"ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง 30 บาท" ทั่วประเทศที่มีนัดเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง 3 รายการ วันนี้ไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่ายเดินทาง "ไกลแค่ไหน" มีบริการรับส่งไปกลับ "บ้าน - โรงพยาบาล" ไม่มีค่าใช้จ่าย จนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา
รัฐบาลเดินหน้ายกระดับหลักประกันสุขภาพไทย ด้วยการเปิดบริการ "รถรับ-ส่งฟรี" สำหรับผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองทั่วประเทศ ให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง 3 ประเภทได้อย่างเท่าเทียมและไร้ข้อจำกัดด้านการเดินทาง ได้แก่
บริการรักษาด้วยรังสีโปรตอน (Proton Therapy): เป็นเทคโนโลยีการฉายรังสีที่มีความแม่นยำสูง เหมาะสำหรับการรักษาเนื้องอกในตำแหน่งที่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก ซึ่งปัจจุบันให้บริการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Surgery): นำร่องใน 3 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูง แผลเล็ก และผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว โดยมีโรงพยาบาลในระบบที่ให้บริการหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, และโรงพยาบาลราชวิถี
บริการฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาเนื้องอกในตา (Eye Plaque Brachytherapy): เป็นการรักษาที่ให้ผลดีและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรักษาดวงตาไว้ได้ ซึ่งปัจจุบันให้บริการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่ผ่านมา ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเผชิญอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้เข้าไม่ถึงการรักษาที่จำเป็น สิทธิประโยชน์นี้ไม่เพียงแค่ลดภาระค่าใช้จ่าย แต่ยังเพิ่มโอกาสในการรักษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สปสช. ได้วางระบบการประสานงานอย่างครอบคลุม ตั้งแต่โรงพยาบาลต้นทางที่วินิจฉัยและวางแผนการรักษา ไปจนถึงการจัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยและญาติจากบ้านพัก เพื่อเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะหลักโดยไม่ต้องสำรองจ่าย และมีรถรับจากสถานีปลายทางส่งถึงโรงพยาบาล ครอบคลุมทั้งการเดินทางไปและกลับตลอดกระบวนการรักษา โดยระบบได้เริ่มให้บริการแล้ววันนี้ และเชื่อมั่นว่ามาตรการนี้จะช่วยลดภาระ สร้างความมั่นใจ และทำให้พี่น้องประชาชนผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
สำหรับการให้บริการนั้น สปสช. ได้ทำการวางระบบการประสานงานไว้อย่างชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้ป่วย มีขั้นตอนดังนี้
• โรงพยาบาลต้นทาง เมื่อแพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ 3 รายการข้างต้น โรงพยาบาลจะทำการนัดหมาย / ประสานการส่งตัวผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษาไปที่โรงพยาบาลปลายทางที่มีศักยภาพ
• ประสานงานผ่านสายด่วน 1330 ผู้ประสานงานของโรงพยาบาล (Hospital Coordinator) จะแจ้งข้อมูลผู้ป่วย, วันนัดหมาย และเบอร์โทรศัพท์มายังสายด่วน สปสช. 1330
• ยืนยันการเดินทาง เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 จะโทรศัพท์ติดต่อผู้ป่วยโดยตรงเพื่อยืนยันวันเดินทาง พร้อมสอบถามข้อมูลญาติที่จะเดินทางมาด้วย 1 คน
• จัดรถรับ-ส่งถึงที่ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยัง “คลินิกเวชกรรมเส้นด้าย” ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในการบริหารจัดการการเดินทาง โดยทางคลินิกจะประสานงานจัดรถรับ-ส่ง ซึ่งอาจเป็นรถแท็กซี่หรือรถบริการจากเครือข่ายในพื้นที่ ไปรับผู้ป่วยและญาติจากบ้านพัก เพื่อเดินทางไปยังสถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟ
• เดินทางไปยัง รพ.เพื่อรับบริการ ผู้ป่วยและญาติจะเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะหลักอย่าง “บริษัท สมบัติทัวร์” หรือรถไฟ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่าตั๋วเดินทาง
• รับจากสถานีสู่โรงพยาบาล เมื่อเดินทางมาถึงสถานีขนส่ง จะมีรถประสานงานไปรับเพื่อนำส่งไปยังโรงพยาบาลที่นัดหมายไว้อย่างสะดวกและปลอดภัย
• ครอบคลุมการเดินทางขากลับ กระบวนการทั้งหมดนี้จะครอบคลุมทั้งการเดินทางไปและกลับ ตั้งแต่การวางแผนการรักษา, การเข้ารับการรักษาตามนัดหมาย จนถึงการติดตามผลการรักษา (Follow-up)
Advertisement