จิราพร ชวนจับตา! 31 ม.ค.นี้ ตัดสินคดี เหมืองทองอัครา ส่อมีดีลใหญ่ยกทรัพย์สินชาติแลกถอนฟ้อง?

26 ม.ค. 65

มหากาพย์คดี เหมืองทองอัครา จิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย ชวน ปชช.จับตาวันตัดสิน 31 ม.ค.นี้ รัฐบาลส่อมีดีลใหญ่ยกทรัพย์สินชาติแลก คิงส์เกต ถอนฟ้อง?

กรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จะมีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดท จํากัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด กับราชอาณาจักรไทย จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองทองคำและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ

วันที่ 26 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 65 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับราชอาณาจักรไทย ซึ่งล่าสุดบริษัทคิงส์เกตฯ แจ้งว่า รัฐบาลไทยอนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่ 4 แปลงให้กับบริษัทและเปิดทางให้กลับมาทำเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการที่รัฐบาลยอมให้บริษัทอัคราฯ กลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการเท่ากับเป็นการก้มหน้ายอมรับว่าการใช้ มาตรา44 ปิดเหมืองแร่ทองคำเป็นการกระทำผิดต่อบริษัทคิงส์เกตฯ และถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดี จึงยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อเปิดทางเจรจาให้มีการถอนฟ้อง

โดยที่ผ่านมาคดีเหมืองทองอัคราถูกเลื่อนการออกคำชี้ขาดถึง 3 ครั้ง (เดิมจะออกคำชี้ขาด 31 ม.ค. 64 แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นต้นเดือน เม.ย. 64 และถูกเลื่อนอีกครั้งเป็น 31 ต.ค. 64) ซึ่งล่าสุดการออกคำชี้ขาดถูกเลื่อนเป็นวันที่ 31 ม.ค. 65 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกฎของ UNCITRAL ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการตัดสินคดี คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกมาได้ 3 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1: ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องขอ หรือเรียกว่าทั้งสองฝ่ายประณีประนอมยอมความกัน ซึ่งอาจเกิดผลใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก บริษัทคิงส์เกตฯ ถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และ รูปแบบที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่จะนำข้อตกลงประณีประนอมยอมความของคู่กรณีมาบันทึกไว้โดยไม่มีความเห็นของอนุญาโตตุลาการประกอบ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามจะสามารถนำบันทึกข้อตกลงนั้นไปบังคับคดีต่อไปได้

แนวทางที่ 2: ออกคำชี้ขาดแค่บางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ออกคำชี้ขาดในภายหลัง ซึ่งจะกลายเป็นภาระส่งต่อยังรัฐบาลต่อไป

แนวทางที่ 3: ออกคำชี้ขาดของข้อพิพาททั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้ไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นฝ่ายแพ้คดีสูงมาก และหากไทยแพ้คดีต้องชดเชยเป็นเงินและทองคำมูลค่าขั้นต่ำ 30,000 ล้านบาท คำถามคือแล้วพลเอกประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ในขณะนั้นที่บอกว่าจะรับผิดชอบเอง จะรับผิดชอบอย่างไร?

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยรู้ตัวว่ากำลังจะแพ้คดีจึงมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตเพื่อแลกกับการถอนฟ้องใช่หรือไม่? เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ ให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ และยังเร่งอนุญาตสัญญาเช่าอีก 4 แปลงเพื่อเปิดทางให้เหมืองทองอัคราสามารถกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการนำทรัพย์สมบัติชาติไปมัดจำก่อนตามที่ได้เจรจาไว้ และยังมีพื้นที่อีกเกือบ 600,000 ไร่ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติมหลังจากนี้ ซึ่งมีประเด็นปัญหาว่า การที่รัฐบาลไทยนำทรัพยากรชาติไปใช้ในการเจรจาต่อรองในลักษณะนี้เป็นการดีลที่เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายได้

ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยกันจับตาผลการตัดสินคดีเหมืองทองอัคราในวันที่ 31 ม.ค. นี้ อย่างใกล้ชิด และร่วมกันลงชื่อกับพรรคเพื่อไทย https://lin.ee/lOrhxhc เพื่อ คัดค้านการนำสมบัติชาติไปสังเวยความผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์ อย่าให้พลเอกประยุทธ์ผลักความผิดพลาดของตัวเองมาให้ประชาชนและประเทศชาติต้องรับผิดชอบแทน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เพื่อไทย แถลง-ผุดแคมเปญล่าชื่อต้าน ประยุทธ์ ยกสมบัติชาติแลกผิดปม เหมืองทองอัครา

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม