อินไซต์เศรษฐกิจ

"ไทย" เกี่ยวข้องกับ "เมียนมา" ในมุมเศรษฐกิจ แค่ไหน

22 ก.ค. 65
"ไทย" เกี่ยวข้องกับ "เมียนมา" ในมุมเศรษฐกิจ แค่ไหน

ข่าวการประกาศ "ระงับชำระหนี้ต่างประเทศ" ของเมียนมาในสัปดาห์นี้ ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "ไทย" ไปด้วย เพราะความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกในแง่ของเศรษฐกิจ ข่าวการประกาศ "ระงับชำระหนี้ต่างประเทศ" ของเมียนมาในสัปดาห์นี้ ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "ไทย" ไปด้วย เพราะความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกในแง่ของเศรษฐกิจ 


ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยไปเมียนมา ไม่เคยไปไหว้ขอพรที่ชเวดากอง ไม่รู้จักบริษัทใหญ่ๆ ที่ไปลงทุนในย่างกุ้ง แต่ทุกวันนี้ เราต่างต้องเกี่ยวข้องกับเมียนมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เพราะ "แรงงานต่างด้าว" ที่มากที่สุดในไทยวันนี้ ก็คือคนเมียนมา และเรานำเข้า "ก๊าซ LNG" จากเมียนมามากที่สุดเป็นครึ่งหนึ่งจากการนำเข้า LNG ทั้งหมด เพื่อมาผลิตไฟฟ้าในประเทศ เราจึงแยกความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจหลักๆ ระหว่างไทย-เมียนมา ออกมาเป็น 4 ด้านหลักๆ ดังนี้ 

 


ด้านการค้า 


จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2564 มูลค่าการค้าไทย-เมียนมา อยู่ที่ 2.26 แสนล้านบาท


เฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 เติบโตอยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 32.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 


ที่น่าสนใจก็คือ "การค้าชายแดน" ซึ่งเป็นแหล่งเงินสะพัดของทั้งสองประเทศ และเป็นช่องทางนำเข้าสินค้าที่สำคัญของเมียนมาหลังถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ เพราะเหตุรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว 


เฉพาะช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ขยายตัวแล้ว 23.28%  โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนสำคัญที่ทำให้บรรยากาศยังคึกคักก็คือ การที่รัฐบาลเมียนมาเปิดช่องเมื่อเดือน มี.ค. 65 อนุญาตให้ค้าขายโดยใช้ "เงินบาท" ได้ ผู้ค้าในฝั่งไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาค่าเงินจ๊าตที่อ่อนค่าลงหนัก 

 


ด้านการลงทุน


จากรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในเดือน มิ.ย. 65 ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 6 ในเมียนมา จากมูลค่าการลงทุนทางตรง (FDI) เป็นรองเพียง สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน


ช่วงเดือน ต.ค.64 - มี.ค.65 มูลค่ารลงทุนทางตรงของไทย อยู่ที่ 256 ล้านบาท เติบโต 1.08% ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ของไทยในเมียนมา มีหลากหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ด้านพลังงาน การก่อสร้าง และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีแบรนด์รายใหญ่เช่น ปตท., โอสถสภา, เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ และ เดลต้า


ในสัปดาห์นี้ที่มีข่าวรัฐบาลประกาศให้ "ระงับชำระหนี้ต่างประเทศ" บริษัทหลายแห่งในไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาได้ทยอยออกมาชี้แจงสถานการณ์และจุดยืนการลงทุนของบริษัทกันอย่างต่อเนื่อง เช่น บมจ.โอสถสภา หรือ OSP ที่เริ่มทำการค้ากับเมียนมาเป็นเวลากว่า 25 ปี และขยายธุรกิจลงทุนเปิดโรงงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา มาตั้งแต่ปี 2563 โดยโอสถสภา ระบุว่า มาตรการระงับการชำระหนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโอสถสภาในเมียนมา บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ อีกทั้งการลงทุนในเมียนมาเป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในประเทศไทยเเละสถาบันการเงินในประเทศเมียนมา 

 


ด้านแรงงาน


จากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงพาณิชย์ ในเดือน พ.ค. 65 ไทยมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 2,161,578 คน (ในระบบ)


ในจำนวนนี้ เป็นชาวเมียนมา (ประเภททั่วไป) ประมาณ 1,377,624 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานจากชาติอื่นๆ เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังไม่รวมแรงงานประเภทอื่นๆ และแรงงานนอกระบบ


นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางของเมียนมาประกาศให้ภาคธุรกิจระงับการชำระหนี้ต่างประเทศว่า  ขณะนี้ยังไม่พบลูกค้าของ EXIM BANK ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังสามารถรับชำระเงินเป็นค่าเงินบาทได้ เป็นผลจากการค้าชายแดนที่ทำให้มีเงินบาทอยู่ในเมียนมาสูง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจของเมียนมาจะมีสำนักงานแหล่งที่ 2 อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งสามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติ


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในเมียนมาขณะนี้คือ การไหลเข้ามาในไทยของแรงงานเมียนมา ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในไทยขณะนี้คนที่ได้ประโยชน์อาจไม่ใช่คนไทย ดังนั้นการประกาศปรับขึ้นค่าแรงอาจต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

 


ด้านพลังงาน


เมียนมาถือเป็นแหล่งพลังงานของไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนด้านการสำรวจและขุดเจาะพลังงานใน 3 แหล่งสำคัญ คือ แหล่งยาดานา แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า ในทะเลอันดามัน


จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พบว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ไทยนำเข้าก๊าซ LNG จากเมียนมา 17% ของการนำเข้า LNG ทั้งหมด โดยมาจากแหล่งยาดานา 10% แหล่งเยตากุน 1% และแหล่งซอติก้า 6% คิดเป็นปริมาณ LNG ที่นำเข้ากว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


ก่อนหน้านี้ไม่นาน ยังมีรายงานข่าวว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ชี้แจงว่ากำลังตัดสินใจหาแนวทางเข้าถือหุ้นต่อ 59% แทนที่หลังจาก "โททาล-เชฟรอน" 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในแหล่งก๊าซเมียนมาถอนตัวจากปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าสามารถซื้อ-ดำเนินการต่อได้ทันทีหลังหมดสัญญา 6 เดือน เชื่อไม่กระทบการส่งก๊าซมาไทย


ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT