การเงิน

เริ่มงานต้องเก็บเงินยังไง? เรื่องเงินต้องรู้ก่อนวัยเริ่มทำงาน

18 ก.ย. 65
เริ่มงานต้องเก็บเงินยังไง? เรื่องเงินต้องรู้ก่อนวัยเริ่มทำงาน

ชีวิตของโลกการทำงาน นอกจากเรื่องการทำงานและการอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะสมัยเรียนมักไม่มีในหลักสูตร เรื่องจัดการเงินที่ได้รับและมีอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มจากนอกรั้วสถานศึกษาเช่นกัน แต่เรื่องเงินที่ว่า จะต้องรู้อะไรและมีสิ่งใดที่ควรจัดการบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันกับ “เรื่องเงินต้องรู้ ของวัยเริ่มทำงาน”



166230

 

I: รู้จักสลิปเงินเดือน

 

สิ่งแรกที่ต้องรู้สำหรับวัยเริ่มทำงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือน คือ ยอดเงินที่เข้าบัญชีทุกสิ้นเดือน จะไม่เท่ากับเงินเดือนที่ตกลงกับ HR ไว้ นั่นเพราะก่อนที่จ่ายเงินให้เรา HR มีหน้าที่ต้องหักเงินต่างๆ ตามกฎหมายและข้อบังคับบริษัท เช่น 

   - ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับคนที่รายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 26,000 บาทขึ้นไป ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ HR จึงมีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีเบื้องต้นให้พนักงานและเฉลี่ยหักออกจากเงินที่จ่ายให้พนักงานแต่ละครั้ง โดยพนักงานเองก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเพื่อจ่ายเพิ่มหรือขอคืนภาษีแล้วแต่กรณี ในช่วง ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดไป

   - เงินสมทบประกันสังคม 5%ของเงินเดือน สูงสุดเดือนละ 750 บาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับพนักงานเอกชนทุกคน โดยบางช่วงบางเดือนภาครัฐอาจลดอัตราเงินสมทบนี้ลงตามสภาวะเศรษฐกิจ เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น

   - เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับพนักงานเอกชนที่พ้นช่วงทดลองงานและนายจ้างมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานมีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อสะสมเงิน 2%-15%ของเงินเดือน โดยมีนายจ้างช่วยสมทบเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง ส่วนข้าราชการก็ต้องมีการสะสมเงินกองทุน กบข. 3%-15%ของเงินเดือน เช่นกัน

   - เงินที่หักตามข้อบังคับอื่นๆ ของบริษัท เช่น เงินลงขันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนพนักงานที่เสียชีวิตหรือประสบภัย เป็นต้น



II: แบ่งงบค่าใช้จ่าย

 

มนุษย์เงินเป็นอาชีพที่รายได้ค่อนข้างคงที่ จึงควรควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินรายได้ โดยการกำหนดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายกลุ่มต่างๆ ที่บางค่าใช้จ่ายก็แทบรู้จำนวนล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะในแต่ละเดือนมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าเช่า/ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าไฟฟ้า/ประปา ค่ารถประจำทางไปกลับที่ทำงาน ฯลฯ การตั้งงบเพื่อกันเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและควรทำ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ขึ้นลงตามไลฟ์สไตล์ เช่น ค่าอาหาร ค่าท่องเที่ยว/สังสรรค์ ฯลฯ หากไม่ตั้งงบให้ชัดเจน ก็มีโอกาสสูงที่จะใช้จ่ายเงินส่วนนี้เกินตัวได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในสังคมที่มีเพื่อนร่วมงานกินหรูเที่ยวแพงบ่อยๆ

 

ส่วนคนที่เป็นฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่คงที่ การควบคุมค่าใช้จ่ายยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากช่วงไหนมีงานน้อยรายได้ลด แล้วเผลอใช้จ่ายเกินรายได้ ก็อาจต้องถอนเงินเก็บออกมาใช้หรือกลายเป็นหนี้บัตรเครดิต/บัตรกดเงินสดโดยไม่จำเป็น 



III: เลือกแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข.

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่มักกำหนดแผนการลงทุนความเสี่ยงต่ำหรือแผนที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ให้กับสมาชิกที่สมัครใหม่ ซึ่งแม้เป็นแผนที่มักให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแต่ก็ยังถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำอยู่ โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนของกองทุนฯ ได้ หรือที่เรียกว่า Employee's Choice

 

ธรรมชาติของแผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นหรือมีสัดส่วนการลงทุนหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศมากขึ้น มักมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงขึ้นตาม สำหรับใครที่ยังไม่เคยลงทุนมาก่อนหรือยังกังวลกับความเสี่ยงของแผนการลงทุนที่มีหุ้น อยากให้ลองมองว่าเงินที่สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงนี้เป็นเงินที่ต้องลงทุนยาวถึงเกษียณ แม้ช่วงสั้นๆ 3-5 ปี มูลค่าเงินลงทุนจะผันผวนหรือเห็นติดลบบ้างก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะกว่าจะถึงเวลานำเงินออกมาใช้ก็ต้องรออีกหลายปี ถึงตอนนั้นมูลค่ากองทุนฯ ก็น่าจะกลับมากำไร อีกทั้งกองทุนฯ แบบนี้นายจ้างยังช่วยสบทบเงินเข้ากองทุนฯ ด้วย ดังนั้นแม้เงินส่วนของตนเองจะขาดทุนแต่ก็เสมือนว่ามีเงินสมทบของนายจ้างมาชดเชยส่วนที่ขาดทุนนั้นให้แล้ว แต่ถ้ามีกำไรไม่เพียงแต่เงินสะสมส่วนของตนเองเท่านั้นที่กำไร แต่เงินสมทบส่วนของนายก็กำไรเช่นกัน



63182077-e489-48d1-8d9b-5a0dc

 

IV: อย่าเพิ่งรีบมีหนี้ ถ้ายังไม่เริ่มออม

 

เมื่อเริ่มต้นทำงานก็เริ่มมีรายได้ ขอกู้ก็ง่ายขึ้น ทำให้คนเริ่มทำงานมาได้ 1-2 ปี หลายคนเริ่มอยากมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง จึงมองหาช่องทางการขอกู้เพื่อซื้อรถยนต์หรือซื้อบ้านมาเป็นของตนเอง โดยอาจลืมไปว่าการกู้ครั้งนี้จะสร้างพันธะผูกพันเป็นการผ่อนชำระหนี้ที่อาจเป็นจำนวนที่มากถึง 40%-50%ของเงินเดือน ขึ้นกับราคาทรัพย์สินและการอนุมัติของธนาคาร และยังเป็นระยะเวลาที่นานถึง 5-6 ปีสำหรับการกู้ซื้อรถยนต์ และ 20-30 ปีสำหรับการกู้ซื้อบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินรายได้ส่วนที่เหลือ 50%-60%ของเงินเดือน หลังหักค่าผ่อนหนี้ไปแล้ว จะเพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะวัยเริ่มทำงานที่เงินเดือนยังไม่สูงนัก

 

การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดและเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับใครหลายคน แต่ก่อนมีหนี้อยากให้ลองซักซ้อมกับตนเองก่อนว่าจะสามารถผ่อนหนี้ได้อย่างราบรื่นโดยไม่กระทบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่ โดยลองเก็บเงินอย่างมีวินัยทุกเดือนให้ได้อย่างน้อย 10%-20%ของรายได้ และค่อยๆ ทยอยเก็บเพิ่มจนเป็น 40%-50%ของรายได้ ซึ่งหากเก็บเงินได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ถึงจะมั่นใจได้ว่าการผ่อนหนี้ 40%-50%ของรายได้ จะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน



มีงานก็มีเงินเป็นเรื่องปกติ แต่หากเงินที่มีหรือได้มาไม่ถูกจัดการให้ดี ในวันที่งานไม่มีซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเมื่ออายุมากขึ้นจนถึงเกณฑ์เกษียณของที่ทำงานตอนอายุ 55-60 ปี ถึงตอนนั้นจะใช้ชีวิตอย่างไร เงินที่เก็บไว้จะเพียงพอให้ใช้จ่ายได้นานแค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่วัยเริ่มทำงานต้องให้ความสำคัญ

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT