การเงิน

รวมมาตรการช่วยน้ำท่วมของ 7 แบงก์ เช็คที่นี่ แต่ละแห่งมีอะไรบ้าง

5 ต.ค. 65
รวมมาตรการช่วยน้ำท่วมของ 7 แบงก์ เช็คที่นี่ แต่ละแห่งมีอะไรบ้าง

ปัญหาน้ำท่วมปี 2565 กำลังส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะจากผลกระทบของพายุโซนร้อน “โนรู” ที่พัดผ่าน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย สร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งประชาชน รวมถึงธุรกิจที่ได้รับความเสียหายและสูญเสียความสามารถในการทำรายได้ตามไปด้วย ดังนั้นจึงเริ่มธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ต่างเร่งออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าทั้งคนทั่วไปกับภาคธุรกิจที่กำลังเจอพิษของน้ำท่วมในรอบนี้ 
ทีมข่าว 'SPOTLIGHT' ไปดูกันว่ามีแบงก์ไหน และมีมตรการช่วยอะไรออกมาบ้าง


'ออมสิน' ให้วงเงินกู้ฉุกเฉินรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก

ออมสินออกมาตรการช่วยน้ำท่วม

 

 ด้านแบงก์รัฐอย่าง ธนาคารออมสิน ได้ประกาศออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย มีรายละเอียดดังนี้

  • ให้ลูกหนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10-100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
  • ให้กู้เงินฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ บรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.85% ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก
  • ให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน โดยดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.49% (MRR -2.755%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4.99% ต่อปี (MRR -1.250%)
  • ให้สินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.99% (MRR -2.255%) ปีที่ 2 = 4.99% (MRR -1.255%) ปีที่ 3 เป็นต้นไป = 5.745%
  • ให้สินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี)

 

ธ.ก.ส. ช่วยยืดหนี้ 12 เดือนลูกค้าเสียหายจากน้ำท่วม-ออกวงเงินช่วงฟื้นฟูฯ 1.2 หมื่นล้านบาท

ธกส.ออกมาตรการช่วยน้ำท่วม

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  มอบนโยบายสาขาในพื้นที่เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมจาก 'พายุโนรู' จัดถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อน สำรวจข้อมูลความเสียหาย พร้อมเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ย 0% 6 เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตวงเงิน 12,000 ล้านบาท

สำหรับกรอบการดำเนินงานที่จะเข้าไปดูแลกรณีได้รับความเสียหายดังนี้

  • ผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เมื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่การเกษตรแล้วพบว่า มีความเสียหายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ธ.ก.ส. จะเร่งประสานงานส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชดเชยความเสียหายโดยเร็วต่อไป
  • สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือน เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR คือ 6.50% วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR = 6.50)

ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรอย่ากังวลในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอให้โปรดระมัดระวังมิจฉาชีพที่มักจะใช้โอกาสจากความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเข้ามาหลอกลวง โดยแอบอ้างใช้สัญลักษณ์โลโก้ ธ.ก.ส. เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้เข้ามากู้เงิน หรือหลอกให้โอนค่าธรรมเนียม เพื่อแลกกับการใช้บริการสินเชื่อ หรือโอนค่าประกันภัยจาก ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายจ่ายสินเชื่อผ่านสื่อโซเซียล หรือแอปพลิเคชันต่างๆ


ธอส. ออก 7 มาตรการอุ้มลูกหนี้สินเชื่อบ้าน

มาตรการช่วยน้ำท่วม ธอส.

ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก “พายุโนรู” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2565 โดมีกรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ประกอบด้วย

  • มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR -0.50%, MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกันคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1% ต่อปี
    กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง
  • มาตรการที่ 3 ลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
  • มาตรการที่ 4 ลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
    มาตรการที่ 5 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
  • มาตรการที่ 6 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
  • มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี

สำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์ เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2565 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

 EXIM BANK ออก“มาตรการ 2 เพิ่ม 3 ช่วย” เพิ่มวงเงินกู้ซ่อมโรงงาน 2 ล้านบาท/ราย

มาตรการช่วยน้ำท่วม exim bank

 

ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในหลายจังหวัดตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินการช่วยเหลือ “2 เพิ่ม 3 ช่วย” โดยเพิ่มวงเงินกู้ซ่อมเครื่องจักรหรือโรงงานสูงสุด 2 ล้านบาท เพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ช่วยลดเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมช่วยคืนดอกเบี้ยจ่าย 2% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด รวมทั้งช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญา ให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกตลอดทั้ง Supply Chain ได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับ “มาตรการ 2 เพิ่ม 3 ช่วย” สำหรับลูกค้า EXIM BANK ประกอบด้วย

  • เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินประเภทหมุนเวียนเดิม ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดิมของลูกค้า
  • เพิ่มวงเงินกู้ สูงสุด 2 ล้านบาท เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ต่อปี ระยะเวลานาน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 3 เดือน
  • ลดการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยลง สูงสุด 50% เป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี
  • คืนเงิน 2% ของดอกเบี้ยจ่ายสะสมในระยะเวลาดังกล่าว โดยพิจารณาลูกค้าแต่ละรายตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด กรณีลูกค้าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้
  • ขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารคารอนุมัติ สูงสุด 180 วันทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ปัจจุบันเท่ากับ 5.75% ต่อปี

