ไลฟ์สไตล์

Gen Z ไม่แฮปปี้ชีวิตการทำงาน คีย์เวิร์ดฮิต "Quiet Quitting" "Antiwork"

2 ธ.ค. 65
Gen Z ไม่แฮปปี้ชีวิตการทำงาน คีย์เวิร์ดฮิต "Quiet Quitting" "Antiwork"

“ปัญหาชีวิตจากการทำงาน” เป็นกระแสทางสังคมที่คนรุ่นใหม่น่าจะประสบปัญหามากที่สุด จนทำให้มีคำศัพท์ยอดฮิตหรือ buzzword ที่เกี่ยวกับการทำงานออกมามากมาย ตัวอย่างเช่น “quiet quitting”, “antiwork”, “act your wage” หรือที่จีนก็มี “bai lan” (ปล่อยให้เน่าไป)

ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคำที่หมายถึง 'การยอมแพ้ และเลิกกระเสือกกระสนดิ้นรนให้ตัวเองประสบความสำเร็จในที่ทำงาน แล้วทำงานตามหรือเท่าที่ได้รับมอบหมายเพื่อเอาเงินมาใช้ชีวิตไปวันๆ' และที่สำคัญคือมันมักจะเป็นการ “ยอมแพ้ไปเงียบๆ” โดยไม่ได้ลุกออกมาเรียกร้องอะไรให้ตัวเองกับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอำนาจ 

istock-1022048344

แต่ในโลกออนไลน์หนุ่มสาวเหล่านี้กลับค่อนข้างเปิดเผยกับความรู้สึกตัวเอง อย่างแพลตฟอร์ม  Reddit ได้กลายมาเป็นชุมชนที่ให้คนรุ่นใหม่แชร์ประสบการณ์แย่ๆ ในการทำงานและหาวิธีแก้ไขกัน

โดยจากรายงานของ CNBC ชุมชน หรือหมวดหมู่ย่อยที่สร้างขึ้นมาโดยผู้ใช้งาน (subreddit) ที่มีเนื้อหาหรือคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน เช่น “antiwork” “act your wage” และ “quiet quitting” ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงปีนี้



คำว่า “Antiwork” ถูกใช้มากขึ้นถึง 104% 

โดย Reddit พบว่ามีการใช้คำว่า “Antiwork” ที่หมายถึงการออกจากงาน แล้วเลิกทำงานประจำไปเลย เพิ่มขึ้นถึง 104% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกับปีที่แล้ว ในขณะที่การใช้คำว่า “Act your wage” ที่มีความหมายคล้ายกับคำว่า quiet quitting คือทำงานให้น้อยเท่าที่บริษัทให้เงินเดือน เพิ่มขึ้นมา 95% ในช่วงเวลาเดียวกัน

“การที่คำพวกนี้ฮิตขึ้นมาในแพลตฟอร์ม Reddit บ่งบอกว่าคนรุ่นใหม่กำลังพยายามหาสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต จึงเข้ามาปรึกษากันเองเวลามีปัญหาต่างๆ เพื่อหาคำตอบจากคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน” Rob Gaige หัวหน้าแผนก Global Insights ของ Reddit กล่าวไว้

 

การเลือกปรึกษากันเอง สะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบุคคล

แต่เทรนด์การปรึกษากันเองในโลกออนไลน์นี้ นอกจากจะสื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่พอใจชีวิตการทำงานในปัจจุบัน และมองว่าสมดุลในการใช้ชีวิตมีความสำคัญมากกว่าคนรุ่นเก่าแล้ว มันยังสื่ออีกด้วยว่า ระบบดูแลพนักงานในบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะถ้าพนักงานไม่มีความพึงพอใจในการทำงาน ฝ่ายบุคคลควรจะเป็นคนกลุ่มแรกที่พนักงานนึกถึง ไม่ใช่คนแปลกหน้าในแพลตฟอร์มออนไลน์

istock-1351342492

Dee C. Marshall ซีอีโอของ Diverse & Engaged บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการบุคคลของอเมริกา กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานเลือกไม่ไปปรึกษา HR เวลามีปัญหา เป็นเพราะ HR ไม่ใช่คนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และมักจะให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นประโยชน์กับพนักงานที่กำลังมีปัญหา

นอกจากนี้ ถ้ามีการไปร้องเรียนบริษัท หรือบุคคลบางกลุ่มที่มีอำนาจในบริษัท ก็อาจจะถูก ‘เอาคืน’ ได้อีก เพราะผู้ที่ทำงานอยู่ฝ่ายบุคคลของบริษัทอาจขาดความเห็นอกเห็นใจพนักงานทั่วไป และเลือกที่จะเข้าข้างคนที่มีอำนาจในบริษัทมากกว่า

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Achievers Workforce Institute พนักงานส่วนมากในอเมริกายังมีความไม่ไว้วางใจบริษัท และไม่อยากให้บริษัทมาถามความฟีดแบ็คจากการทำงาน โดยมีเพียง 14% เท่านั้นที่ตอบว่าอยากให้บริษัทมาสอบถามความพึงพอใจในการทำงานเป็นประจำ

 

ความไม่พึงพอใจในที่ทำงาน ปัญหาที่ต้องแก้ที่ตัวนายจ้าง

Natalie Baumgartner นักจิตวิทยาที่ทำงานและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพฤติกรรม กล่าวว่า ถึงแม้ปัญหาในบางเรื่องอาจจะไม่เกี่ยวกับตัวบริษัท แต่หน้าที่ในการทำให้พนักงานยอมมาคุยกับบริษัทเวลาเกิดปัญหานั้นเป็นความรับผิดชอบของตัวบริษัทเป็นหลัก เพราะสาเหตุของปัญหาเกิดมาจากการที่วัฒนธรรมขององค์กรไม่เอื้อให้ตัวพนักงานแสดงความคิดเห็นได้อย่างสะดวกใจ

โดยเธอกล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยการทำได้โดยการจัดทำแบบสอบถามที่ปล่อยให้พนักงานแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องบอกชื่อ หรือการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้พนักงงานรู้สึกว่านายจ้างพร้อมจะรับฟัง อธิบาย หรือแก้ไขปัญหาที่พนักงานประสบโดยไม่คิดว่าเป็นการโจมตี

นอกจากนี้ อีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือการบอกเนื้องานและขอบข่ายงานในความเป็นจริงอย่างละเอียดและไม่ปิดบังก่อนรับพนักงานเข้ามา เพราะถ้านายจ้างหรือฝ่ายบุคคลอธิบายเนื้องานให้ดูสบายหรือมีระบบกว่าความเป็นจริงแล้ว เมื่อพนักงานเข้ามาจริงๆ ย่อมเกิดความผิดหวัง หรือความไม่พอใจที่สภาพการทำงานไม่เป็นอย่างที่ตัวเองได้ยินมา ซึ่งจะจำไปสู่การ quiet quitting และการ act your wage ที่ทำให้พนักงานไม่ใช้ความสามารถ หรือลงแรงทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

 

ที่มา: CNBC 

 

advertisement

SPOTLIGHT