การเงิน

9 ข้อคิดดี ๆ เรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money

5 มี.ค. 65
9 ข้อคิดดี ๆ เรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money
ไฮไลท์ Highlight
"สิ่งที่สำคัญจริง ๆ เรื่องการจัดการการเงินอาจจะไม่ใช่การลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ แต่มันคือคำถามว่า เราจะบริหารจัดการเงินอย่างไรให้เรามีความสุขและนอนหลับสบาย" 

9 ข้อ The Psychology of Money

 

ถ้าพูดถึงหนังสือการเงิน ผมมักจะนึกถึงแนวคิดและหลักการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการเงิน การออม ไปจนถึงการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน จัดพอร์ตยังไง กระจายสินทรัพย์แบบไหน เลือกหุ้นอย่างไรดี ? เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินในมุมมองที่แตกต่างกันไป

 

แต่หนังสือ The Psychology of Money กลับพูดในประเด็นที่แตกต่างออกไป นั่นคือมองว่าการจัดการการเงินไม่ใช่เรื่องของศาสตร์ แต่มีความเชื่อมโยงทางด้านศิลปะการจัดการในมุมของจิตวิทยาร่วมด้วย 

 797067

 

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ (ผมได้อ่านทั้งฉบับภาษาอังกฤษ และต้นฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ลีฟริช ในชื่อ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน”) ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดอีกครั้งหนึ่งว่า

 

"สิ่งที่สำคัญจริง ๆ เรื่องการจัดการการเงินอาจจะไม่ใช่การลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ แต่มันคือคำถามว่า เราจะบริหารจัดการเงินอย่างไรให้เรามีความสุขและนอนหลับสบาย" 

 

และนี่คือ 9 ข้อคิดดี ๆ ที่ผมได้รับจากหนังสือเล่มนี้ครับ 

 

  1. ความมั่งคั่ง (Wealth) คือ สิ่งที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็น แยกให้ออกระหว่างการใช้เงินเพื่อให้คนอื่นยอมรับว่าเราเป็นคนรวย กับการมีเงินจริง ๆ ที่ทำให้เรายอมรับตัวตนของเราและมีทางเลือกในการใช้จ่ายตามที่ต้องการ ณ เงินที่คุณมีอยู่ในตอนนี้

 

  1. ใส่ใจการ “ออม” และ ลดการใช้จ่าย แน่นอนว่าการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่การเพิ่มอัตราการออมก็ทำให้เงินของเราเติบโตได้เช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการลดการใช้จ่ายในสิ่งที่เราไม่ต้องการมันจริง ๆ เพราะสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่จะได้รับผ่านการปฎิบัติตัวของคุณ

 

  1. ลงทุนแล้วเราต้องนอนหลับสบายตลอดทั้งคืน ดังนั้น การลงทุนแบบสมเหตุสมผล ดีกว่าการลงทุนแบบยึดเหตุผล เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ตัดสินใจด้วยอารมณ์ การลงทุนที่เสี่ยงสูงและได้รับผลตอบแทนสูงสุด อาจจะทำให้เราเครียดกว่าเดิม ดังนั้นเลือกทางที่สมเหตุสมผลบนพื้นฐานการเงินที่ถูกต้องและเราพอใจกับมันก็อาจจะเพียงพอแล้ว

 

  1. ใช้เวลาในการลงทุนให้นานเพียงพอ หนึ่งในความสำเร็จของการลงทุน คือ การอยู่กับมันนานเพียงพอ และถ้าหากคุณเพิ่มระยะเวลาการลงทุนได้ และอยู่รอดในโลกของการลงทุนได้ ผลตอบแทนทบต้นที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ

 

  1. เป้าหมายการเงินเปลี่ยนได้ตามชีวิต เวลาเรากำหนดเป้าหมาย เรามักจะมองว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนไป แต่จริง ๆ แล้ว มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เข้ามากระทบในระยะสั้น หรือ ระยะยาว ดังนั้นจงปรับสถานการณ์ให้เหมาะสมเมื่อมีการเปลี่ยนเป้าหมาย และยอมรับได้หากบางอย่างจะต้องเปลี่ยนไป

 

  1. คุณต้องรู้จักจุดที่ “หยุด” และ “พอ” โดยเฉพาะเรื่องของการใช้จ่าย จุดนึงที่ทำให้เราหยุดไม่ได้คือ การใช้จ่ายที่ช่วยเพิ่มระดับจากอยู่รอดเป็นความสะดวกสบายและกลายเป็นความสนุก เมื่อเรามีรายได้มากขึ้น รายจ่ายส่วนนีัมักจะเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น ต้องรู้ว่าจุดไหนเราควรจะพอใจที่จะหยุดมัน

 

  1. อย่าลืมเตรียมใจเผื่อไว้ในสถานการณ์ที่แย่ หลายคนมีแผนการลงทุนที่พลาดไม่ได้ หลายคนมองว่าอนาคตต้องเป็นไปตามการทำนายของอดีต แต่เอาเข้าจริง ไม่มีอะไรแน่นอนเลย ดังนั้น อย่าลืมวางแผนไว้หากแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผนด้วย

 

  1. ระวัง เรื่องเล่าดี ๆ ความคิดที่เห็นเข้าข้าง คำแนะนำผู้เชี่ยวชาญ และ การคาดการณ์ที่ตรงใจเรา ทั้งหมดนี้คืออคติที่อาจจะทำให้เราเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีใครมองภาพรวมทั้งหมดได้ 100% หรอก ยิ่งเราอยากให้มันเกิดมากแค่ไหน เราก็ยิ่งมีแนวโน้มจะเชื่อมากขึ้นต่างหาก ดังนั้นเผื่อใจไว้บ้างว่าทุกอย่างมันจะไม่สวยงามขนาดนั้น

 

  1. อิสรภาพการเงิน คือ การมีเวลาไปทำในสิ่งที่คุณต้องการ สิ่งที่เราต้องการ คือ ความสามารถในการควบคุมเวลาของตัวเองเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ ในเวลาที่ต้องการ กับคนที่เราต้องการ นี่คือสิ่งที่เงินช่วยได้ และมันคือผลตอบแทนที่ดีที่สุดที้เราได้รับจากเงิน

 

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Psychology of Money: Timeless Lessons on Wealth, Greed, and Happiness by Morgan Housel และฉบับภาษาไทย จิตวิทยาว่าด้วยเงิน โดยสำนักพิมพ์ลีฟริช (แปลโดย ธนิน รัศมีธรรมชาติ)

 

 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT