รู้จัก "โรคตาขี้เกียจ" กว่าจะรู้ว่าลูกเป็น โอกาสหายอาจเท่ากับ "ศูนย์"

25 ม.ค. 67

รู้จัก โรคสายตาขี้เกียจ หรือ ตาขี้เกียจ เลี้ยงลูกด้วยจอเสี่ยงผิดปกติด้านการมองเห็น เตือนช่วง 10 ปีแรกเด็กยังเปราะบาง สมองกำลังพัฒนา

การมองไม่ชัด เกิดจากการรับภาพของสมองผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้มองไม่ชัด แม้จะทำการแก้ไขค่าสายตาด้วยการใส่แว่นที่ดีที่สุดแล้วก็ตาม

ซึ่งมักเกิดในช่วงที่สมองเกี่ยวกับการมองเห็นยังเปราะบางและกำลังพัฒนา คือช่วง 10 ปีแรกของช่วงชีวิตเด็ก โดยเด็กกลุ่มนี้ เมื่อจักษุแพทย์ตรวจแล้วจะพบว่ามองเห็นไม่ชัด แม้โครงสร้างของลูกตาจะปกติดีก็ตาม

โรคสายตาขี้เกียจ ตาขี้เกียจ (Amblyopia) คือ

แพทย์หญิงณัฐฐิญา ลายลักษณ์ศิริ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็กและตาเข ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า

“โดยปกติแล้วในช่วงแรกเกิดถึง10 ปีแรก สมองของเด็กจะเติบโตในทุกๆ ด้านรวมถึงด้านการมองเห็น การที่เด็กคนหนึ่งจะมองเห็นได้ปกติดีในช่วงอายุนี้ คือเด็กต้องมองเห็นชัด สมองถึงจะรับภาพได้ดีและเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ หากมีอะไรก็ตามไปกีดขวางการพัฒนาการการมองเห็นของเด็กในช่วงวัยนี้ สมองก็จะไม่สามารถพัฒนาระบบการมองเห็นให้สมบูรณ์ ทำให้ตามองไม่ชัดทำให้เกิด โรคตาขี้เกียจ ตามมาได้

แต่หลายครั้งพบว่า กว่าผู้ปกครองจะพาเด็กจะมาพบจักษุแพทย์ก็อายุมากกว่า 10 ปีไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า หากตรวจพบเร็วรักษาไว โอกาสหายยิ่งมีสูง ทั้งนี้ สาเหตุเป็นไปได้หลายปัจจัย อาทิ

ตาขี้เกียจที่เกิดจากความผิดปกติของสายตา

ภาวะที่เด็กมีสายตาผิดปกติ เช่น สั้น ยาว เอียง ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้สมองรับได้แต่ภาพที่เบลอ สมองรับรู้ว่ามองเห็นชัดสุดได้แค่นี้และไม่พัฒนาต่อ โดยอาจจะผิดปกติแค่ตาข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการสายตาผิดปกติข้างเดียว อาการเหล่านี้ผู้ปกครองจะไม่รู้เลยเพราะเด็กๆ จะใช้ตาข้างที่มองเห็นชัดเป็นหลัก ทำให้เด็กไม่แสดงอาการว่ามองไม่ชัดเลย เมื่อมาพบหมอก็พบว่าค่าสายตาผิดปกติต้องได้รับการรักษา

ตาขี้เกียจที่เกิดจากตาเข

หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า โรคตาเข คือ โรคตาขี้เกียจ แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะตาขี้เกียจคืออาการมองไม่ชัดที่เกิดจากสมองพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ส่วนตาเข คือ ตาที่มองไม่ตรง ตาเขเข้าหรือเขออก ซึ่งคนที่เป็นโรคตาเขมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นตาขี้เกียจได้ เนื่องจากตาข้างที่เหล่บ่อยๆจะมีพัฒนาการการมองเห็นที่แย่กว่าตาข้างที่ตรง

ตาขี้เกียจที่เกิดจากการบดบังแสงที่เข้าสู่จอตา

สาเหตุนี้เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด แต่มีความรุนแรงและรักษายากมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เด็กมีหนังตาตกมาก จนบังแสงให้เข้าสู่ตาได้ไม่เต็มที่ หรือเด็กมีต้อกระจกขุ่นๆบังแสงไม่ได้เข้าสู่ตาได้ตามปกติ

ปัจจัยความเสี่ยงในด้านอื่นๆ

เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด, น้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์, พัฒนาการช้า, ญาติสายตรงเป็นตาขี้เกียจ(พันธุกรรม), การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

วิธีสังเกตพัฒนาการมองเห็นของลูกน้อย ซึ่งเด็กที่มีพัฒนาการมองเห็นไม่ปกติตามวัย โดยทั่วไปจะมีดังนี้

1. เด็กแรกเกิดถึง 3 เดือนแรก ควรกะพริบตาตอบสนองต่อแสงจ้าได้

2. เด็กอายุ 3 เดือน เริ่มจ้องมอง ซึ่งมองหน้าแม่ได้ และมองตามสิ่งของ หรือของเล่นได้นิดหน่อย

3. เด็กอายุ 6 เดือน การจ้องมอง และการมองตามสิ่งของในวัยนี้จะทำได้ดีมาก แต่ถ้าสายตาเลื่อนลอย ตาลอยไม่สบตา ไม่มองตามของตามการเคลื่อนไหวของวัตถุแนะนำให้มาพบหมอตาจะดีที่สุด

4. เด็กที่สื่อสารได้ อาจจะบอกผู้ปกครองว่ามองกระดานไม่ชัด เวลามองต้องเดินเข้าไปใกล้ๆ หรือต้องหยีตาให้มองชัด เด็กในวัยนี้ทุกคนแนะนำว่าควรมาตรวจคัดกรองการมองเห็นเพื่อตรวจหาอาการผิดปกติของค่าสายตาก่อนเข้าเรียนเสมอ

5. หากผู้ปกครองสังเกตว่าลูกมีตาเหล่ ตาเข หรือตามองไม่ตรง แนะนำให้รีบมาพบหมอทันที

ส่วนในการวินิจฉัยโรคนั้น จักษุแพทย์จะมีการตรวจระดับการมองเห็น โดยในเด็กที่ยังพูดสื่อสารไม่ได้ ก็จะมีเทคนิคการตรวจที่แตกต่างกันตามวัย และ ในเด็กที่สื่อสารได้แล้ว ก็จะสามารถตรวจระดับการมองเห็นได้ละเอียดมากขึ้น

จากนั้นแพทย์จะหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดตาขี้เกียจ ตรวจตาทั้งหมดอย่างละเอียดตั้งแต่ลักษณะของเปลือกตา กระจกตา เลนส์ตา และจอประสาทตา รวมถึงค่าสายตาสั้น ยาว เอียง

วิธีรักษาโรคตาขี้เกียจ

แพทย์หญิงณัฐฐิญา อธิบายว่า “กรณีตรวจหาสาเหตุของสายตาขี้เกียจได้แล้ว หากเด็กมีความจำเป็นต้องใส่แว่น เราจะต้องหาแว่นที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้กับเด็ก จากนั้นตรวจเช็คอาการตาขี้เกียจว่าอยู่ในระดับไหน เช่น น้อย ปานกลาง หรือมากนั้น วิธีการรักษาส่วนใหญ่เราจะปิดตาข้างที่ปกติ คือ ถ้าเป็นตาขี้เกียจข้างขวา เราก็จะปิดตาด้านซ้าย เพื่อให้ตาข้างขวาที่ขี้เกียจ หรือข้างที่สมองพัฒนาได้ช้าเพราะการมองเห็นได้ใช้งาน และให้ทำงานได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคตาขี้เกียจมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี ซึ่งการรักษาด้วยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญนั้น จะปิดโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดโรคตาขี้เกียจซ้ำได้อีก ส่วนใหญ่หากตรวจพบในเด็กอายุน้อยๆ โอกาสก็หายไวจะมีมากกว่า กล่าวคือ เด็กเล็กที่ยิ่งเจอเร็ว รักษาได้ดี ก็จะหายขาดได้เร็วมากขึ้น”

โรคสายตาขี้เกียจ ตาขี้เกียจ คือ

ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรประมาณครึ่งโลก หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของจำนวนประชากร มีความเสี่ยงสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากเอเชียตะวันออก ที่คาดว่าจะมีประชากรสายตาสั้นกว่าเกือบ 70% ซึ่งจากสถิติและการคาดการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่ามีความน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในเด็กที่สายตาสั้น

ในขณะที่ ผลการดำเนินงานในปีการศึกษา 2565 กองอนามัยวัยเรียนวัยรุ่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขไทย สรุปจำนวนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี 1 มีจำนวน 886,806 คน ได้รับการคัดกรองสายตาจำนวน 342,684 คน(38.64%) โดยพบความเสี่ยง 37,683 คน(11%) และได้รับแว่นตา จำนวน 18,243 คน(48.41%)

ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานของท่านเข้ารับการตรวจวัดสายตาหรือติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรงพยาบาลพระรามเก้า www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และทาง Facebook: Praram9 Hospital หรือโทร. 1270 โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST #เรื่องสุขภาพไว้ใจเรา #Praram9Hospital #โรคสายตาขี้เกียจ #โรคสายตาในเด็ก #โรงพยาบาลพระรามเก้า #HealthCareYouCanTrust

แพทย์หญิงณัฐฐิญา ลายลักษณ์ศิริ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็กและตาเข ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า

advertisement

Powered by สุขภาพและความงาม

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด