ไลฟ์สไตล์

บริษัทอังกฤษพบทำงาน 4 วัน เวิร์คสุด! รายได้เพิ่ม พนง.เครียดน้อยลง

23 ก.พ. 66
บริษัทอังกฤษพบทำงาน 4 วัน เวิร์คสุด! รายได้เพิ่ม พนง.เครียดน้อยลง

สำหรับคนทั่วไป การทำงานสัปดาห์ละ 5 วันเป็นสิ่งที่เรายึดถือกันมานานจนกลายเป็นแบบแผนการทำงานที่ดูเหมือนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ไปแล้ว แต่อีกไม่นานวิถีชีวิตแบบนี้อาจหายไป เมื่อกว่า 60 บริษัทในสหราชอาณาจักร รวมถึงอังกฤษ ร่วมทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันแล้วพบว่าตารางทำงานแบบใหม่นี้ทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น เพราะเครียดน้อยลง และสามารถพักผ่อนนอนหลับได้ดีขึ้น

การทดลองในครั้งนี้เป็นการร่วมมือของบริษัทถึง 61 แห่งและพนักงานถึง 2,900 ในสหราชอาณาจักร ที่เริ่มทดลองให้พนักงานทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงธันวาคมในปี 2022 เป็นเวลาทั้งหมด 7 เดือน จัดทำโดย 4 Day Week Global กลุ่มรณรงค์ให้มีการทำงาน 4 วัน กลุ่มนักวิจัย Autonomy และนักวิจัยจากวิทยาลัยบอสตันและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ในการทดลอง บริษัทที่เข้าร่วมจะต้องลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานให้เหลือเพียง 32 ชั่วโมง โดยอาจลดจำนวนวันทำงาน หรือชั่วโมงการทำงานก็ได้ 

โดยกลุ่ม 4 Day Week Global ได้เคยทำการทดลองตารางการทำงานในลักษณะนี้มาแล้วกับกลุ่มตัวอย่างที่เล็กกว่านี้มาแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ และออสเตรเลีย แต่การทดลองในครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่และยาวนานที่สุด

 

หลายบริษัทพบ มีรายได้มากขึ้น เพราะพนักงานสมดุลทำงาน-ชีวิตดีกว่าเดิม

ถึงแม้หลายๆ บริษัทจะไม่มั่นใจกับผลลัพธ์ที่ได้ในช่วงที่เริ่มทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน จากรายงานผลการวิจัย บริษัทส่วนมากที่เข้าร่วม พบว่า การปรับชั่วโมงการทำงานให้น้อยลง ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 35% จากปีก่อนหน้า และ 1.4% ในช่วง 7 เดือนที่มีการทดลอง 

ทั้งนี้ ความพึงพอใจโดยรวมของนายจ้างอยู่ที่ 8.5 เต็ม 10 เพราะลูกจ้างหยุดงานน้อยลง จากเฉลี่ย 2 วันต่อเดือน เป็นเพียง 0.7 วันต่อเดือน อัตราการลาออกลดลงกว่าครึ่ง 

นอกจากนี้ ระหว่างการทดลอง มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ตัดสินใจยกเลิกตารางการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากพบว่า ไม่เวิร์ค และมีบริษัทถึง 56 บริษัทจาก 61 บริษัทบอกว่า จะไม่กลับไปใช้ตารางการทำงานแบบ 5 วันต่อสัปดาห์อีกแล้ว

โดยเป็นที่แน่นอนว่า ถ้าแม้แต่นายจ้างยังมีความพึงพอใจกับตารางการทำงานแบบนี้แล้ว ผู้ที่ได้ผลประโยชน์โดยตรงทันทีอย่างลูกจ้างย่อมมีความสุขกับตารางการทำงานที่เบาลงนี้ยิ่งกว่า

จากการรายงานของ Bloomberg พบว่า ผลประกอบการ และ productivity ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากการที่พนักงานมีสมดุลในการใช้ชีวิตและทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะมีเวลาว่างมากขึ้นในการพักผ่อน และให้เวลากับคนรอบตัว ทำให้โดยรวมพนักงานมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น และมีกำลังใจในการทำงาน และผลงานออกมาดีมากขึ้น

ภายหลังจากจบช่วงทดลอง พบว่า ไม่มีพนักงานเลยแม้แต่คนเดียวที่อยากกลับไปทำงานแบบ 5 วันต่อสัปดาห์อีก และเมื่อถูกถามว่า นายจ้างต้องเพิ่มค่าตอบแทนอีกเท่าไหร่ พนักงานถึงจะยอมกลับไปทำงานในตารางแบบเดิมอีก ทีมนักวิจัย พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ตอบว่า ต้องเพิ่มถึง 26-50%, 8% กล่าวว่าต้องเพิ่ม 50% ในขณะที่ 15% บอกว่าให้เงินเดือนเพิ่มเท่าไหร่ก็จะไม่ยอมกลับไปทำงานในตารางแบบเดิมอีก 

โดยจากการทดลอง พนักงานทุกคนต่างตอบว่า ตารางการทำงานแบบนี้ ทำให้พวกเขามีไฟในการทำงานมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง อีกทั้ง ยังนอนหลับได้ง่ายและสนิทมากขึ้น ช่วยเพิ่มสมาธิในทำงาน ส่งให้ผลงานออกมาดีเป็นที่พึงพอใจ และสามารถส่งผลดีทั้งกับตัวพนักงานและบริษัทเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการทดลองจะออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความทุกบริษัทจะสามารถปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานมาเป็นแบบนี้ได้ทั้งหมด เพราะการทดลองนี้มีปัญหา คือ ความหลากหลาย เพราะส่วนมากบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้สามารถจัดการให้มีความยืดหยุ่นในเวลาการทำงานได้ง่ายกว่า โดยกว่า 66% เป็นบริษัทที่มีจำนวนพนักงานน้อยกว่า 25 คน และเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับค่านิยมการทำงานแบบยืดหยุ่นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การทำงาน 4 วันนี้อาจเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนงานในบางอุตสาหกรรมและธุรกิจ เช่น ธุรกิจการแพทย์ หรือธุรกิจดูแลเด็กซึ่งประสบปัญหาขาดคนอยู่แล้ว และบางคนในปัจจุบันก็ต้องทำงานมากกว่าปกติ เพื่อหารายได้เสริมในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อและซบเซา

เพราะเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจึงลงความเห็นว่า การปรับใช้ตารางการทำงานแบบนี้อาจไม่เหมาะกับทุกธุรกิจ และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนพลิกแพลงแผนในการลดเวลาการทำงานลง เพราะถึงแม้ทุกธุรกิจอาจไม่เหมาะกับการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แต่การลดชั่วโมงการทำงานและให้พนักงานมีเวลาพักผ่อนส่วนตัวมากขึ้นย่อมเพิ่มคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน และเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในปัจจุบันที่แรงงานยุคใหม่หันมาใส่ใจความสมดุลในการทำงานและใช้ชีวิตมากขึ้น และไม่มองรายได้และค่าตอบแทนเป็นเป้าหมายเพียงอย่างเดียว

 

 

ที่มา: Bloomberg, The Washington Post




advertisement

SPOTLIGHT