สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 3 เปิด 40 จังหวัดเสี่ยง เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 10 - 13 พฤษภาคม 2568
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 3 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (110/2568) ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งการเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่บางส่วนเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ในช่วงวันที่ 10 - 13 พฤษภาคม 2568 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ
- จ.นนทบุรี (อ.เมืองนนทบุรี บางใหญ่ บางกรวย และปากเกร็ด)
- จ.ปทุมธานี (อ.ลำลูกกาและคลองหลวง)
- จ.สมุทรปราการ (อ.เมืองสมุทรปราการ บางพลี บางบ่อ และพระสมุทรเจดีย์)
- กรุงเทพมหานคร
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ดังนี้
2.1 ภาคเหนือ
- จ.แม่ฮ่องสอน (อ.ปาย และปางมะผ้า)
- จ.เชียงใหม่ (อ.แม่แตง เชียงดาว เวียงแหง พร้าว แม่อาย ฝาง ไชยปราการ จอมทอง สะเมิง แม่วาง และแม่ริม)
- จ.เชียงราย (อ.เมืองเชียงราย แม่ฟ้าหลวง แม่สรวย แม่สาย เชียงแสน เทิง และพาน)
- จ.พะเยา (อ.เมืองพะเยา แม่ใจ ภูกามยาว ดอกคำใต้ และเชียงม่วน)
- จ.ลำปาง (อ.สบปราบ วังเหนือ งาว และเกาะคา)
- จ.อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา และฟากท่า)
- จ.แพร่ (อ.เมืองแพร่ สอง ร้องกวาง และหนองม่วงไข่)
- จ.น่าน (อ.นาน้อย และนาหมื่น)
- จ.พิษณุโลก (อ.วังทอง ชาติตระการ และนครไทย)
- จ.สุโขทัย (อ.เมืองสุโขทัย กงไกรลาศ และคีรีมาศ)
- จ.กำแพงเพชร (อ.ขาณุวรลักษบุรี และบึงสามัคคี)
- จ.นครสวรรค์ (อ.แม่วงก์)
2.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- จ.เลย (อ.เมืองเลย เชียงคาน ภูกระดึง ผาขาว และภูเรือ)
- จ.บึงกาฬ (อ.ปากคาด)
- จ.หนองคาย (อ.เมืองหนองคาย และรัตนวาปี)
- จ.ชัยภูมิ (อ.เมืองชัยภูมิ คอนสาร บ้านเขว้า และจัตุรัส)
- จ.มหาสารคาม (อ.วาปีปทุม)
- จ.นครราชสีมา (อ.คง บ้านเหลื่อม จักราช และพิมาย)
- จ.สุรินทร์ (อ.ปราสาท กาบเชิง และสังขะ)
- จ.อุบลราชธานี (อ.เขื่องใน และสำโรง)
2.3 ภาคตะวันออก
- จ.ฉะเชิงเทรา (อ.เมืองฉะเชิงเทรา และบ้านโพธิ์)
- จ.สระแก้ว (อ.คลองหาด และอรัญประเทศ)
- จ.ชลบุรี (อ.เมืองชลบุรี และศรีราชา)
- จ.จันทบุรี (อ.เขาคิชฌกูฏ และมะขาม)
- จ.ตราด (อ.บ่อไร่ และเขาสมิง)
2.4 ภาคใต้
- จ.ชุมพร (อ.สวี และหลังสวน)
- จ.ระนอง (อ.กะเปอร์ และสุขสำราญ)
- จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย ดอนสัก และกาญจนดิษฐ์)
- จ.พังงา (อ.เมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า เกาะยาว และท้ายเหมือง)
- จ.กระบี่ (อ.คลองท่อม และเหนือคลอง)
- จ.ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต และกะทู้)
- จ.ตรัง (อ.วังวิเศษ)
- จ.นครศรีธรรมราช (อ.ขนอม สิชล และนบพิตำ)
- จ.สตูล (อ.ละงู ควนกาหลง และทุ่งหว้า)
- จ.ยะลา (อ.ยะหา และรามัน)
- จ.นราธิวาส (อ.เจาะไอร้อง สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก และแว้ง)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์