จิตแพทย์ แนะ 4 ขั้นตอนการรับมือ เมื่อต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

14 ก.พ. 67

จิตแพทย์ แนะ 4 ขั้นตอนการรับมือ เมื่อต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

หากพูดถึง "การสูญเสีย" เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องพบเจอ เช่น สูญเสียของรัก ทรัพย์สิน และบุคคลอันเป็นที่รัก แต่หลายคนยังไม่ทันได้เตรียมตัวที่จะพบการกับการสูญเสีย ก็อาจทำให้ต้องใช้เวลานานในการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และความเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า การสูญเสียคนรักเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต ความรู้สึกเศร้า เสียใจ โหยหา และสิ้นหวังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้หลายคนเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม หลังจากช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตในทางลบเป็นอย่างมาก โดยสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนหลังการสูญเสียบุคคลที่รักมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น

อาการทางความรู้สึก

• เศร้า มึนชา ช็อก โกรธที่ตัวเองไม่สามารถป้องกันการตายนั้นได้ โกรธที่ผู้ตายทิ้งตัวเองไป โกรธที่หมอไม่สามารถรักษาผู้ตายได้ ความโกรธที่น่ากลัวที่สุดคือ การโกรธตัวเอง จนบางคนคิดอยากฆ่าตัวตายตามผู้ตายไป
• สิ้นหวัง รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ตาย
• ความวิตกกังวล กลัวว่าจะอยู่โดยไม่มีผู้ตายไม่ได้
• รู้สึกโดดเดี่ยว
• รู้สึกโหยหา
• หมดอาลัยตายอยาก
• บางคนอาจมีความรู้สึกโล่งอก เช่น กรณีผู้ตายเจ็บป่วยทุกข์ทรมานมานาน เมื่อเขาจากไป คนข้างหลังอาจเกิดความรู้สึกโล่งใจที่เห็นเขาหมดทุกข์

อาการทางกาย

• แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้าอ่อนแรง หมดพลัง

อาการทางความคิด

• ไม่อยากจะเชื่อว่าเขาเสียไปแล้ว
• คิดหมกมุ่นวนเวียนถึงผู้ตาย
• มีอาการสับสน
• บางคนอาจมีหูแว่วเสียงผู้ตาย เห็นภาพหลอนเป็นภาพผู้ตาย

อาการทางพฤติกรรม

• นอนไม่หลับ
• กินไม่ได้
• เหม่อลอย ใจลอย
• แยกตัวจากสังคม
• ฝันถึงผู้ตาย
• เรียกหาผู้ตาย โดยอาจเรียกในใจหรือเรียกออกเสียง
• ไปยังสถานที่ที่ทำให้นึกถึงผู้ตาย นำสิ่งของของผู้ตายติดตัว ใส่เสื้อผ้าหรือใช้สิ่งของของผู้ตาย

ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการสูญเสีย แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วอาการเหล่านี้ยังไม่ลดลงหรือเป็นมากขึ้นจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อรับมือที่จะก้าวข้ามผ่านความสูญเสียและยอมรับความจริงจะช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสามารถช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ

607110

4 ขั้นตอนการรับมือเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

• ขั้นที่ 1 ยอมรับความจริงว่ามีการสูญเสียเกิดขึ้น

ต้องยอมรับความจริงว่า “เขาตายไปแล้วไม่สามารถมาเจอกันได้อีก” แต่ถ้ายังไม่ยอมรับการสูญเสียก็สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้ เก็บข้าวของผู้ตายไว้ ทำเหมือนการสูญเสียเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือ พยายามติดต่อกับวิญญาณผู้ตาย

• ขั้นที่ 2 รับรู้ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย

ความเจ็บปวดจากการสูญเสียเป็นเรื่องปกติ การพยายามเลี่ยงหรือเก็บกดความรู้สึกไว้จะยิ่งทำให้กระบวนการก้าวข้ามความสูญเสียเป็นไปได้ช้าลง ดังนั้น ต้องยอมรับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้น ระบายความรู้สึกออกมาด้วยการพูด การเขียน หรือร้องไห้

• ขั้นที่ 3 ปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีคนรัก

ขึ้นอยู่กับผู้ตายเคยมีภาระหน้าที่ใด ผู้ที่ยังอยู่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อให้ได้และปรับการดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่มีบุคลลอันที่เป็นทีรักแล้ว

• ขั้นที่ 4 ความรู้สึกสูญเสียเบาลงและเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่

หลายคนพอสูญเสียคู่ครองจะไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ อาจคิดว่าเป็นการไม่ซื่อสัตย์กับผู้เสียชีวิต กลัวสูญเสียคนใหม่อีก กลัวมีปัญหากับลูก หรือคิดว่าไม่สามารถรักใครได้อีกแล้ว ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า “การรักคนใหม่ไม่ได้ทำให้ความรักที่มีต่อคนเก่าลดลงเลย”

ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการตัวเองหลังสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักว่า ยังคงมีความรู้สึกเสียใจนานเกิน 3 – 6 เดือน หรือมีความเสียใจเรื้อรังจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ เช่น เก็บตัวไม่ออกไปพบใครนานนับเดือน อยากตายตามคนที่เรารักไป นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง ละเลยสุขอนามัยจนร่างกายอ่อนแอ แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการรักษาและคำแนะนำอย่างเหมาะสม

advertisement

Powered by สุขภาพและความงาม

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด