อินไซต์เศรษฐกิจ

'เจ้าสัวไฟฟ้า' เปิดอาณาจักร GULF ของ'สารัชถ์ รัตนาวะดี' มีธุรกิจใดบ้าง

23 ส.ค. 65
'เจ้าสัวไฟฟ้า' เปิดอาณาจักร GULF ของ'สารัชถ์ รัตนาวะดี' มีธุรกิจใดบ้าง

ชื่อของ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ถูกจับตาเป็นกระแสร้อนแรงเมื่อเว็บไซต์ Forbes.com ในการรายงาน ‘The Real-Time Billionaires List’ จัดอันดับมหาเศรษฐีของประเทศไทยที่รวยที่สุดในประเทศไทย ปรากฏชื่อของ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ได้ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยมีทรัพย์สินสุดมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาท แซง 2 เจ้าสัว มหาเศรษฐีแชมป์อย่าง เจ้าสัว ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ และ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ทำให้ชื่อของ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' กำลังเป็นที่สนใจว่าเขาคนนี้ทำธุรกิจอะไร แล้วอะไรทำให้เขาขึ้นทำเนียบเป็นมหาเศรษฐีของไทยได้อย่างรวดเร็ว


ปัจจุบัน 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' นั่งเก้าอี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รองประธานกรรมการของ และยังมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 73.42% ใน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 4 แสนล้านบาทส่วนหุ้นของ GULF ในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่ารวมเกือบ 6 แสนล้านบาท 

 711673

 

โดย GULF จัดโครงสร้างแบบ Holding Company ใช้ลุยลงทุนGULF มีการจัดโครงสร้างธุรกิจภายในโดยรูปการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company)ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ การลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งการจัดโครงสร้างในลักษณะ Holding Company จะช่วยบริษัทมีความยืดหยุ่น รวมถึงมีความหลากหลายในแง่ของการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ได้คล่องตัวขึ้น ยกตัวอย่างบริษัทใหญ่รายล่าสุดอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ที่ปรับโมเดลใหม่เป็น  Holding Company อีกราย โดยตั้งยานแม่  'เอสซีบี เอกซ์'  เพื่อให้การลงทุนในธุรกิจใหม่คล่องตัวยิ่งขึ้น  

 

ทีมข่าว 'SPOTLIGHT' จะพาไปทำความรู้จักพร้อมเปิดอาณาจักร GULF ของเจ้าสัว 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' มีธุรกิจอะไรบ้าง โครงสร้างธุรกิจหลักของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน (Energy Business) ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัทฯ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจก๊าซ, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค (Infrastructure & Utilities Business), และธุรกิจดิจิทัล (Digital Business)

 

 

กลุ่มธุรกิจพลังงาน 

อาณาจักธุรกิจพลลังาน GULF

 

อาณาจักรธุรกิจพลังงานของ GULF ถูกก่อกำเนิดในปี 2537 ในชื่อ กัลฟ์ (GULF) เริ่มจากธุรกิจแรก โดยใช้ชื่อ “กัลฟ์ อิเล็กทริก” (Gulf Electric) ได้รับงานสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทางภาคใต้ ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยมีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและพลังงาน รัฐบาลจึงมีนโยบายออกมาสนับสนุนให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า GULF เล็งเห็นโอกาสนี้จึงเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่ขยับเข้ามาลงทุน กระทั่งสามารถขยายสร้างอาณาจักรของธุรกิจจนใหญ่โตจนกระทั่ง

ในปี 2560 เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ขึ้นแท่นเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีขนาดกำลังผลิตมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย โดย ณ สั้นปี 2564  GULF มีกำลังผลิตติดตั้ง 7,875 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาก่อสร้างอีกจำนวนมาก และ GULF วางเป้าหมายในปี 2570 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 14,498 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนอีกราว 1.20 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีนับจากนี้

สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของกัลฟ์ผลิตจะขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดเล็ก มีการผลิตและจำหน่ายไฟให้กับกฟผ. ในปริมาณ 70- 80% ที่ผลิต โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 25 ปี ซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อโครงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

โดยไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับ กฟผ. จะกระจายผ่านเครือข่ายสายส่งทั่วประเทศของ กฟผ. จากนั้นจึงขายต่อไปยังกฟภ. และกฟน. ซึ่งเป็นผู้จ่ายไฟต่อไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศต่อไปนอกจากนี้ยังโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติยังจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็นให้กับผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

ปัจจุบัน GULF มีโครงการโรงไฟฟ้ามากกว่า 30 โครงการ ที่ผลิตไฟฟ้าแล้วกับอยู่ระหว่างการพัฒนา ขนาดกำลังผลิตรวมมากกว่า 14,000 เมกะวัตต์(MW) เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซและพลังงานหมุนเวียนที่มีการลงทุนอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่

  • ไทย
  • โอมาน
  • เยอรมนี
  • เวียดนาม

 

กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

GULF ลงทุนมาบตาพุด

 

มีจุดเริ่มต้นในปี 2562 โดย GULF ได้เริ่มลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ มีโครงการดังนี้

  • พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG
  • การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (อาคาร F) ในส่วนการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษาท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6)
  • โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ในส่วนงานออกแบบและก่อสร้างงานระบบ รวมถึงบริการเดินเครื่อง บำรุงรักษา
  • โครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แบบผสมผสานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

 

 

กลุ่มธุรกิจดิจิทัล

GULFลงทุนดิจิทัล

 


ธุรกิจกลุ่มดิจิทัลเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดของ GULF ที่ประกาศทุ่มเงินจำนวนมหาศาลระดับ 1 แสนล้านบาท เพื่อขยับเข้างทุนในปี 2564 ด้วยการประกาศเข้าซื้อหุ้น บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ทำให้ปัจจุบัน GULF ขึ้นแท่นเป็นเจ้าของ INTUCH โดยถือหุ้นใหญ่สัดส่วนแตะ 46% โดยการซื้อในครั้งนี้เรียกว่าคุ้มค่าอย่างมากสามารถเพราะซื้อครั้งเดียว แต่ GULF ได้เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ทีเดียวถึง 3 บริษัทบิ๊ก เพราะ INTUCH นั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือค่ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อย่าง AIS กับ บมจ.ไทยคม(THCOM) หรือดาวเทียมไทยคม โดยเมื่อนับรวมสินทรัพย์ของเฉพาะ 3 บริษัทนี้รวมกันก็มีมูลค่าของสินทรัพย์ทะลุ 4 แสนล้านบาทไปแล้ว 

 

GULF ร่วมทุน Singtel ทำ Data 

ในปี 2564 หลังเป็นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH แล้วยังคงมีพัฒนาการในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลอีกต่อเนื่อง เพราะได้ประกาศร่วมทุนกับ  Singapore Telecommunications Limited (Singtel) บริษัทยักษใหญ่ด้านเทเลคอมจากประเทศสิงคโปร์เพื่อร่วมกันทำธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทยเพราะเห็นถึงโอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย จากการที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากองค์กรในประเทศ และไฮเปอร์สเกลเลอร์(Hyperscalers) ที่เข้ามาสู่ตลาดในไทย 

 

binancelogo2

 

ปลายปี 2564 GULF ได้จัดตั้งบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด และช่วงเดือน เม.ย. กัลฟ์ อินโนวา ได้ร่วมลงทุนแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทระดับโลกอย่าง ไบแนนซ์ (Binanace) ด้วยการจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) เพื่อร่วมลงทุนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยล่าสุดเดือน พ.ค. 2565 ได้จัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) จะดำเนินการขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และใบอนุญาตอื่น ๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ GULF ยังเข้าลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล BNB ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักของระบบนิเวศทางธุรกิจของ Binance ถือเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมใน Ecosystem ของ Binance ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Blockchain Infrastructure

 

GULF ร่วมทุน Binance

 

ขณะที่ยังเห็นพัฒนาการของ 'เอไอเอส' ภายใต้ร่มเงาของ GULF อย่างต่อเนื่อง โดย  'เอไอเอส'  ไปร่วมทุนกับ 'ธนาคารไทยพาณิชย์' ตั้งบริษัท 'เอไอเอสซีบี' (AISCB) ทำธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ หรือให้บริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ฐานลูกค้าของเอไอเอสมากกว่า 44 ล้านราย ที่กำลังจะกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ของ GULF ได้อย่างไม่ยากในอนาคต

 

ขณะที่ดีลล่าสุดที่สร้างความฮือฮาในวงการธุรกิจนั่นคือ ดีลที่  'เอไอเอส'  ประกาศทุ่มเงิน 3.20 หมื่นล้านบาท แบ่งใช้ดังนี้ 1. ซื้อกิจการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบรนด์ '3BB บรอดแบรนด์' เป็นเบอร์ 2 ในตลาดของประเทศไทย มูลค่า 19,500 ล้านบาท 2.เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) สัดส่วน 19% หรือจำนวน 1,520 ล้านหน่วย เป็นซื้อจากจากเจ้าของเดิมคือ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)(JAS)

 

หากสังเกตุไทม์ไลน์ดีๆ จะเห็นว่าหลายดีลๆ ใหม่ที่ 'เอไอเอส'  ประกาศลงทุนไปแล้วเรียกได้ว่ามีการลงทุนแบบเชิงรุก(Aggressive) เพราะหลายดีลเกิดมาหลัง GULF เข้าไปเป็นเจ้าของใหม่เข้ามาลงทุนถือหุ้นใน INTUCH กับ 'เอไอเอส' ซึ่ง 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' นั่งเป็นรองประธานกรรมการบริหาร ด้วย แค่เพียงไม่เดือนที่ GULF เข้ามาเป็นเจ้าของใหม่ของเอไอเอส โดยเฉพาะดีลซื้อบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบรนด์ '3BB บรอดแบรนด์'  ที่ว่ากันว่า  GULF ส่งทีมงานมาปิดดีลนี้เอง โดยไม่ใช้ทีม 'เอไอเอส' ในการทำงาน

 

สรุปอาณาจักรธุรกิจ GULF ในมือ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี'

สรุปอาณาจักรธุรกิจ GULF ในมือ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี'

 

เปิดงบการเงิน GULF 

  • ปี 2561 มีรายได้ 17,479.01 ล้านบาท กำไร 3,028.13 ล้านบาท
  • ปี 2562  มีรายได้ 30,343.36 ล้านบาท กำไร 4,886.56 ล้านบาท
  • ปี 2563  มีรายได้ 33,370.44  ล้านบาท กำไร 2,328.31 ล้านบาท
  • ปี 2564  มีรายได้ 49,983.74 ล้านบาท กำไร 7,670.30 ล้านบาท
  • 6 เดือนแรก ปี 2565  มีรายได้ 43,764.34  ล้านบาท 1,794.07 ล้านบาท 
    ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 GULF มีสินทรัพย์รวมมูลค่า 3.88 แสนล้านบาท

 

ดังนั้นจะเห็นว่าทุกธุรกิจในกลุ่ม GULF ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ที่คุมทัพอยู่จะพบว่ามักมองเห็นวิเคราะห์โอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคตอยู่เสมอ และกล้าติดสินใจแบบรวดเร็ว หากมีโอกาสมาถึง เพราะ GULF ถือเป็นเอกชนเจ้าแรกๆ ที่ตัดสินลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าตั้งแต่เกือบ 30 ปีที่แล้วจนมีอาณาจักรธุรกิจไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่บนแถวหน้าของไทย

รวมถึงกล้าที่ก้าวไปลงทุนในบิ๊กดีลใหม่ๆ ทั้งกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานกับกลุ่มธุรกิจดิจิทัล จนส่งให้มูลค่าทรัพย์สินที่ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' เป็นเจ้าของและบริหารธุรกิจด้วยตัวเองมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทยได้

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT