อินไซต์เศรษฐกิจ

สรุป 5 ประเด็นร้อน "ไต้หวัน" เพโลซีมาทำอะไร ทำไมจีนต้องโต้กลับ?

3 ส.ค. 65
สรุป 5 ประเด็นร้อน "ไต้หวัน" เพโลซีมาทำอะไร ทำไมจีนต้องโต้กลับ?

การเยือนไต้หวันครั้งประวัติศาสตร์ของนาง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมา (2 ส.ค. 65) กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองโลกที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เพราะนี่อาจจะถือเป็นการ "ยั่วยุ" ที่สร้างความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียมากที่สุด และ "ส่งผลกระทบ" มาถึงพวกเราทุกคนด้วย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ทีมข่าว SPOTLIGHT สรุป 5 ประเด็นน่าสนใจเรื่อง "ไต้หวัน" มาให้ดังนี้



1. ปูพื้นฐาน 101 "ไต้หวัน" กับ "จีน" เป็นอะไรกัน?

istock-1321133823

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน เป็นเรื่องที่คลุมเครือและไม่มีนิยามสั้นๆ ให้จบได้ใน 1 คำ เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายนายพลเจียงไคเช็ก (พรรคก๊กมินตั๋ง) พ่ายแพ้ให้ฝ่ายเหมาเจ๋อตง (พรรคคอมมิวนิสต์) จึงหนีไปยังเกาะไต้หวัน (ซึ่งถือเป็นเขตแดนของจีน) และไปก่อตั้ง "สาธารณรัฐจีน" ในไต้หวัน (Republic of China: ROC) ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง ก่อตั้ง "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ในจีน (People's Republic of China: PRC)

ฝ่ายจีนยึดมั่นใน "นโยบายจีนเดียว" (One China Policy) และมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน (เป็นเหมือนมณฑลหนึ่ง) ดังนั้น โลกจะเลือกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งสองฝ่ายไม่ได้ ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายประเทศ เช่น "ไทย" มีสถานทูตจีน แต่ไม่มีสถานทูตไต้หวัน เพราะเราเลือกสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีน หรืออย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) จะไม่มีชื่อของไต้หวันเป็นสมาชิก เพราะไต้หวันไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศ (ภายใต้หลักการจีนเดียว)

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ไม่ได้ถึงขั้นคอขาดบาดตาย เพราะเขาถือกันในเชิง "ทางการ" ดังนั้น หลายประเทศที่เลือกข้างจีนก็ยังคงทำมาค้าขายมีความสัมพันธ์กับไต้หวันได้ เพียงแต่ทำในเชิงไม่เป็นทางการ เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนสถานทูตไต้หวันในไทย ก็จะมีชื่อเรียกว่า "สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป" นอกจากนี้ ก็จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกันในเชิงการเมือง เช่น การเดินทางเยือนกันในระดับรัฐบาล

ส่วน "ไต้หวัน" เองนั้นมองว่าตัวเองเป็น "รัฐเอกราช" เพราะตัวเองมีทั้งรัฐบาล ค่าเงิน และการทหาร เป็นของตัวเอง คือในแง่ของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และฝ่ายตุลาการ (ศาลและระบบยุติธรรม) นั้นมีครบหมด แต่สิ่งที่มันซับซ้อนก็คือ รัฐบาลไต้หวันเองก็ยอมรับใน "หลักการจีนเดียว" ด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไต้หวันและจีนยังทำมาค้าขายมีการลงทุนระหว่างกันได้

อาจกล่าวสรุปได้สั้นๆ ว่า จีนกับไต้หวันมีความสัมพันธ์กับแบบ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" แต่ก็จะไม่มีการห้ำหั่นทำสงครามหรือเกิดการปะทะกัน หากไม่มีสถานการณ์ที่ถือเป็นการ "ยั่วยุ" ต่อนโยบายจีนเดียว



2. ทำไม "เพโลซี" ถึงมาไต้หวัน เธอคือใคร มาทำอะไร และต้องการอะไร?

แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) สำคัญตรงที่เธอเป็นถึง "ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ" ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญมากในสหรัฐอเมริกา เพราะอยู่ในลำดับ 2 ของการสืบทอดตำแหน่ง "ประธานาธิบดีสหรัฐ" หากผู้นำประเทศเสียชีวิตหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันจนทำหน้าที่ไม่ได้ "รองประธานาธิบดี" จะเป็นผู้สืบทอดในลำดับที่หนึ่ง ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะตามมาในลำดับที่สอง หรืออาจเรียกได้ว่าเธอคือ เบอร์ 3 ทางการเมืองของสหรัฐก็ว่าได้

ถ้าจะถามว่ามาทำไม เพื่ออะไรนั้น สำนักข่าว AP และ BBC มองว่าเป็นการมาเพื่อตอกย้ำจุดยืนทางการเมืองของตัวเธอเอง แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะเคยทัดทานมาแล้วก็ตาม

เพโลซี คือนักการเมืองหญิงที่มีพลังและกระฉับกระเฉงมากที่สุดคนหนึ่งแม้จะอยู่ในวัย 82 ปีแล้วก็ตาม และยังเป็นคนที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนที่สุดคนหนึ่งว่า "เธอยืนอยู่ข้างไต้หวันมาตลอด" สื่อนอกมองว่าเพโลซีต้องการแสดงถึงการสนับสนุนความเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย เหมือนเช่นที่เคยทำเมื่อปี 1991 หรือเมื่อ 31 ปีก่อน หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งทางการจีนปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเลวร้าย

ครั้งนั้นนางเพโลซีเพิ่งจะเป็น ส.ส.ใหม่ ร่วมทริปไปจีนกับคณะ ส.ส. สหรัฐกลุ่มเล็ก และไปถือป้ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมิน จุดเดียวกับที่เกิดเหตุนองเลือด 2 ปีก่อนหน้านั้น แม้รัฐบาลจีนพยายามปิดกั้นอย่างที่สุดแล้ว

pelosi-tian


ในการเยือนไต้หวันครั้งนี้ เพโลซีได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่อย่าง วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งได้ตีพิมพ์บทความระบุว่า “เราต้องยืนเคียงข้างไต้หวัน” โดยเพโลซีอ้างอิงถึงกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันปี 1979 และย้ำว่า “เราต้องแสดงชัดว่าอเมริกาและพันธมิตร จะไม่ยอมให้กับพวกปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”


3. ทำไม "จีน" ถึงไม่พอใจ?

ในมุมมองของจีนนั้น นี่ถือเป็นการละเมิด "หลักการจีนเดียว" ที่จะต้องไม่มีการเดินทางเยือนกันในระดับรัฐกับรัฐ แต่ถึงแม้ว่าเพโลซีจะอ้างว่าเป็นการเดินทางเยือนเป็นการส่วนตัว ก็อาจถูกมองว่าไม่สมควร เพราะเพโลซีมีตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองในสหรัฐ (ยังไม่นับรวมท่าทีส่วนตัวที่ไม่เป็นมิตรกับจีน) และยังถือเป็น "การส่งสัญญาณเชิงนัยยะที่ยั่วยุจีน"

เพราะจีนไม่ได้มองเป็นเหตุการณ์เป็นครั้งๆ แล้วจบไป แต่มองเป็นภาพรวมของ "ยุทธศาสตร์โอบล้อมจีน" ที่เต็มไปด้วยการสกัดไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจท้ายสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า การใช้ยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิก" ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน สหรัฐก็เพิ่งสั่งเคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน มายังทะเลฟิลิปปินส์ พร้อมสั่งเเรือลาดตระเวณ ยูเอสเอส แอนทีทัม และเรือพิฆาต ยูเอสเอส ฮิกกินส์ เดินทางจากสิงคโปร์ขึ้นไปทางเหนือไปยังท่าจอดเรือในญี่ปุ่นด้วย

ในเพจเฟซบุ๊กของ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีการระบุไว้ข้อความว่า "การเดินทางเยือนไต้หวันของประเทศจีน โดยไม่สนใจการคัดต้านอย่างรุนแรงและการแสดงท่าทีอย่างจริงจังของฝ่ายจีน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหลักการประเทศจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับอย่างร้ายแรง"

แต่ในมุมมองของสหรัฐนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด "จีนมีหลักการของจีน สหรัฐก็มีหลักการของสหรัฐเหมือนกัน" โดยเพโลซีอ้างถึง "กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน" (Taiwan Relations Act) ปี 1979 ที่สหรัฐยึดเป็นหลักการในการใช้ดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวัน โดยเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภาคองเกรสเมื่อปี 1979 เมื่อครั้งที่สหรัฐเลือกยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันไปจับมือกับจีนแทน แต่จะทิ้งเลยก็ไม่ได้เพราะคบหากันมายาวนานและยังขัดต่อหลักการที่จะทิ้งรัฐประชาธิปไตยไปคบหากับคอมมิวนิสต์ จึงต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อเป็นการยืนยันว่า สหรัฐจะไม่ทิ้งไต้หวัน และจริงๆ แล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังถูกเขียนออกมาให้ตีความได้กว้างมาก โดยเปิดช่องให้สหรัฐสามารถปกป้องไต้หวันได้หากมีภัยคุกคาม และสามารถขายอาวุธให้ไต้หวันได้ด้วย

เพโลซี ยืนยันว่า การมาครั้งนี้เป็นหนึ่งในทริปการเยือนไต้หวันของเจ้าหน้าที่สภาคองเกรส และไม่ได้ขัดต่อ "กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน" แต่อย่างใด โดยเธอได้โพสต์ทวิตเตอร์หลังถึงกรุงไทเปว่า

“การเยือนไต้หวันของคณะสมาชิกรัฐสภาเป็นการตอกย้ำถึงคำยึดมั่นที่ไม่เปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนประชาธิปไตยของไต้หวัน” นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า “การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอเมริกาและประชาชนไต้หวัน 23 ล้านคนเป็นสิ่งสำคัญในเวลานี้ยิ่งกว่าที่เคยผ่านมา ในขณะที่โลกเผชิญทางเลือกระหว่างอัตตาธิปไตยและประชาธิปไตย”


4. "จีน" จะตอบโต้ยังไงบ้าง?

