อินไซต์เศรษฐกิจ

จับตา "ลาว" เศรษฐกิจดาวรุ่งแห่งอาเซียน

4 ก.พ. 65
จับตา "ลาว" เศรษฐกิจดาวรุ่งแห่งอาเซียน
ไฮไลท์ Highlight
"สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือเรียกสั้นๆ สปป.ลาว ถือได้ว่าเป็น ประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ก็ว่าได้ เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ ลาว พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แม้ก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่า เป็นประเทศ “Land Locked” คือไม่มีทางออกสู่ทะเลเลย เป็นแผ่นดินล้วนๆ แต่ในปี 2565 นี้ ลาวได้กลายเป็นประเทศ “Land Link” เรียบร้อยแล้ว หลังจากเปิดให้บริการรถไฟลาว - จีน ถือจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ที่ลาวคาดหวังทั้ง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นตามมา จากรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้"

จับตา "ลาว" เศรษฐกิจดาวรุ่งแห่งอาเซียน

 

หยิบประเด็น สปป.ลาว มาในวันนี้ สืบเนื่องจากทีมงาน SPOTLIGHT เคยนำเสนอประเด็นข่าว ว่า “ภายในเดือนเมษายนนี้ ประชาชนในลาวจะสามารถลงทุนในซื้อขาย คริปโทเคอเรนซี่ได้แล้ว เพราะธนาคารกลางของลาว มีการให้ใบอนุญาติกับบริษัทเอกชน ทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว 2 บริษัท” หลายท่านได้แสดงความเห็นถึงการพัฒนาของเศรษฐกิจลาว จึงทำให้ทีมงาน SPOTLIGHT นำข้อมูลที่น่าสนใจของการพัฒนาทางเศรษฐกิจลาวมาฝากกัน

 

"สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือเรียกสั้นๆ สปป.ลาว ถือได้ว่าเป็น ประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ก็ว่าได้ เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจของ ลาว พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แม้ก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่า เป็นประเทศ “Land Locked” คือไม่มีทางออกสู่ทะเลเลย เป็นแผ่นดินล้วนๆ แต่ในปี 2565 นี้ ลาวได้กลายเป็นประเทศ “Land Link” เรียบร้อยแล้ว หลังจากเปิดให้บริการรถไฟลาว - จีน ถือจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ที่ลาวคาดหวังทั้ง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นตามมา จากรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้"

 

 

รถไฟลาว-จีน ความหวังฟื้นเศรษฐกิจลาว

รถไฟความเร็วสูง ลาว -จีน เปิดให้บริการตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2564 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 1,035 กิโลเมตร  ระยะทางที่อยู่ในลาว 414 กิโลเมตร ประกอบด้วยสะพาน 77 แห่ง และอุโมงค์ข้ามทะลุภูเขาจำนวน 75 แห่ง ทำความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงสำหรับขบวนรถไฟขนส่งสินค้า วิ่งผ่านทั้งหมด 10 สถานี ผ่านเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์  โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น และเป็นสถานีขนส่งสินค้า 1 สถานี คือ สถานีเวียงจันทน์ใต้ ในขณะที่สถานีรถไฟฝั่งจีน มีอีก 14 สถานี ได้แก่ โม่ฮาน เหมิ่งล่า ก๋านหล่านป้า สิบสองปันนา เหมืองหย่าง ผูเอ่อร์ หนิงเอ่อร์ โม่เจียง หยวนเจียง หลัวหลี่เอ๋อซาน เหยียนเหอ อวี้ซีตะวันตก และนครคุนหมิง

 

get-17-2(1)

 

สปป.ลาว ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะมีการขนส่งสินค้าทุกประเภทผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว 8 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 15 ล้านตันต่อปี ในปี 2573 และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านตันต่อปี และภายในปี 2583 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.5% ต่อปี

 

get-31

 

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า การมีรถไฟลาว-จีน อาจจะเป็นตัวช่วยฟื้นเศรษฐกิจลาวได้ หลังจากเจอผลกระทบอย่างหนักช่วงโควิด 19 จนเศรษฐกิจเหลือ 0.4% ในปี2563  เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30ปี  ซึ่งรถไเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเชื่อมเมืองคุนหมิงของจีนมายังเวียงจันทน์

 

รัฐบาล สปป.ลาว ลงทุนเมกะโปรเจ็ค กว่า 4 แสนล้านบาท

แน่นอนว่าลำพังเส้นทางรถไฟลาวจีน แม้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเศรษฐกิจลาว แต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศก็ถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน รัฐบาลลาวจึงผลักดันการลงทุนเมกะโปรเจ็คที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศถึง 7  โครงการ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท รถไฟลาวจีนเป็นหนึ่งใน7 ส่วนโครงการอื่นๆที่สำคัญ เช่น  ท่าเรือบกท่านาแล้ง มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท ที่นี่จะเป็นท่าเรือขนส่ง และคลังสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของลาว เชื่อมต่อจีน และประเทศใน CLMV และยังมีส่วนเชื่อมสะพานมิตรภาพไทย ลาว อีกด้วย นอกจากนี้ลาวยังเชื่อมต่อกับฮานอยของเวียดนาม ผ่านโครงการก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทร์ - ฮานอย ระยะทางทั้งหมดกว่า 700 ก.ม. มูลค่ากว่าแสนล้านบาท  ,โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสมาร์ทซิตี้ บึงธาตุหลวง ตั้งอยู่ที่เวียงจันทร์ เป็นความร่วมมือระหว่าง ลาว จีน และเกาหลีใต้ เน้นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์ของโลก  คาดแล้วเสร็จในปี 2573 เป็นต้น

 138071574_15582742958631n

 

แน่นอนว่า ความร่วมมือกับจีนและนานาประเทศทำให้เศรษฐกิจลาวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จนทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองให้ สปป. ลาว บังกลาเทศ และเนปาล 3 ประเทศหลุดพ้นจากสถานะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยสมัชชาใหญ่ฯ มีมติมอบระยะเวลาเตรียมการ 5 ปี สำหรับการหลุดพ้นจากสถานะดังกล่าว ซึ่งมากกว่าระยะเวลามาตรฐานที่กำหนดไว้ 3 ปี เนื่องจากทั้งสามประเทศจะต้องเตรียมการควบคู่กับการวางแผนฟื้นตัวหลังยุคการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโรคระบาด ซึ่งนั่นก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาล สปป.ลาว ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 

 

สปป.ลาว ไฟเขียว คริปโทเคอเรนซี่

สปป.ลาว กำลังอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเป็นช่วงที่โลกกำลังตื่นตัวกับ สินทรัพย์ดิจิทัล แน่นอนว่า กระแสนี้ก็เข้าไปในสปป.ลาวเช่นกัน  และท่าทีของรัฐบาล สปป.ลาว ค่อนข้างไฟเขียว ภายในเดือนเมษายนนี้ คนลาวกำลังจะได้เทรดคริปโทฯ ผ่านแพลตฟอร์มของ 2 บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากทางธนาคารกลางเรียบร้อย  และมีเอกชนรายอื่นๆรอขอใบอนุญาตอยู่อีกหลายแห่ง เพื่อทำธุรกิจทั้งขุดคริปโทฯ และ เป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย

btc 

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า

 

"คริปโทฯ คือทางเลือกของประชาชน และโอกาสของรัฐบาลลาวในการเก็บรายได้เข้ารัฐฯเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะ ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการถือครองค่าเงินของตัวเอง  คนลาวเอง จึงไม่ได้ใช้แค่กีบ แต่ยังใช้เงินบาทไทย และดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ หยวนของจีนด้วยซ้ำ การมีคริปโทฯ จึงถือเป็นทางเลือกของประชาชน ในขณะที่รัฐฯเอง ก็มีโอกาสเก็บรายได้จากธุรกิจ เช่น หากจะทำธุรกิจเหมืองคริปโทฯ ต้องมีการวางเงินประกันให้กับธนาคารกลางกว่า 5ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเปิดได้แค่ 3 เหรียญ คือ บิตคอยน์ ไลท์คอยน์ และ อีเธอเรียม แถมยังต้องทำสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาวถึง 6 ปี กับการไฟฟ้าของลาว ขนาด 10 เมกกะวัตต์ เป็นต้น"

 

ทั้งหมดจึงพอเห็นภาพ ว่าลาวกำลังเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจของประเทศครั้งสำคัญ  และไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ก็อาจจะต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงใน สปป.ลาวที่เกิดขึ้น เพื่อเกื้อหนุนเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน  ดังนั้น จับตา "ลาว" เศรษฐกิจดาวรุ่งแห่งอาเซียน กันต่อไป

 

สำหรับผู้อ่านที่สนใจประเด็นเรื่อง คริปโทฯในลาว ติดตามการสัมภาษณ์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในรายการ SPOTLIGHT Exclusive วันอังคารที่ 8 ก.พ.นี้ เวลา 14.00.ทาง FB SPOTLIGHT , Youtube Amarin Tv

 

ภาพจาก ซินหัว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รถไฟลาว-จีน เปิดแล้ว !ความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจลาว

ลาวเตรียมพร้อม อีก 5ปี หลุดจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT