อินไซต์เศรษฐกิจ

รู้หรือไม่ 'BTS' ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่ยังมีอาณาจักร สนามบิน-มอเตอร์เวย์ เป็นเจ้าของ 'เคอรี่ฯ-เจมาร์ท-ซิงเกอร์ '

12 ต.ค. 65
รู้หรือไม่ 'BTS' ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่ยังมีอาณาจักร สนามบิน-มอเตอร์เวย์ เป็นเจ้าของ 'เคอรี่ฯ-เจมาร์ท-ซิงเกอร์ '
ไฮไลท์ Highlight
  • BTS ตั้งเป้าภายในปี 2568 จะมีจำนวนผู้โดยสารใช้งานในระบบเพิ่มเป็น 3 ล้านคนต่อวัน หลังลุยธุรกิจระบบโดยสารครบวงจร
  • เปิดโครงสร้างรายได้ธุรกิจ BTS มี MOVE-MIX-MATCH ต่อยอดใหม่จากฐานธุรกิจขนส่งมวลชน ลุยลงทุนสนามบิน-มอเตอร์เวย์
  • BTS ทุ่มเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท รุกธุรกิจการเงิน ทำทั้งธุรกิจประกันชีวิต-ปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน

หากพูดถึงบริษัท บีทีเอส หรือ หุ้น 'BTS' หรือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าปัจจุบันเป็นผู้รับสัมปทาน 'รถไฟฟ้า' ที่หลายๆ คนใช้บริการอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่หากไปเจาะถึงอาณาจักรธุรกิจของ BTS จะพบว่าไม่ได้ทำธุรกิจแค่เพียงรถไฟฟ้าเท่านั้น แม้ว่ารถไฟฟ้ากลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับ BTS แต่ก็ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ BTS ได้เข้าไปลงทุนที่มีทั้งความเกี่ยวเนื่องต่อยอดจากธุรกิจเดิมด้วย

ปัจจุบันสามารถแยกกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ BTS ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

 

กลุ่มที่ 1.ธุรกิจ MOVE

เป็นธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ปัจจุบันอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 รถไฟฟ้าบีทีเอส มีผู้โดยสารประมาณ 8 แสนคนต่อวัน ในตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าระยะทาง 70 กิโลเมตร ในเขตกรุงเทพ ในส่วนของการคมนาคมขนส่งอื่นๆ BTS ยังเป็นเจ้าของเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งรถประจําทาง เรือด่วนข้ามฟาก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และสนามบิน

โดย BTS คาดว่าจํานวนผู้โดยสารในระบบของ BTS ทั้งในส่วนของการขนส่งทางรางและการคมนาคมขนส่งอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อวัน ในปี 2568

โดยในกลุ่มธุรกิจ MOVE นอกจากรถไฟฟ้าที่ปัจจุบัน BTS ได้รับสัมปทานเป็นผู้ดูแลบริหารโครงการ ประกอบด้วย

รถไฟฟ้าบีทีเอส

 

  • โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก สถานีหมอชิต - อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร รับสัมปทานจาก กทม. ระยะเวลา 30 ปี (2542-2572)
  • โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1 ประกอบไปด้วยส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน - บางหว้า ระยะทาง 7.45 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช - แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร 5 สถานี พร้อมทั้งรับให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายเป็นเวลา 30 ปี (2555-2585) โดยสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงนี้ จะครอบคลุมถึงงานรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงระบบโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ภายหลังครบกำหนดอายุสัญญาสัมปทานในเดือนธันวาคม 2572
  • โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 ได้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ระยะเวลา 25 ปี (2560-2585) ระยะทางรวม 32.0 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง - เคหะฯ ระยะทาง 13.0 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต - คูคต ระยะทาง 19.0 กิโลเมตร)
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 ได้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 (กรุงธนบุรี - คลองสาน, ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร) เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยโครงการดังกล่าวมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมกับอาคารอเนกประสงค์ไอคอนสยาม
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ได้สัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร) กับ รฟม. ระยะทางรวม 64.9 กิโลเมตร 53 สถานี ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นโครงการสัมปทานอายุ 30 ปี

 

ธุรกิจ MOVE ของ BTS เป็นมากกว่ารถไฟฟ้ามีทั้ง 'สนามบิน-มอเตอร์เวย์'

BTS ลงทุนสนามบินอู่ตะเภา

 

ขณะที่ในกลุ่มธุรกิจ MOVE ไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ BTS ยังขยายอาณาเขตออกไปลงทุนทำธุรกิจด้านขนส่งในเชิงลึกและกว้างด้วย โดยจะเห็นว่า BTS มีระบบการขนส่งแบบครบวงจร ดังนี้

  • บริหารระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT เป็นโครงการแรกเริ่มของกรุงเทพ เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพเข้าด้วยกัน ให้บริการทั้งในเขตเมือง และพื้นที่รอบนอก โดย BTS เป็นผู้รับสัมปทานจาก กทม. โดยระบบเดินรถของ BRT จะมีความเร็วสูงกว่ารถโดยสารประจำทางทั่วไปเพราะจะวิ่งบนช่องทางพิเศษที่แยกออกจากถนนหลัก ซึ่ง BRT ให้บริการระยะทางรวม 15.0 กิโลเมตร 12 สถานี (ช่องนนทรี - ตลาดพลู) โดยมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีช่องนนทรี
  • ร่วมทุนกับพันธมิตรเอกชนกับรัฐบาลใช้เงินทุนรวมกันประมาณ 290,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบิน อายุสัญญาสัมปทาน 50 ปี โดยสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยองเพื่อรองรับเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยในเฟสที่ 1 จะเริ่มทยอยสร้างเสร็จในปี 2568 และสร้างเสร็จทั้งโครงการในปี 2569
  • ร่วมทุนกับพันธมิตรพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง คือ (i) สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม. และ (ii) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 96 กม. มูลค่าลงทุนรวม 39,000 ล้านบาท จะทยอยสร้างเสร็จเปิดใช้บริการได้ในปี 2566-2567

 

BTS กระจายเสี่ยงลดพึ่งพิงธุรกิจสัมปทาน ผุดธุรกิจใหม่กลุ่ม MIX-MATCH


bts payment

 

หากวิเคราาะห์ดีๆ จะเห็นว่าธุรกิจของ BTS ในธุรกิจ 'รถไฟฟ้าบีทีเอส' - 'ระบบเดินรถโดยสาร' - 'สนามบิน' -'มอดตอร์เวย์' ถือเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงการรับสัญญาสัมปทานจากรัฐบาลเพื่อทำธุรกิจ แม้อายุสัญญาที่ได้จะยาวนาน แต่หากสัมปทานครบอายุลงก็มีความเสี่ยงอาจไม่ได้ต่อสัมปทานก็อาจเกิดขึ้นได้ จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่เห็น BTS ทยอยลงทุนเพิ่มเติมธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในพอร์ตเพิ่มต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาเพื่อกระจายความเสี่ยงไปสู่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อลดความพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจสัมปทานไม่ให้มากจนเกินไป ดังนั้นจึงเห็นธุรกิจกลุ่มที่สองเกิดขึ้นมาโดยต่อยอดจากฐานธุรกิจ MOVE

 

กลุ่มที่ 2. คือ ธุรกิจ MIX

MIX คือ การผสมผสานระหว่างระหว่าง Offline-to-Online (O2O) ใช้โซลูชั่นส์ของบริษัทย่อย คือ บมจ.วีจีไอ(VGI) ที่ทำธุรกิจเดีย และ Data marketplace แบ่งย่อยได้เป็นอีก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

2.1 ธุรกิจสื่อโฆษณา

bts ทำสื่อโฆษณา

ธุรกิจโฆษณาประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การตลาดแบบออฟไลน์ หรือ สื่อโฆษณานอกบ้าน (OOH) และ การตลาดแบบออนไลน์และดิจิทัล โดยธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านประกอบไปด้วย

  • สื่อโฆษณาในเครือข่ายระบบขนส่งมวลชน
  • สื่อโฆษณาในอาคารสำนักงาน
  • สื่อโฆษณาประเภทบิลบอร์ดและสตรีทเฟอร์นิเจอร์ (สื่อโฆษณากลางแจ้ง)
  • การสาธิตสินค้าผ่านการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศไทย หรือ Activation Media

 

2.2 ธุรกิจบริการการชำระเงิน ประกอบด้วย 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่

BTS ทำธุรกิจ Payment

  • ธุรกิจชำระเงิน
  • ธุรกิจบริการชำระเงิน

โดยการชำระเงินบนรถไฟฟ้าบีทีเอสและร้านค้าปลีกสามารถชำระผ่านบัตรแรบบิท (Rabbit Card) และแรบบิทไลน์เพย์ Rabbit LINEPay ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการซื้อสินค้าแบบออฟไลน์/ออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการทางการเงินภายใต้ Rabbit Cash ที่ให้บริการสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ

 

2.3 ธุรกิจโลจิสติกส์

bts-logistics

โดย VGI บริษัทย่อยของ BTS ได้ลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ ผ่านการถือหุ้น 17.9% ใน บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) ส่วนธุรกิจการจัดจำหน่ายดำเนินการผ่านบริษัท แฟนสลิ้งค์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (Fanslink) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการจัดจำหน่ายในรูปแบบ Omni-channel และบริษัท เดโม เพาเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Demo Power) ให้บริการการทดลองผลิตภัณฑ์และการสาธิตสินค้า และ บมจ.เจ มาร์ท(JMART) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ทำธุรกิจค้าปลีกมือถือและตัวแทนจำหน่ายขายส่ง

ด้วยมุมทางธุรกิจที่เห็นโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมัตรธุรกิจ จึงเกิดธุรกิจอีกหนึ่งกลุ่ม

 

กลุ่มที่ 3. ธุรกิจ MATCH

bts-match2

MATCH คือ การหาโอกาสทางธุรกิจผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ตั้งแต่บริการทางการเงินภายใต้บริษัทในกลุ่ม และบริษัทย่อย และบริษัทร่วม ที่ประกอบธุรกิจต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์, การให้บริการสนามกอล์ฟ, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจจากเครือข่ายของ MOVE และ MIX

โดยพันธมิตรสามารถมใช้ประโยขน์ของข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อนำเสนอโซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าของแต่ละบริษัท โดยปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจจำนวนมากกว่า 10 บริษัทแล้ว

 

เปิดโครงสร้างรายได้ BTS ปีล่าสุด

เปิดโครงสร้างรายได้ BTS ปีล่าสุด

โครงสร้างรายได้ล่าวสุดของ BTS ในปีงวดปี 2564/2565(เดือน เม.ย.2564-มี.ค.2565) อยู่ที่ 31,195 ล้านบาท แบ่งเป็นมาจากรายได้จากธุรกิจ MOVE มีสัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ 80.8% รองลงมาคือ รายได้จากธุรกิจ MIX มีสัดส่วน 16.6% และรายได้จากธุรกิจ MATCH มีสัดส่วน 2.5%

สำหรับรายได้จากธุรกิจ MOVE เป็นการให้บริการด้านการเดินทางด้วยรูปแบบการคมนาคมขนส่งมวลชนทางราง และอื่นๆ ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ประกอบไปด้วย การให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การให้บริการรับเหมาติดตั้ง และก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งจัดหารถไฟฟ้า และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้บริการโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ รายได้จากธุรกิจ MIX เป็นการให้บริการทางการตลาดในรูปแบบที่ผสมผสานทั้งสื่อออฟไลน์ และสื่อออนไลน์ครบวงจรแบบ Offline-to-Online (O2O Solutions)

โดยเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากฐานข้อมูลในกลุ่มบริษัท ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ประกอบไปด้วย รายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กลางแจ้ง อาคารสำนักงาน การให้เช่าพื้นที่ร้านค้าบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส การให้บริการด้านดิจิทัล การขายและให้บริการเกี่ยวกับบัตรแรบบิท การให้บริการวางระบบ และเชื่อมโยงระบบ การเป็นนายหน้าประกัน และการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์ และออนไลน์

ส่วนรายได้จากธุรกิจ MATCH เป็นส่วนงานอื่นๆ ที่ช่วยสร้างโอกาสและความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งรายได้ในส่วนนี้มาจากการลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจร้านอาหารธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจบริการอื่นๆ

 

BTS ทุ่มงบ 1.85 หมื่นล้าน ซื้อหุ้น JMART ขึ้นแท่น ผถห.ใหญ่

BTS ทุ่ม 1.85 หมื่นล้าน ซื้อ JMART

 

ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 เริ่มเห็นกลุ่ม BTS รุกหนักในกลุ่มธุรกิจ MATCH โดยช่วงปลายปี 2564 BTS ประกาศทุ่มเงินก้อนใหญ่ราว 1.85 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น บมจ.เจ มาร์ท (JMART) โดยส่งบริษัทลูก VGI เข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 14.63% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นของ JMART และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ที่ส่งบริษัทลูก บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ชื่อเดิมคือ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U City ถือหุ้นใน SINGER สัดส่วน 24.05% กลายเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์ 2 ทันที

นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม ปี 2564 เข้าซื้อกิจการบริษัท Rocket Holdings HK Limited (Rocket) ซึ่งประกอบธุรกิจลงทุน 25% ในบริษัท ทีบีเอ็น ซอฟต์แวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านคำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบครบวงจร

 ขณะที่ในเดือน ธ.ค. 2563 ขยับครั้งสำคัญในกลุ่มธุรกิจ MATCH โดยประกาศทุ่มเงิน 660 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) (AU) เจ้าของแบรนด์ร้านขนมหวานชื่อดัง 'อาฟเตอร์ ยู' นั่นเอง ส่งผลให้ปัจจุบัน BTS ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 3 ของ AU ด้วยจำนวนหุ้นที่มีในมือจำนวน 7.39%

BTS ซื้อบริษัทประกันชีวิตรีแบรนด์เป็น Rabbit Life

BTS ทำธุรกิจประกัน

 

ในเดือน ต.ค. 2564 ได้เข้าลงทุนในกลุ่มธุรกิจการเงิน ด้วยการเข้าลงทุนในบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ A LIFE ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดย A LIFE
อยู่ในธุรกิจประกันชีวิตมากว่า 25 ปี มีช่องทางขายกรมธรรม์ประกันชีวิตหลายช่องทาง โดยเฉพาะทางโทรศัพท์และออนไลน์ หลังจากมาอยู่ในครือบีทีเอส

ขยับข้ามมาในปี 2565 BTS ได้ประกาศรีแบรนด์จากชื่อเดิม A LIFE เป็น “แรบบิท ไลฟ์” (Rabbit Life) เตรียมจะเดินหน้า Synergy ฐานข้อมูลลูกค้าบีทีเอสผู้ถือบัตรแรบบิท 15 ล้านใบ โดยได้ตั้งเป้าหมายเป็น 1 ใน 10 ของตลาดธุรกิจประกันชีวิตได้ภายใน 3 ปี หรือในปี 2568 ต้องมีมาร์เก็ตแชร์ของตลาดรวมมากกว่า 1% โดยต้องมีเบี้ยใหม่ 6,000-7,000 ล้านบาท และมีเบี้ยรับรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรายได้รวมประมาณ 1 ใน 3 ของตัวเลขรายได้งวดปี 2564/2565 ที่ทำได้ประมาณ 31,200 ล้านบาท

ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้ามีเบี้ยรับรวมมากกว่า 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาบริษัทมีเบี้ยรับรวม 800 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนตัวแทนช่องทางตัวแทน 350 ราย ซึ่งในสิ้นปีนี้คาดจะมีตัวแทน 500 ราย ส่วนช่องทางเทเล มีจำนวน 120 สิ้นปีนี้คาดว่าจะมี 150 ราย และ ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน มี 20 ราย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเข้าไปรุกธุกิจประกันชีวิตของ BTS นั้นน่าสนใจและเป็นโอกาสมากๆ เพราะมีสมาชิกบัตรแรบบิทที่ออกไปแล้วเกินกว่า 15 ล้านใบซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการดีไซด์ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ร่วมมือกับเครือข่ายของกลุ่ม Rabbit อีกทั้งยังมีสื่อโฆษณาทั่วประเทศที่ "บีทีเอส" เป็นเจ้าของเองพร้อมที่จะสามารถนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้แบบไม่ยาก และเมื่อดูเป้าหมายเบี้ยรับรวมมากกว่า 2,000 ล้านบาท

เมื่อประเมินแบบคร่าวๆ ในปี 2565 ที่ Rabbit Life ตั้งไว้ และเป้าหมายในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท หากทำได้ตามแผนงานนี้จริง เปรียบเทียบกับจำนวนเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทที่ BTS ที่ใช้ซื้อหุ้น Rabbit Life ก็น่าจะถือว่าคุ้มค่าการลงทุน

 

BTS ใช้เงินเกือบ 3 พันล้าน ซื้อหุ้น 'ธนูลักษณ์' บุกธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกัน

552112

 

แต่ BTS ยังไปต่อล่าสุดทุ่มเงินลงทุนรวม 2,884.08 ล้านบาท ซื้อหุ้นสัดส่วน 41.09% ของ บมจ. ธนูลักษณ์(TNL) จะถือหุ้นร่วมกับพันธมิตรคือ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง(SPI)
ด้าน 'คีรี 'กาญจนพาสน์' ประธานคณะกรรมการบริหาร BTS ให้ข้อมูลถึงการเข้าลงทุนใน TNL ว่า จากนี้ TNL จะขับเคลื่อนธุรกิจ

โดยมี 'ธรรมรัตน์ โชควัฒนา' เป็นประธานคณะกรรมการ และจะเริ่มขยายธุรกิจ ด้วยการลงทุนในธุรกิจให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน เน้นลูกค้าเงินกู้รายใหญ่มูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท ซึ่งเริ่มธุรกิจเพียง 1 ปี มียอดมูลค่าสินเชื่อ (Loan Outstanding) แล้วกว่า 2,500 ล้านบาท และคาดว่า ณ วันที่เข้าทำรายการหลังจากการอนุมัติของผู้ถือหุ้นจะมียอด Loan Outstanding ประมาณ 3,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน จะต่อยอดการลงทุนครบวงจรในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่มีหลักประกัน และจะร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ศักยภาพสูงกับ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE อีก 7 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2,400 ล้านบาท รวมมูลค่าสินทรัพย์การขยายธุรกิจร่วมกันในช่วงแรกกว่า 6,700 ล้านบาท


นักวิเคราะห์มองบวก BTS บุกธุรกิจ 'สินเชื่อมีหลักประกัน'

บีทีเอสทำสินเชื่อมีหลักประกัน

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส วิเคราะห์ว่า การลงทุนซื้อหุ้น TNL ของ BTS มีผลประโยชน์จากดีลนี้ มีหลายด้าน แม้ TNL ทำธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนัง แต่กลายเป็นว่าธุรกิจที่มุ่งหวังกลับเป็น “จำนองที่ดิน” นั่นคือ TNL จะนำเงินเพิ่มทุนไปซื้อกิจการ Oxygen Asset จาก บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ซึ่งเป็นปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TNL ซึ่งมีธุรกิจนี้ในสัดส่วน 90% จาก SPI

นอกจากนี้บริษัทย่อยคือ U ก็จะขายหุ้นที่ถือ 50% ในโครงการร่วมทุน (JV) กับ NOBLE จำนวน 7 โครงการให้กับ TNL ทำให้ U ได้รับเงิน 532 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะไปซื้อกิจการไฟแนนซ์ ตามที่บริษัทมุ่งหวังจะเป็น และมีส่วนไปชำระหนี้ได้อีก 1.7 พันล้านบาท

ข้อดีธุรกิจจำนองที่ดินของ Oxygen Asset ตั้งมาราว 1 ปี ณ สิ้นปี 2564 มีกำไรเพียง 3 ล้านบาท แต่พอถึงช่วง เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านบาท ปัจจุบันมีพอร์ตอยู่ 2.5 พันล้านบาท แต่ธุรกิจมีความเสี่ยงต่ำตรงการกำหนด LTV ให้ผู้กู้ต่ำมาก เช่น 43%-57% คือ มูลค่าที่ดิน 700 ล้านบาท แต่ให้เงินกู้เพียง 300-400 ล้านบาท ผู้กู้ก็ไม่อยากสูญเสียที่ดินไป ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ราว 3% เมื่อมีการนำเงินบางส่วนไปคืนเงินกู้ กำไรก็จะยิ่งดีขึ้น

ทั้งนี้วางแผนจะเพิ่มพอร์ตเป็น 2 พันล้านบาทภายใน 2 ปี และเป็น 10 พันล้านบาทใน 5 ปี ซึ่งกำไรก็จะเพิ่มไปถึง 300-400 ล้านบาทได้ในอนาคต ดังนั้นการที่ BTS ถือหุ้นทางอ้อมในบริษัทแห่งนี้ผ่านทาง TNL ก็จะมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 45% (ถือใน TNL 50% และ TNL ถือใน Oxygen Asset 90%) ก็จะมีกำไรราว 158 ล้านบาท ก็ถือว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเทียบกับกำไรของ BTS ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ BTS มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างๆที่มีศักยภาพได้ แม้ธุรกิจจำนองที่ดินดูเหมือนไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักของ BTS แต่อยู่ในกลุ่มของ MATCH และช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยบริษัทจะมองในเชิงสินทรัพย์ เพราะ TNL มีสินทรัพย์แฝงคือ ที่ตั้งโรงงานคือ เขตช่องนนทรี ถนนพระราม 3 จา นวน 20 ไร่ หรือ 8 พันตรว. มีมูลค่าตลาดที่ 960 ล้านบาท-1.4 พันล้านบาท ซึ่งในอนาคตก็คาดว่าจะพัฒนาเป็นโครงการบ้านแนวราบ

 

ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาของ BTS 

  • ปี 2561/2562 มีรายได้ 48,618 ล้านบาท กำไร 8,162 ล้านบาท
  • ปี 2562/2563 มีรายได้ 38,680.65 ล้านบาท กำไร 4,576.27 ล้านบาท
  • ปี 2563/2564 มีรายได้ 31,194.50 ล้านบาท กำไร 3,825.58 ล้านบาท
  • ปี 2564/2565 มีรายได้ 5,281.90 ล้านบาท กำไร 535.98 ล้านบาท

 

BTS ศักยภาพลงทุนสูง มีเงินสดล้นมือกว่า 1 หมื่นล้านบาท 

358638

ขณะที่สถานะการเงินของ BTS ถือว่าแข็งแกร่งปัจจุบันมีเงินสดภายในบริษัทมากกว่า 10,000 ล้านบาท กับมูลค่าอาณาจักธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าถึง 2.54 แสนล้านบาท โดยตัวเลขทั้งรายได้และกำไรของ BTS แม้ธุรกิจหลักอย่างรถไฟฟฟ้าอาจมีผลกระทบจากโควิด-19 ที่ระบาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้คนเดินทางลดลงจากการ Work From Home แต่ BTS ก็ผ่านวิกฤตมาได้สามารถยังทำกำไรได้

แต่เมื่อจับการเคลื่อนไหวของ BTS ให้ดีก็จะเห็นในกลุ่ม MOVE ไม่ได้ทิ้งเพราะต้องถือว่าเป็นฐานใหญ่สำคัญของธุรกิจของกลุ่ม BTS มาโดยตลอด แต่ก็หาต่อยอดไปสู่ธุรกิจการเดินขนส่งใหม่ๆ ที่มากกว่ารถไฟฟ้าไปสู่ระบบรางอื่นๆ, มอเตอร์เวย์, ทางน้ำ, ทางอากาศ ที่กำลังจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ก้อนมหาศาลเติมเข้ามาในเวลาอีกไม่นานจากนี้

ในขณะเดียวกันก็ใช้เงินรุกลงทุนอย่างหนักในกลุ่มธุรกิจ MIX กับ MATCH ที่ใช้จุดแข็งและความได้เปรียบจากธุรกิจ MOVE มาใช้สร้างใช้ต่อยอดในการธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งมีปัจจุบันจะมีสัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจ MIX กับ MATCH ไม่มาก เพราะหลายๆ ธุรกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการลงทุน แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคต

เนื่องจากยังอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนทั้งระบบ Payment การจ่ายเงินชำระสินค้า, ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ, ประกันชีวิต ธุรกิจค้าปลีก, สื่อโฆษณา, ธุรกิจการขนส่งสินค้า และมีอีกหลายๆ ธุรกิจที่กำลังตาม ด้วยข้อมูลเหล่านี้น่าจะพอสรุปได้ว่าธุรกิจ 'BTS' ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่มีมากกว่านั้นตามข้อมูลที่เห็นไปแล้ว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT