กรมชลประทาน ยัน น้ำท่วม ไม่หนักเท่าปี 54 เขื่อนหลัก 4 แห่งยังรองรับได้

28 ก.ย. 64

น้ำท่วม ไม่หนักเท่าปี 54 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (28 ก.ย.64) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,521 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.88 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง และไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รวม 306 ลบ.ม./วินาที

และปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,631 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบริเวณที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ บ้านท่าทราย และตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, วัดเสือข้าม วัดสิงห์ ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี, คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลเทวราช อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ (แม่น้ำน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย และมวลน้ำในปีนี้ไม่สามารถเปรียบเทียบกับปี 2554 ได้เลย เพราะปริมาณน้ำค่อนข้างต่างกันเยอะ อีกทั้งเงื่อนไขของการเกิดอุทกภัยในปีนี้ ก็ต่างจากปี 54 เนื่องจากในปีนั้นเราเจอพายุ 5 ลูกติดต่อกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แล้วในเวลานั้นปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ทั้ง 4 เขื่อนมีน้ำเต็มความจุ ประกอบกับมีฝนตกลงมาเติม จึงทำให้เกิดเหตุ มหาอุทกภัย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ 12,000 ล้าน ลบ.ม. และหากมีฝนตกลงมาเหนือเขื่อนก็ยังอยู่ในปริมาณที่รับได้ ส่วนปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ C2 นครสวรรค์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่ในช่วงนั้นมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 3,000 กว่า ลบ.ม ส่วนสถานที่วัดน้ำบางไทร วันนั้นมีปริมาณน้ำวัดได้ 3,400 - 3,500 ลบ.ม. แต่วันนี้เรามีเฉลี่ยแค่ 2,100 ลบ.ม. เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ระหว่างปี 2554 กับ 2564

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ประยุทธ์ ลุยตรวจ น้ำท่วมสุโขทัย ชวนชาวบ้านสวดมนต์ขอพายุมาลูกเดียวพอ
- น้ำท่วมชัยภูมิ หลังฝนตกสะสมหลายวัน ชาวนาโอดผลผลิตเสียหาย
- สถานการณ์น้ำท่วม อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร นครราชสีมา ตอนล่างระดับน้ำลดแล้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