การเงิน

ทำไมปี 2023 เป็นปีแห่งการลงทุน “ตราสารหนี้”นักลงทุนควรเลือกลงทุนอะไร?

6 ม.ค. 66
ทำไมปี 2023 เป็นปีแห่งการลงทุน “ตราสารหนี้”นักลงทุนควรเลือกลงทุนอะไร?

ทำไมปี 2023 เป็นปีแห่งการลงทุน “ตราสารหนี้”

จากรายการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุด คณะกรรมการเฟดเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพื่อสกัดเงินเฟ้อมีความคืบหน้าไปมาก และเป็นไปในทิศทางที่ดี และส่งสัญญาณว่า ปีนี้เฟดจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้น และหาจุดสมดุลระหว่างการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ กับดูแลผลไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากจนเกินไป 

แสดงให้เห็นถึง เฟดต้องมีความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต สะท้อนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะไม่แรงและเร็ว และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

นักลงทุนควรเลือกลงทุนอะไร? 

“ ปี 2023 เป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุน การไม่ลงทุนเลยถือเป็นความเสี่ยง จากเดิมที่เราเก็บเป็นเงินสด เราต้องเริ่ม move สิ่งที่ต้องการให้ move ก่อน คือ ตราสารหนี้ และช่วงกลางปีเริ่มลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเชื่อว่า ปี 2024 เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดหุ้นอีกรอบหนึ่ง ” นายกวี ชูกิจเกษม Head of Research บล.พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ทีม Spotlight” 

สอดคล้องกับนายวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวกับ “ทีม Spotlight” ว่า “การส่งสัญญาณของเฟด ทำให้นักลงทุนคาดว่า อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จะจบแล้ว แนะนำว่า ในครึ่งแรกของปีนี้ นักลงทุนควรลงทุนใน ตราสารหนี้ เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากราคาตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ ไม่ว่าจะสนใจลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ หรือตราสารหนี้ภาครัฐ และเอกชนก็ได้ โดยแนะนำกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ได้แก่ KFSMART-ที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ และ KF-CSINCOM ที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ”

โดยแนะนำให้นักลงทุน เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น และลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง เช่น ปกติเคยลงทุนในหุ้นสัดส่วน 50% ของพอร์ตการลงทุน ก็ลดลงไปสัก 10% และนำส่วนนี้ไปเพิ่มในตราสารหนี้ เพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนในการลงทุนได้เพิ่มขึ้นในจังหวะนี้

เพราะ ตราสารหนี้ เป็นตัวเลือกของการลงทุนที่น่าสนใจในขณะนี้ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้น เนื่องจากราคาของตราสารหนี้ และผลตอบแทนของตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น นับได้ว่าโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นในพอร์ตการลงทุนในจังหวะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ถึงสุดสิ้นสุดลง

bond2

มารู้จัก “ตราสารหนี้” กัน

ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ให้สิทธิการเป็น “เจ้าหนี้” แก่นักลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน ในรูปของดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อถึงวันครบกำหนดตามอายุของตราสารหนี้ นักลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน 

ตราสารหนี้ มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ

  1. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น
  2. ตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน ที่เรียกกันว่า “หุ้นกู้” 

 หรือจะแบ่งตราสารหนี้ เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น และตราสารหนี้ระยะยาว

จุดเด่น ของ ตราสารหนี้ คือ ความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล และให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ส่วนตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชน หรือที่เรียกกันว่า “ตราสารหนี้ภาคเอกชน” นักลงทุนต้องคำนึงถึง สถานะความมั่นคงของบริษัทก่อนว่า จะสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้หรือด้วย

 

ลงทุนตราสารหนี้ อย่างไร?

การลงทุนในตราสารหนี้ แบ่งเป็น 2 ตลาด คือ

“การลงทุนทางตรงในตลาดแรก” (Primary Market) 

  • หุ้นกู้ภาคเอกชน มี 2 แบบ คือ เสนอขายนักลงทุนในวงจำกัด (Private Placement : PP) และเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง (Public Offering : PO) สามารถลงทุนผ่านสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทแต่งตั้งเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ หรือบางหุ้นกู้มีการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของสถาบันการเงินได้ ขั้นต่ำของหุ้นกู้ 100,000 บาท หรือเท่ากับ 100 หน่วย หน่วยละ 1,000 บาท
  • พันธบัตรภาครัฐ ประเภทออมทรัพย์ นักลงทุนทั่วไปสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท ได้ ที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ส่วนพันธบัตรประเภทอื่น เช่น ตั๋วเงินคลังพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกจำหน่ายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ นักลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติทางการเงินตามที่กำหนดใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การประมูลแบบแข่งขันราคา (Competitive Bidding) ซึ่งผู้ที่ได้รับการจัดสรร คือผู้ที่เสนออัตราผลตอบแทนต่ำสุดหรือให้ราคาสูงสุดเรียงลำดับลงมา และการประมูลแบบไม่แข่งขันราคา (Non-Competitive Bidding) สามารถเสนอซื้อในจำนวนเงินที่ต้องการ โดยอัตราผลตอบแทนจะเท่ากับอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยในการประมูลแบบแข่งขันราคาที่จัดจำหน่ายในคราวเดียวกัน


“การซื้อขายในตลาดรอง” (Secondary Market) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนมือตราสารหนี้ที่ซื้อจากตลาดแรก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือบริหารจัดการเงิน

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความยืดหยุ่น สะดวกในการบริหารเงิน และใช้เงินลงทุนไม่มาก คือ การเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม “กองทุนรวมตราสารหนี้” บริหารงานสามารถเลือกเงื่อนไขในการขายคืนหรือจะถือจนครบกำหนดอายุก็ได้ โดยมืออาชีพอย่าง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จะมีนโยบายที่เหมาะสมและความเสี่ยง และลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ และหากลงทุนในกองทุนเปิดจะได้รับความสะดวกในเรื่องสภาพคล่องและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

แต่กองทุนรวมตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยกรณีที่ราคาตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ของกองทุนรวม  และราคาซื้อขายของหน่วยลงทุนก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย เหมือนราคาหุ้นที่มีการปรับขึ้นและลงได้

  • Term Fund กองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลา ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ ภาครัฐและเอกชน
  • Money Market Fund ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี
  • Fixed Income Fund ลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
  • Foreign Investment Fund ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ฯลฯ

 

แนะนำกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ไทย-ต่างประเทศ

KFSMART ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือบริษัทเอกชนในประเทศ ตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือบริษัทเอกชนต่างประเทศ ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade)

กรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM) กองทุนรวมตราสารหนี้ และเป็น กองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Feeder Fund กองทุนจะนำเงินไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ PIMCO GIS Income Fund (กองทุนหลัก) เน้นการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกอย่างน้อย 2 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สิน

จากสภาวะการณ์ผันผวนในตลาดหุ้นโลก-หุ้นไทย อัตราแลกเปลี่ยน ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ ทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่จะกระจายความเสี่ยง หรือเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในขณะนี้ การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้ ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่นักลงทุนต้องศึกษารายละเอียดของตราสารหนี้ที่จะลงทุนให้ดี ทั้งอัตราผลตอบแทน และสถานะของบริษัท เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน

ที่มา : หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย 

        บล.กรุงศรี

        SETInvestnow

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT