นักวิทยาศาสตร์มะกันมืดแปดด้าน พบ “หนอนหัวเดียว” ถูกส่งขึ้นอวกาศ แต่ขากลับมี “หัวที่ 2” งอกมาใหม่

14 มิ.ย. 60
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) ของสหรัฐฯ  นำโดยศาสตราจารย์ ไมเคิล เลวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาระดับแถวหน้าของสหรัฐฯ  เผย พบข้อมูลสุดช็อกเกี่ยวกับ “หนอนตัวแบน” ตัวหนึ่งซึ่งถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ในสภาพที่เหมือนกับหนอนปกติธรรมดาทั่วไป  แต่พอมันกลับลงมาสู่โลกอีกครั้งในอีก 5 สัปดาห์ต่อมา  กลับพบว่ามี “หัวที่ 2” งอกขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์   ข่าวการพบ หนอน 2 หัว ซึ่งมีหัวที่ 2 งอกขึ้นมาเองภายหลังเดินทางกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติในครั้งนี้     ได้สร้างความฮือฮาในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก  และเหล่าผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯเองก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด หนอนซึ่งมีเพียงหัวเดียวเมื่ออยู่บนโลก      ถึงกลายสภาพเป็นหนอน 2 หัว เมื่อมันกลับมาจากห้วงอวกาศ   ศาสตราจารย์เลวินเผยว่า โดยปกติแล้ว เจ้าหนอนตัวแบนชนิดนี้จะมีเพียงแค่หัวเดียวเท่านั้น เมื่อมันอยู่ตามธรรมชาติบนโลกมนุษย์  แต่การที่มันถูกส่งออกไปสู่ห้วงอวกาศที่มีสภาวะไร้น้ำหนัก และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากบนโลกอย่างสิ้นเชิง     อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อระบบในร่างกายของมัน และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หนอนตัวแบนธรรมดา  กลายเป็นหนอน 2 หัว เมื่อกลับจากห้วงอวกาศ   อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯกำลังกังวลว่า  หากเกิดขึ้นสู่อวกาศเพียง 5 สัปดาห์ยังสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพกับหนอนตัวแบนได้มากเท่านี้  แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายมนุษย์หรือไม่  โดยเฉพาะเหล่านักบินอวกาศที่ต้องขึ้นไปปฏิบัติงานอยู่เป็นแรมปี   ถือเป็นคำถามที่แวดวงวิทยาศาสตร์อเมริกันยังไร้ซึ่งคำตอบ   คลิปวิดีโอ 1 ขอบคุณ GeoBeats News     คลิปวิดีโอ 2 ขอบคุณ CNET  

advertisement

ข่าวยอดนิยม