 

'แบงก์ไทยพาณิชย์' ออก 5 มาตรการเร่งด่วนช่วย SME 

มาตรการช่วยน้ำท่วมธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศออกมาตรการพิเศษบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จากพายุโซนร้อน “โนรู” เพื่อช่วยเหลือแก่ลูกค้า SME ของธนาคารอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงคือ สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและทรัพย์สินของกิจการได้รับความเสียหาย และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ สถานประกอบการตั้งอยู่นอกพื้นที่ แต่มีคู่ค้าอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้าไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้
โดยมี 5 มาตรการหลัก ดังนี้ 

  1. พักชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดนาน 6 เดือน
  2. พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน
  3. ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (อัตราดอกเบี้ยปกติ) สำหรับการผิดนัดชำระไม่เกิน 30 วัน
  4. เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20 %ของวงเงิน Working Capital เดิมและไม่เกิน 10 ล้านบาท
  5. วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2565

 

'ไอแบงก์' ออกมาตรการช่วยเหลือให้ลูกค้าและประชาชนผู้ประสบภัย

มาตรการช่วยน้ำท่วมไอแบงก์

 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำหลากที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ไอแบงก์จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุทกภัยครั้งนี้  ด้วยมาตากรรดังนี้

  • พักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร นานสูงสุด 6 เดือน
  • ยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินให้ลูกค้า
  • สำหรับประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยน้ำท่วม ธนาคารมีสินเชื่ออุปโภคบริโภคและเชื่อธุรกิจอัตรากำไรพิเศษด้วย

สำหรับ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อของธนาคารที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ประสบภัยตามประกาศส่วนราชการ โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทั้งลูกค้าบุคคลที่มีสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และลูกค้าธุรกิจที่มีสินเชื่อประเภทมีกำหนดระยะเวลา (Term Financing) ที่ได้รับผลกระทบทางตรง

เช่น ที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการได้รับความเสียหาย หรือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ธุรกิจหรือคู่ค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและส่งผลต่อธุรกิจหรือการดำรงชีพของลูกค้า โดยธนาคารจะพิจารณาพักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 6 เดือน ให้ชำระเฉพาะกำไรตามอัตราที่กำหนดในสัญญาปัจจุบัน สามารถขยายระยะเวลาสัญญาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge) ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่อนุมัติเข้าร่วมมาตรการ

 

SME D Bank ออกมาตรการด่วน ช่วยเอสเอ็มอี พักหนี้6 เดือน

มาตรการช่วยน้ำท่วมเอสเอ็มอีแบงก์

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่

  1. มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา ให้สิทธิ์พักชำระเงินต้น สูงสุด 6 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่ออายุโดยไม่ต้องชำระเงินต้น โดยพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของผู้ประกอบการแต่ละราย สามารถติดต่อขอรับบริการตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 30 ธ.ค.2565
  2. มาตรการเติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ ผ่านโครงการ "สินเชื่อ SMEs Re-Start" เปิดกว้างให้เอสเอ็มอีทุกประเภทธุรกิจ นำไปใช้ได้ทั้งเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี หรือ MLR-1.25% ผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 24 เดือนแรก

ทั้งนี้ เบื้องต้นธนาคารกำหนดพื้นที่ช่วยเหลือผ่านมาตรการพักชำระหนี้ฯ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ใน 49 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ตรัง สุรินทร์ ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร มุกดาหาร กำแพงเพชร สระบุรี อุบลราชธานี ชัยนาท พิจิตร อุตรดิตถ์ และพังงา ส่วนมาตรการเติมทุนฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

รวมมาตรการช่วยน้ำท่วมของ 7 แบงก์ เช็คที่นี่

รวมมาตรการช่วยน้ำท่วมของ 7 แบงก์

 

 

 

กกร. ประเมินน้ำท่วมสร้างความเสียหาย 5,000-1 หมื่นล้านบาท

มูลค่าความเสี่ยหายน้ำท่วม

 

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนตุลาคม 2565 กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2565 รวมทั้งประเทศ โดยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ภาคเอกชนยังมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ กระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชนสำหรับภาคการเกษตรคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ส่วนใหญ่มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว

ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการยังมีความมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และโรงงานจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ไม่น่าจะเหมือนกับปี 2554 แต่จะท่วมเป็นบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความสบายใจ เนื่องจากเขื่อนหลักๆ ยังมีพื้นที่ในการสำรองน้ำได้อยู่เฉลี่ยอีก 20%

ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และอยู่ในพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมมาก่อนมีการเตรียมตัวอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเครื่องสูบน้ำและกระสอบทราย เป็นต้น

พร้อมทั้งระบุว่าจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังทราบข่าวว่าปีนี้จะมีน้ำมากจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทางภาคอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญ เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
 

advertisement

SPOTLIGHT