Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ฟิลิปปินส์กับการเมืองแบบตระกูล บ้านใหญ่ยังได้รับความนิยม ข่าวฉาวไร้ผล
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ฟิลิปปินส์กับการเมืองแบบตระกูล บ้านใหญ่ยังได้รับความนิยม ข่าวฉาวไร้ผล

13 พ.ค. 68
14:45 น.
แชร์

ฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีลักษณะการเมืองแบบตระกูล (dynastic democracy) เด่นชัด ตระกูลผู้มีอิทธิพลมีบทบาทสำคัญในการเมืองมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ และสามารถย้อนกลับไปในอดีต จนถึงการล่าอาณานิคมโดยสเปนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 และรูปแบบการเมืองแบบตระกูลก็ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

แต่บรรดาการเมืองแบบตระกูลขยายใหญ่โตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนเกิดคำเรียกว่า fat dynasties หรือกรณีที่ญาติพี่น้องหลายคนของนักการเมืองคนหนึ่งดำรงตำแหน่งในหน่วยงานรัฐพร้อมกัน

จากการศึกษาของ Ateneo School of Government พบว่า ระหว่างปี 1988 ถึง 2019 สัดส่วนของตระกูลการเมืองขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกหลายคนดำรงตำแหน่งพร้อมกันในการเมืองฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 29% โดยมีตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 170 ตำแหน่งต่อปีเลือกตั้ง

แม้ว่าจะมีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งไว้ในรัฐธรรมนูญปี 1987 เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจของตระกูลทางการเมือง แต่ครอบครัวการเมืองที่มีอิทธิพลจำนวนมากสามารถ “เลี่ยงข้อจำกัด” เหล่านี้ได้ ด้วยการส่งญาติพี่น้องลงสมัครรับเลือกตั้งแทนตนเอง ทำให้ได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการเมือง

วุฒิสมาชิกอลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน (Alan Peter Cayetano) จากเมืองตากิก ซึ่งมาจากครอบครัวการเมืองที่มีชื่อเสียง กล่าวว่า สาเหตุที่ fat dynasty ขยายตัวก็เพราะมีการจำกัดวาระที่สั้นเกินไป โดยเฉพาะวาระ 3 ปีในตำแหน่งท้องถิ่น เขาให้เหตุผลว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมีเวลาจำกัดในการดำเนินโครงการเพื่อชุมชน ก็จำเป็นต้องให้ญาติลงเลือกตั้งต่อ เพื่อสานงานให้สำเร็จ

แต่ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยอีกชิ้นกลับชี้ให้เห็นว่า ราชวงศ์ทางการเมืองมีผลกระทบด้านลบต่อการบริหารและการพัฒนา โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตลูซอน ซึ่งมักตกอยู่ภายใต้การครอบงำของตระกูลการเมืองดั้งเดิม และมีระดับความยากจนสูงมาก


การกำเนิดของชนชั้นนำพื้นเมือง

ก่อนการล่าอาณานิคม หมู่เกาะฟิลิปปินส์ถูกแบ่งออกเป็น “บารังไก” (barangays) หรือหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุดนับพันแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมี “ดาตู” (datu) หรือหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้นำ

ต่อมาชาวสเปนได้รวมศูนย์อำนาจเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทำลายโครงสร้างบารังไกทิ้ง แต่เพื่อแลกกับการสละอำนาจในบารังไก หัวหน้าหมู่บ้านเหล่านี้ได้รับตำแหน่งในระบบปกครองท้องถิ่น เช่น ให้เป็นผู้ว่าระดับย่อย นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับสถานะผู้ครองแคว้น ซึ่งเป็นชนชั้นขุนนางพื้นเมืองที่มีที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมาก

ตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวสเปน ฮวน อันโตนิโอ อินาเรโฆส (Juan Antonio Inarejos) เคยบันทึกเอาไว้ว่า ดาตูที่ได้รับสถานะเป็นผู้ครองแคว้นจะมีหน้าที่เก็บภาษีและบังคับใช้แรงงาน แต่หลายคนฉวยโอกาสจากตำแหน่งดังกล่าวเพื่อรีดไถและแสวงหาผลประโยชน์ พวกเขายังขายและบริจาคที่ดินสาธารณะให้กับนักบวชคาทอลิก เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเมืองและศาสนา ในขณะที่ตนเองก็ร่ำรวยขึ้น และสำหรับสถานะผู้ครองแคว้น รวมถึงตำแหน่งในรัฐบาลเหล่านี้ จะถูกสืบทอดทางสายเลือด

การล่าอาณานิคมของสเปนจึงเป็นการสร้างราชวงศ์ทางการเมืองในฟิลิปปินส์โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่แล้วในต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกายึดครองฟิลิปปินส์ สิทธิในการเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งในรัฐบาลถูกจำกัดไว้เฉพาะชาวอเมริกันและสมาชิกของกลุ่มผู้ครองแคว้นเท่านั้น  ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมฟิลิปปินส์ยิ่งขยายตัว และเปิดทางให้ระบบพรรคพวกและการสืบทอดอำนาจทางครอบครัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


ประธานาธิบดี 4 คนล่าสุดล้วนมาจากตระกูลการเมือง

นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ชาวฟิลิปปินส์ได้เลือกตั้งประธานาธิบดี 4 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทายาทของราชวงศ์ทางการเมืองทั้งนั้น และตระกูลเหล่านี้ได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองของฟิลิปปินส์ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะสองตระกูลล่าสุดที่ครองเก้าอี้ผู้นำประเทศ อย่างตระกูลมาร์กอสและตระกูลดูแตร์เต


ปี 2022 – ปัจจุบัน: ตระกูลมาร์กอส 

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2022 เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือบองบอง ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นับเป็นการกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอสอีกครั้ง

ชัยชนะของบองบอง ทำให้สมาชิกในตระกูลรู้สึกเหมือนกับได้ย้อนเวลากลับไป เพราะพวกเขาได้กลับเข้าสู่ พระราชวังมาลากันยัง ทำเนียบประธานาธิบดีอีกครั้ง ที่นี่เคยเป็นที่พักอาศัยของครอบครัวมาร์กอสเป็นเวลา 20 ปี ในสมัยที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1965 ถึง 1986

ระบอบการปกครองของมาร์กอสผู้พ่อมีชื่อเสียงในทางลบเรื่องการทุจริต การใช้ระบบพรรคพวก การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการควบคุมสื่อ ในปี 1972 เขาประกาศกฎอัยการศึก ระงับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และใช้โอกาสนี้ในการรวมอำนาจไว้ที่ตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ

แม้จะมีประวัติศาสตร์ด้านมืดเช่นนี้ ผู้สนับสนุนตระกูลมาร์กอสจำนวนมากกลับมองว่า ยุคนั้นคือช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้าของฟิลิปปินส์ ซึ่งกลายเป็นจุดขายสำคัญของบองบองในการหาเสียงและมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง พร้อมกับการฟื้นคืนอำนาจของตระกูลในระดับชาติ เกินกว่าฐานอำนาจดั้งเดิมของพวกเขาในจังหวัดอีโลโกส นอร์เต (Ilocos Norte)

ปัจจุบัน ตระกูลมาร์กอสมีสมาชิกดำรงตำแหน่งในทั้งระดับชาติและท้องถิ่น นอกจากนี้ ญาติของพวกเขาคือตระกูลโรมูอัลเดซ ก็มีบทบาทสำคัญในการเมืองท้องถิ่นเช่นกัน


2016 - 2022 : ตระกูลดูแตร์เต

แม้ว่าครอบครัวดูแตร์เตจะขึ้นชื่อเรื่องสไตล์การบริหารแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าใดนัก แต่โรดริโก ดูแตร์เต ก็ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวามานานกว่า 20 ปี ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 2016 

และล่าสุด ในการเลือกตั้งกลางเทอมที่มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 พฤษภาคม 68) อดีตประธานาธิบดีดูแตร์เต ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในเมืองดาเวา และสามารถคว้าคะแนนเสียงได้อย่างท่วมท้นที่ 405,000 เสียง ทิ้งห่างคู่ชิงอย่าง คาร์โล โนกราเลส ที่ได้คะแนนเสียงเพียง 49,000 คะแนนเท่านั้น 

กรณีนี้ยิ่งสะท้อนว่า บ้านใหญ่ตระกูลดังยังคงได้รับความนิยม เพราะขณะนี้เขากำลังถูกศาลอาญาระหว่างประเทศควบคุมตัวในเรือนจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา จากคดีปราบปรามยาเสพติดที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อหลายปีก่อน 

ชัยชนะของดูแตร์เตไม่ได้สะท้อนแค่ความนิยมในตัวนักการเมืองสูงวัยท่านนี้เท่านั้น แต่เป็นความเชื่อมั่นในบ้านใหญ่ ซึ่งทั้งตระกูลของเขามีบทบาทกับการเมืองท้องถิ่นฟิลิปปินส์อยู่เสมอ โดยเซบาสเตียน ดูแตร์เต ลูกชายคนเล็กของเขา มีส่วนร่วมในการปกครองเมืองดาเวา เขาเคยดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีของเมืองตั้งแต่ปี 2019 - 2022 และก่อนที่บิดาของเขาจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ตัวเขาเองก็นั่งตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาอยู่แล้ว นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารของพรรค PDP-Laban

ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เซบาสเตียนชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นรองนายกเทศมนตรีอีกครั้ง และหลายฝ่ายคาดว่า เขาจะรับหน้าที่ผู้นำแทนบิดา ส่วนเปาโล ดูแตร์เต ลูกชายอีกคนยังคงรักษาที่นั่งในรัฐสภาไว้ได้ ครองตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 ของเมืองดาเวา ขณะที่หลาน ๆ ของอดีตประธานาธิบดีหลายคนได้ตำแหน่งอื่น ๆ ในท้องถิ่น

แม้ว่าซารา ดูแตร์เต ลูกสาวของอดีตผู้นำฟิลิปปินส์ที่ถูกจับกุม จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หลังสองตระกูลจับมือกันหาเสียงในปี 2022 แต่ความสัมพันธ์ของสองตระกูลค่อย ๆ แตกแยกกันจนช่วงปลายปีที่แล้ว มีความพยายามถอดถอนซารา ดูแตร์เตจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าเธอใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ สะสมทรัพย์สินที่สืบที่มาที่ไปไม่ได้ แถมยังข่มขู่เอาชีวิตประธานาธิบดี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และประธานสภาผู้แทนราษฎร

asiamediacentre

แชร์
ฟิลิปปินส์กับการเมืองแบบตระกูล บ้านใหญ่ยังได้รับความนิยม ข่าวฉาวไร้ผล