หญ้าหวาน เป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมาเป็นเวลานานกว่า 1,500 ปี ชนพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้เป็นผู้ค้นพบและนำมาใช้เป็นครั้งแรก มนุษย์ได้นำสารสกัดของหญ้าหวานมาเป็นส่วนประกอบในชาที่ชงดื่มรวมถึงยาสมุนไพรโบราณ โดยเฉพาะในประเทศปารากวัย และบราซิล ซึ่งชื่อเดิมของหญ้าหวานที่ชาวพื้นเมืองปารากวัยเรียก คือ kar-he-e หรือภาษาสเปน เรียกว่า yerba ducle แปลว่า สมุนไพรหวาน เป็นสมุนไพรที่ชาวพื้นเมืองของปารากวัย และบราซิล ใช้ผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความหวาน และใช้ชงเป็นชาดื่ม ที่เรียกว่า “ มะเตะ” มานานมากกว่า 400 ปีแล้วส่วนในแถบเอเชียพบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการใช้สารสกัดจากหญ้าหวานอย่างแพร่หลาย โดยนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ผักดอง ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เนื้อปลาบด เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยหญ้าหวานเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยเป็นการนำมาทดลองปลูก ในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุญาตให้มีการใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภค หญ้าหวานจึงจัดอยู่ในพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง
หญ้าหวาน หรือ สเตเวีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni อยู่ในวงศ์ Asteraceae เป็นพืชพื้นเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้ความพิเศษของหญ้าหวาน คือส่วนของใบให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่ความหวานนี้ไม่ก่อให้เกิดพลังงานแต่อย่างไร (0 แคลอรี/กรัม) นอกจากนี้ยังมีสารสกัดที่เกิดจากหญ้าหวานชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (stevioside) เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่า 200-300 เท่าของน้ำตาล
จากการปลูกรวบรวมหญ้าหวานที่ได้จากการสำรวจ สามารถแยกลักษณะความแตกต่างกันทางสัณฐานวิทยาได้ 4 กลุ่มลักษณะ คือ 1) ใบใหญ่มีขน 2) ยอดอ่อนสีม่วง 3) ใบแคบยาว (ไต้หวัน) และ 4) ทรงพุ่มเล็ก
หญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งสาขาตั้งแต่ระดับโคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะทรงกลม เปลือกลำต้นบาง สีเขียวอ่อน หุ้มติดกับแกนลำต้น แกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
หญ้าหวานเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเดี่ยวๆ เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามลำต้น และกิ่ง และเหนือซอกใบจะแตกยอดสั้นๆ ทั้งสองข้าง แต่ละใบมีรูปหอกกลับ กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ สีเขียวสด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย และงุ้มเข้ากลางแผ่นใบ เมื่อเคี้ยวหรือต้มน้ำดื่มจะมีรสหวานจัด
หญ้าหวานออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด มีก้านดอกสั้น กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ รูปหอกหรือรูปไข่ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว ด้านในมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอมน้ำตาล และเกสรตัวเมีย 1 อัน ที่มีก้านเกสรสีขาวยาวยื่นออกมาจากกลางดอก คล้ายหนวดปลาดุก ทั้งนี้ หญ้าหวานจะออกดอกตลอดปี ในฤดูฝนจะออกดอกสีม่วง ส่วนฤดูอื่นๆ ออกดอกสีขาว
หญ้าหวาน มีผลเป็นผลแห้งขนาดเล็ก ไม่ปริแตก ภายในมีเมล็ดเดี่ยวจำนวนมาก เมล็ดสีดำ มีขนปุยปกคลุม
• ให้ความหวานแทนน้ำตาล: สารสตีวิโอไซด์ (Stevioside) ในหญ้าหวานให้รสหวานโดยไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาล
• ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน: ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาจช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน
• ลดความดันโลหิต: มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าหญ้าหวานอาจช่วยลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย
• ลดไขมันในเลือด: อาจช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
• บำรุงตับอ่อน: มีข้อมูลว่าหญ้าหวานอาจช่วยบำรุงตับอ่อนและส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน
• ต้านอนุมูลอิสระ: มีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย
• ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ: โดยรวมแล้ว การลดน้ำตาลในเลือด ไขมัน และความดันโลหิต ล้วนมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
• ไม่ทำให้ฟันผุ: แตกต่างจากน้ำตาล หญ้าหวานไม่เป็นอาหารของแบคทีเรียในช่องปาก จึงไม่ก่อให้เกิดฟันผุ
• ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก: สารสกัดจากหญ้าหวานถูกนำไปใช้ในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก เนื่องจากมีคุณสมบัติลดแบคทีเรีย
• อาจช่วยสมานแผล: มีบางรายงานระบุว่าหญ้าหวานอาจมีคุณสมบัติช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก
• บำรุงกำลัง: ชาหญ้าหวานอาจช่วยให้ร่างกายสดชื่นและลดความอ่อนเพลีย
หญ้าหวานจัดเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง เพราะเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสารปรุงรสหวานเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีปัญหาของโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังใช้ทดแทนน้ำตาลเทียมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และเครื่องดื่มสุขภาพซึ่งขยายตัวเร็วมาก มีการอนุญาตให้ใช้สารสกัดจากหญ้าหวานเป็นสารทดแทนน้ำตาลในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในยุโรปอนุญาตให้มีการใช้สารหวานจากหญ้าหวานเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม
หญ้าหวาน สามารถเพาะปลูกได้ดีที่ความสูง 600–700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ชอบอากาศเย็น ดินร่วน ไม่ชื้นแฉะ ต้องการแสงแดดจัดแต่ไม่ร้อนจัด ซึ่งเมืองไทยก็เป็นแหล่งเพาะปลูกที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อปลูกแล้วสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรก 25-30 วันหลังปลูก จากนั้นเก็บได้เดือนละ 1 ครั้ง โดยให้ผลผลิต 40–60 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง อายุเก็บเกี่ยวได้นานถึง 3 ปี จึงนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง
Advertisement