เรื่องนี้ถือเป็น "หัวใจสำคัญ" ที่ทุกฝ่ายสนใจที่สุด โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขึ้นมาจริงๆ เพราะหากจุดทดสอบความอดทนทางการเมืองของรัสเซียคือเรื่อง "นาโต้" จุดทดสอบทางการเมืองของจีนก็คือเรื่อง "ไต้หวัน"

ตอนนี้จีนยังใช้การตอบโต้ "เบาๆ" ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันเอาไว้แล้ว นั่นคือ "ใช้การซ้อมรบเข้าขู่และโชว์แสนยานุภาพทางทหาร" และ "ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจลงโทษ" ด้วยการระงับการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันกว่า 2,000 รายการ (จากทั้งหมด 3,200 รายการ) เช่น ผัก ผลไม้ อาหารทะเล สินค้าเกษตร และอื่นๆ ขณะที่จีนยังระงับการส่งออกสินค้าบางรายการ เช่น ทรายบริสุทธิ์ ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ไปยังไต้หวันด้วย โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. เป็นต้นไป

แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ หากจีนเล่นใหญ่ขยายการซ้อมรบ หรือขยายมาตรการลงโทษทางการค้า จนกระทบต่อกลุ่มสินค้าที่จำเป็นมากกว่านี้ หรือมีการดำเนินการที่กระทบต่อ "ซัพพลายเชน" จนส่งผลต่อสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไต้หวันอย่าง "ชิปเซมิคอนดักเตอร์" ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ผลิตป้อนบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น "แอปเปิล อิงค์" เพื่อใช้ในอุปกรณ์ไอทีตั้งแต่ สมาร์ทโฟน แลปท็อป แท็บเล็ต จนถึงอุปกรณ์ IOT ต่างๆ

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติของไต้หวันระบุว่า จีนนำเข้าสินค้าจากไต้หวันสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา (2564)

000_qd66x

ส่วนการแสดงแสนยานุภาพทางทหารนั้น จีนประกาศซ้อมปฏิบัติการทางทหาร ทั้งในน่านน้ำและน่านฟ้าที่ล้อมรอบไต้หวัน ระหว่างวันที่ 4-7 ส.ค. นี้ พร้อมเตือนไม่ให้มีเรือหรือเครื่องบินใดก็ตาม ล้ำเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ในระหว่างการฝึกซ้อม โดยจะเป็น “ปฏิบัติการทางทหารแบบมีเป้าหมาย” และ “การซ้อมรบด้วยระสุนจริง” รอบ ๆ ไต้หวัน โดยจะประกอบด้วยการซ้อมรบร่วมทางอากาศและทางทะเลในภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน การซ้อมยิงกระสุนจริงในช่องแคบไต้หวัน และการทดสอบขีปนาวุธในทะเลตะวันออกของไต้หวัน

 


5. เขาตีกัน แล้วเกี่ยวอะไรกับเราด้วย?

คำถามนี้อาจจะคล้ายกับเมื่อครั้ง "รัสเซียกับยูเครน" เมื่อช่วงต้นปีนี้ ซึ่งบางคนอาจยังคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่สุดแล้วก็พิสูจน์แล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ทุกวันนี้ มันส่งผลกระทบเชื่อมถึงกันหมด โดยในกรณีของรัสเซีย-ยูเครนนั้น กระทบหลักๆ ตั้งแต่นำไปสู่ปัญหารการขาดแคลน/กักตุนอาหาร ไปจนถึงเรื่อง "ราคาน้ำมัน" จนส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงไปทั่วโลก

หากเคส จีน-ไต้หวัน ขัดแย้งบานปลายขึ้นจนส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ผลกระทบต่อโลกย่อมไม่แพ้เคสน้ำมันของรัสเซียแน่นอน ในฐานะที่จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่กับทั่วโลก ทั้งในแง่การนำเข้า-ส่งออก ไปจนถึงบทบาทการเป็นผู้ผลิตและซัพพลายเชนหลักๆ ของโลก

ที่ผ่านมา โลกเองก็เคยผ่านความเจ็บปวด (แบบเบาะๆ) มาแล้ว จากปัญหา "ซัพพลายเชน" เมื่อครั้งที่โควิดระบาดในจีน จนจีนปิดประเทศครั้งใหญ่ สร้างความโกลาหลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์

000_8zr4ww

ยิ่งในครั้งนี้หากกระทบไต้หวันโดยตรงก็จะยิ่งหนักกว่าครั้งที่แล้ว ในฐานะที่ไต้หวันเป็น 1 ใน 3 มหาอำนาจผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก โดยครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ถึง 63% และป้อนบริษัทชิปใหญ่ๆ ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Intel, Qualquam, Broadcom และ Nvidea ไปจนถึง Apple ลำพังแค่บริษัทผลิตชิปเบอร์ 1 ในประเทศอย่าง TSMC ก็มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 54% ในโลกแล้ว

หากไต้หวันเจ็บ จีนเจ็บ โลกก็เจ็บด้วย

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT