธิ

(1) สิทธิในการถอนความยินยอมในกรณีที่ให้ความยินยอมไว้

(2) สิทธิในการได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด

(3) สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมุลส่วนบุคคล

(4) สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล

(5) สิทธิในการคัดค้านการเก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

(6) สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้

(7) สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

(8) สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล

7. PDPA ใช้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะสัญชาติใดก็ตาม

8. ในกรณีที่เหตุการละเมิด ข้อมูลส่วนบุคคลมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบพร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า

9. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่จัดทำบันทึกรายการกิจกรรมเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

10. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม PDPA (ทั้งนี้ประมวลการร้องเรียนให้เป็นประตามระเบียบที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด)

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA

ตอบ กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA

ตอบ สามารถโพสต์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA

ตอบ การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน

4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้

ตอบ ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว

(1) เป็นการทำตามสัญญา

(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ

(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล

(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ

(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส