อนุทิน แถลงจับ ผู้ต้องหาทุจริตลงทะเบียนจองคิววัคซีน สถานีกลางบางซื่อ

27 ก.ย. 64

อนุทิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันรัฐบาลฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้คนไทยและผู้ที่พำนักในประเทศไทยทุกคนฟรี พบ 7 ผู้กระทำผิดเรียกรับผลประโยชน์จากการฉีดวัคซีนเดินหน้าเอาผิดเต็มที่

วันนี้ ( 27 กันยายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีการจับกุมผู้ต้องหาทุจริตการจองคิวรับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการตำรวจรถไฟทำการจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิด เรียกรับผลประโยชน์จากการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งรัฐบาลขอยืนยันการให้บริการฉีดวัคซีนเป็นภาระและหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการให้กับประชาชนคนไทยทุกคนรวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศ

ขอประชาสัมพันธ์ว่าวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าฉีด ค่าอุปกรณ์ หรือการดูแล โดยบุคลากรทางการแพทย์ ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลรับผิดชอบทั้งสิ้น ขอให้กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียน หากเข้ารับบริการฉีดวัคซีนของภาครัฐแล้วถูกเรียกร้องใดๆ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฉีดทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดหรือเอาเปรียบประชาชน

“ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประสานการทำงานใกล้ชิดกับกรมการแพทย์เร่งรัดจับกุมผู้กระทำผิด มาดำเนินคดี ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่ยกเว้นการกระทำผิดและจะดำเนินคดีเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป” นายอนุทินกล่าว

ทั้งนี้ พบผู้กระทำผิดจากการทุจริตลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าจิตอาสา ที่เข้ามาช่วยงานรับลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด 19 ส่วนเรื่องคดีได้มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไป

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ประชาชนไปแล้วกว่า 50 ล้านโดส และขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งเข็มที่ 1,2 และ 3 ตามที่ได้นัดหมายไว้ หากพื้นที่ใดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขอให้โรงพยาบาลบริหารจัดการการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น การออกให้บริการนอกสถานที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังและผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์​ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ได้ร่วมแถลงข่าวกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนของศูนย์ฯ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า จากกรณีที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อตรวจสอบพบการทุจริตลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีน เมื่อเดือนปลายกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และได้ดำเนินการแก้ปัญหาทันทีด้วยการ “ขุดบ่อล่อปลา” เพื่อรวบตัวผู้จองคิวโดยทุจริต และรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่ผู้ซื้อคิวโดยทุจริตดังกล่าว (โดยกันตัวไว้เป็นพยาน) นำมาแจ้งความดำเนินคดีเพื่อหาตัวการผู้กระทำความผิดต่อทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ แล้ว บัดนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สืบสวนจนได้ข้อมูลที่เพียงพอในการกระทำความผิด/ทุจริต และได้จับกุมผู้ต้องหาที่เป็นตัวการสำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงขอแถลงรายละเอียดให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ดังต่อไปนี้

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคมเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยมีสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานให้บริการฉีดวัคซีนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ มีจำนวนผู้รับบริการ 10,000 - 30,000 คนต่อวัน ที่ผ่านมามีการดำเนินการใน 2 รูปแบบหลักในสองระยะ คือ

1. ระยะแรกที่เริ่มเปิดให้บริการ ได้กำหนดรูปแบบการบริการแบบ การจองคิวล่วงหน้า (Advance booking) โดยเปิดให้ลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าผ่าน 4 ค่ายมือถือ และการนัดล่วงหน้าขององค์กรขนาดใหญ่ อาทิ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เป็นหลัก ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 พฤกษภาคม ถึง 29 มิถุนายน 2564 โดยการจองคิวล่วงหน้าดังกล่าว ทางศูนย์ฯ จะได้รับข้อมูลของผู้มารับบริการและจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อรับการลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ทำให้ในวันที่ผู้จองคิวมารับบริการจริงจะไม่ต้องเพิ่มข้อมูลหน้างาน เพียงแต่บริการลงทะเบียนเข้ารับบริการจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น หากข้อมูลเดิมผิดพลาด เช่น เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ หรือเบอร์โทรไม่ถูกต้อง จึงจะมีการแก้ไข/เพิ่มเติม ซึ่งในแต่ละวันจะเกิดขึ้นไม่มากนัก โดยจะให้สิทธิในการแก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ IT ของกรมการแพทย์ และสถาบันโรคผิวหนังในการดำเนินการแก้ไข/เพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวประมาณ 10 ท่านเท่านั้น

2. ระยะที่สอง เปิดบริการแบบ walk-in หรือ on site registration ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 ที่เปิดให้ผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการโดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกรกฎาคมทั้งเดือนที่เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีน้ำหนักมากกว่า 100 กก. และคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการแบบ Walk-in ด้วยเช่นกัน โดยการให้บริการรูปแบบนี้/ ทางศูนย์ฯ จะไม่มีข้อมูลเดิมของผู้รับบริการเลย ต้องลงทะเบียนหน้างานใหม่ทั้งหมด ทำให้จำเป็นต้องเปิดสิทธิให้จิตอาสาที่มาทำหน้าที่ในส่วนการลงทะเบียนที่มีอยู่มากกว่า 200 จุดสามารถเพิ่ม/แก้ไขข้อมูลของผู้รับบริการได้ทั้งหมด โดยมีจิตอาสาหมุนเวียนและได้รับสิทธิในการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนเกิดช่องทางให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นได้

จากความจำเป็นที่ศูนย์ฯ ต้องเปิดสิทธิให้จิตอาสาสามารถแก้ไข/เพิ่มเติมข้อมูลทางศูนย์ฯ ก็ตระหนักดีว่าอาจจะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นได้ ทางศูนย์ฯ ได้มีการเฝ้าระวังโดยเก็บสถิติและข้อมูลการทำงานในแต่ละวัน และตรวจสอบภาระงานที่ต้องทำในอนาคต ตลอดจนการเฝ้าระวังข้อมูลการทำงานที่ผิดปกติอยู่เสมอ จึงทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติในการนัดหมายล่วงหน้าที่คาดว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยได้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2564
ศูนย์ฯ ได้ตรวจพบความผิดปกติหลัก ๆ 2 ประการ คือ

ประการแรก พบว่ามีการนัดล่วงหน้าที่มีจำนวนสูงกว่าปกติ มากกว่าจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลด้วยตนเอง โดยเริ่มพบตัวเลขผิดปกติในหลักร้อยและหลักพันต้น ๆ ในช่วงวันที่ 18-27 กรกฎาคม และ
พบจำนวนนัดมากกว่าปกติเป็นหลักสองพันปลาย ๆ ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดรับ
การบริการแบบ walk-in

ประการที่ 2 พบความผิดปกติของช่วงเวลาในการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ระบบ โดยพบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงรับผู้ป่วย walk-in นั้น ทางศูนย์ฯ ได้งดรับการนัดล่วงหน้าจากองค์กรภายนอกเกือบทั้งหมด
(ยกเว้นบางหน่วยงาน เช่น การนัดของกระทรวงต่างประเทศซึ่งได้ส่งนัดหมายการฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุต่างชาติ

วันละประมาณ 400 คนเท่านั้น) ทำให้ในช่วงเดือนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ดำเนินการ upload ข้อมูลเข้าระบบแล้วเสร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลา 18.00 น. ของแต่ละวันแล้วมิใช่เสร็จสิ้นช่วงดึก ๆ เหมือนตอนที่เป็น advance booking ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากต้อง upload เข้าสู่ระบบ แต่อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวัง ทางศูนย์ฯ พบว่ายังมี Upload ส่งข้อมูลนัดหมายล่วงหน้าอีกในเวลาหลัง 22.00 น.ของทุกวันอยู่อีก ประกอบกับทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการซื้อขายเพื่อรับคิวการฉีดวัคซีน

จากประชาชนเป็นจำนวนมากพอสมควร จึงได้ทำการตรวจสอบและพบว่า มีการเพิ่มจำนวนนัดล่วงหน้าโดยทุจริตจากการใช้ Users 19 login ซึ่งอยู่ในกลุ่มจิตอาสาที่ได้รับการเพิ่มสิทธิในการนำเข้า/แก้ไขข้อมูลผู้รับบริการในช่วงเปิดบริการแบบ walk-in

ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จึงได้วางแผนเพื่อสืบให้ได้ถึงผู้กระทำผิดทั้งหมดโดยดำเนินการทันทีในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่มีคิวนัดล่วงหน้าเพิ่มมากกว่าปกติกว่า 2,827 คน ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ “ขุดบ่อล่อปลา”
ให้ผู้ที่ซื้อคิวโดยทุจริตเหล่านี้เดินทางมารับบริการตามปกติ และเมื่อศูนย์ฯ ตรวจเช็คแล้วว่าเริ่มมีการลงทะเบียนไปประมาณ 600+ คน จากจำนวน 2,000 กว่าคนนั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งยกเลิกคิวการฉีดของทั้ง 2,827 คนนั้นทั้งหมด เพื่อบีบให้คนเหล่านี้แสดงตัวขอความช่วยเหลือ/ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ โดยทางศูนย์ฯ ได้จัดสถานที่ไว้เป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งให้ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เข้าไปชี้แจง/ขอความร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของตัวการผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตในครั้งนี้ ทำให้สามารถรวบรวมผู้ทำนัดโดยทุจริตนี้ได้มากกว่า 300 คนซึ่งได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีต่อไปอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า การซื้อคิวนัดดังกล่าว มีทั้งซื้อเอง ญาติหรือนายจ้างซื้อให้ และมีการจ่ายเงิน
ทั้งแบบเงินสดและการโอนเงินในอัตรา 400-1200 บาทต่อคิว ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลรายชื่อและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวแล้ว จึงได้ให้นิติกรกรมการแพทย์เป็นผู้แทนในการดำเนินการแจ้งความต่อตำรวจ สน.นพวงศ์ ในฐานะผู้เสียหายต่อไป

จากการสอบสวนจนพบว่ามีการทุจริตแน่ชัด ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้ดำเนินการแก้ไขและสามารถการทุจริตดังกล่าวได้ทันที คือ

1. ได้ยกเลิกนัดล่วงหน้าที่ผิดปกติซึ่งตรวจพบระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม ทั้งหมด
2. ยกเลิก login-users เดิมทั้งหมดและให้สิทธิในการเพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ IT ภายในของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น
3. ปิดระบบทำการทั้งหมดในช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันการ vpn เข้ามาทำการนอกเวลางาน
4. ตรวจสอบข้อมูลความผิดปกติของการนัดล่วงหน้าและการนำเข้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ได้ยกเลิก
การนัดผิดปกติทั้งหมดแล้ว

หลังจากนั้นได้ศูนย์ได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินการสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและจิตอาสาที่ต้องสงสัยทั้ง 19 คนนี้ และได้ขอความร่วมมือกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สอบสวนหาหลักฐานเชิงลึกและดำเนินการจับกุมตัวการสำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันนี้

ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ได้กล่าวย้ำว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และทางรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนมาให้บริการฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากประชาชนแต่อย่างใด ในการจัดบริการเพื่อฉีดวัคซีนนั้น ทางกระทรวงได้ควบคุมและเฝ้าระวังอย่างรัดกุมและใกล้ชิด โดยได้มีการตรวจสอบติดตามวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการให้บริการตลอด ช่วยให้ตรวจจับความผิดปกติ และเข้าแก้ไขทันที จนสามารถแก้ปัญหาได้ทันเวลา ดังที่ปรากฏตัวอย่างการเฝ้าระวังของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อในกรณีดังกล่าวนี้ ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจว่า วัคซีนทุกเข็มจะได้รับการจัดสรรไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างเที่ยงธรรมและครบถ้วน ไม่ตกหล่นโดยทุจริตที่ใด และในโลกนี้ย่อมจะมีทั้งคนดีคนไม่ดี คนที่จ้องจะเอาเปรียบผู้อื่นหรือหาประโยชน์โดยทุจริตอยู่เสมอ เราอาจจะไม่สามารถห้ามไม่ให้เขาคิดหรือกระทำความผิดเหล่านั้นได้ แต่ด้วยการเฝ้าระวัง ระบบการตรวจสอบที่ดีมีประสิทธิภาพ และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เช่นที่ได้แจ้งเบาะแสมาให้ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อได้ทราบได้ป้องกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดช่องโหว่และปิดโอกาสการทุจริตในอนาคตได้ก็เป็นสิ่งที่ดีงาม
ที่เกิดขึ้นในห้วงวิกฤติการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้

ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขขอให้ความมั่นใจ
ว่าทางกระทรวงจะดูแลให้การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นทางออกที่สำคัญของวิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และจะป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในกระบวนการต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด

ในโอกาสนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ขอขอบคุณจิตอาสาตลอดจนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 4 แห่ง (Operator) ที่ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด และพร้อมร่วมมือกันต่อไป โดยขอย้ำกับประชาชนว่าการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่มีการเรียกรับเงินทุกกรณี และหากจะมีเบาะแสการทุจริตใด ๆ ก็ตาม
โปรดแจ้งให้ทางศูนย์ฯ ทราบเพื่อที่จะได้ดำเนินการจับกุมและแก้ไขต่อไปดังเช่นกรณีนี้ จะเป็นพระคุณยิ่ง


รายละเอียดคดี​ พฤติการณ์แห่งคดีกล่าวคือ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นางศิริลักษณ์ อุบลเหนือ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการด้านอำนวยการสถาบันโรคผิวหนังได้รับมอบหมายจากจากผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้มาแจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ และทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมรายชื่อผู้มีสิทธิที่จะได้รับ การฉีดวัคซีน เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งผู้มีรายชื่อดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะทำการฉีดวัคซีนให้ โดยก่อนเกิดเหตุ สถาบันโรคผิวหนัง ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ ดูแล และบริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย

ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อมีการลงทะเบียนกรอกข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนแล้วผ่านโปรแกรม softconvaccine ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของกรมการแพทย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และผู้มีสิทธิเข้ารับการฉีดวัคซีนสามารถตรวจสอบข้อมูลการนัดหมายรับการฉีดวัคซีนได้บน แอพลิเคชั่น วัคซีนบางซื่อ

​​ในการกรอกข้อมูลดังกล่าว บุคคลากรที่มีหน้าที่ลงทะเบียนกรอกข้อมูลจะได้รับชื่อผู้ใช้งานหรือ “username” และรหัสผ่านหรือ “password” ประจำตัว โดยเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์เป็นผู้กำหนดให้ สำหรับใช้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

​​ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ของศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ได้ตรวจสอบพบรายชื่อบุคคลที่มีการลงทะเบียนนอกเวลาทำการ (หลังเวลา ๒๐.๐๐ น.) จำนวนมากผิดปกติ ต่อมาวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จากการตรวจสอบพบว่ามีการนำข้อมูลรายชื่อบุคคลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกเวลาทำการประมาณวันละ ๑,๐๐๐ คน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.ถึง ๒๔.๐๐ น. โดยประมาณ จึงได้สั่งการให้ยกเลิกและนำรายชื่อที่ลงทะเบียน นอกเวลาทำการทั้งหมด ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
​​
ต่อมาวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ได้มีประชาชนซึ่งที่มีรายชื่อนัดหมาย ในวันดังกล่าว และมีชื่อลงทะเบียนนอกเวลาทำการ เดินทางมาตามกำหนดนัดเพื่อรับวัคซีนที่จุดลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่พบข้อมูล (เนื่องจากยกเลิกรายชื่อไปแล้ว) ทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว แสดงความไม่พอใจและพูดทำนองว่า “เสียเงินแล้วแต่ทำไมไม่ได้ฉีด” โดยทราบว่า คนร้ายได้เรียกเก็บเงินในการเพิ่มชื่อเพื่อเข้ารับ การฉีดวัคซีนเป็นเงินรายละ ๒๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับประชาชนทั่วไป กรมการแพทย์ไม่ได้มีนโยบายเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด จึงมีการสอบถามประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยให้กรอกข้อมูลเป็นเอกสารไว้ ต่อมาจึงได้รวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ส.รฟ.นพวงศ์​ กก.๑ บก.รฟ. เพื่อให้ทำการสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป

​เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญที่ประชาชน และสื่อมวลชนให้ความสนใจ ภายใต้อำนวยสั่งการของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. , พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. ได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่ง บช.ก. ที่ ๑๕๒/๒๕๖๔ และ ๑๕๓/๒๕๖๔ โดยมี พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์​ ผบก.รฟ. , พ.ต.อ.วริศร์สิริภ์ สีละสิริ รอง ผบก.อก.บช.ก. ปฏิบัติราชการ บก.รฟ. เป็นหัวหน้าคณะ/รองหัวหน้าฯ ทำการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ โดยมีการสอบพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนประมาณ ๒๐๐ ปาก ตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ และยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญา ศาลอาญาอนุมัติหมายจับบุคคลดังรายชื่อต่อไปนี้

​๑ น.ส.ภคมน หอมภักดิ์
​๒ นายวิชญพงศ์ ธีรอังคณานนท์
​๓ นางสุรีนาฎ ปัทมวิชัยพร
​๔ นายจุมพล ศรียาภัย
​๕ นางสาวบัณฑิตา รุ่งสว่าง
​๖ นางสาวกรรติมา ยางทอง
​๗ นายหทัยชนก บริรักษ์

​ในความผิดฐาน “ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ,ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน โดยร่วมกันกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยร่วมกันกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกง” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕,๗,๙,๑๒ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ,๓๔๓ ประกอบมาตรา ๘๓

​ต่อมาในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ เจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหานี้นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โรงพยาบาลพริ้นซ์สุวรรณภูมิ เปิดจอง โมเดอร์นา เป็นวัคซีนเด็ก 12-18 ปี
อย. เบรกฉีด ซิโนฟาร์ม ในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้บริษัทยื่นข้อมูลเพิ่ม ด้านความปลอดภัยวัคซีน
อนุทิน ย้ำฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กปลอดภัย เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่เป็นข้อจำกัดไปโรงเรียน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