ไลฟ์สไตล์

ชั่วโมงทำงานจริง VS ชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด ประเทศไหนทำงานหนัก?

9 ก.พ. 66
ชั่วโมงทำงานจริง VS ชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด ประเทศไหนทำงานหนัก?

จากกระแสข่าว ‘ทำงานหนักจนเสียชีวิต’ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งแวดวงการทำงาน ทำให้มนุษย์วัยทำงานหลายคนกลับมาทบทวนว่า Work-life balance ของชีวิตตัวเองตอนนี้ยังดีอยู่ไหม? กระตุกให้นายจ้างกลับมาทบทวนเรื่องความทั่วถึงในการดูแลพนักงาน และกำหนดลิมิตในการทำงาน

ชั่วโมงทำงาน

ซึ่งอันที่จริง กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้มีการกำหนดเพดานเวลาการทำงานของลูกจ้าง แต่หลายครั้ง ในโลกแห่งความเป็นจริง พนักงานก็ต้องตรากตรำทำงานล่วงเวลาไปมาก อาจเพราะภาระงานที่ตึงมือ หรือเพราะนโยบายบริษัทที่ต้องการรีดศักยภาพของพนักงานให้ถึงที่สุด
 
แล้วในต่างประเทศเป็นอย่างไร? แต่ละประเทศทำงานหนักต่างกันมากน้อยแค่ไหน? Spotlight ได้รวบรวมชั่วโมงการทำงานของแต่ละประเทศ ทั้งเวลาการทำงานตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด และเวลาการทำงานจริง จากผลสำรวจของเว็บไซต์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของหลากหลายกลุ่มประเทศ โดยได้หยิบ 10 จากกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทย, กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งมักถูกมองว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี มาให้ได้เห็นภาพมากขึ้น

258185

 

ประเทศ ชม.ทำงานตามกฎหมาย (ชม./คน/สัปดาห์) ชม. ทำงานจริง
อินเดีย 48 50
จีน 40 46.1
สิงคโปร์ 48 42.6
ไทย 48 40.5
เวียดนาม 48 39.2
เกาหลี 40 38.5
ญี่ปุ่น 40 36.6
สหรัฐ 40 36.6
สวิส 45 34.4
นอร์เวย์ 40 33.5



แล้วเราเห็นอะไรจากข้อมูลชุดนี้? ใน 10 ประเทศที่ยกมานี้ จะมีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย “สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด” ส่วน 2 ตัวแทนจากกลุ่มประเทศยุโรป ได้แก่ นอร์เวย์ และ สวิตเซอร์แลนด์ มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่น้อยที่สุด

ตามมาด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนใน 3 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ลำดับจำนวนชั่วโมงการทำงาน ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

นอกจากเวลาการทำงานปกติ ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังครอบคลุมไปถึงการกำหนดเพดานชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์ ในประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นก็มีการกำหนดเช่นกัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

 

ทำงานหนัก
 

นี่เป็นเพียงชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแต่ละประเทศเท่านั้น ในความเป็นจริง มนุษย์วัยทำงานบางคนอาจต้องทนทำงานมากกว่านี้ แต่อยากฝากข้อคิดไว้ว่า “งานหนักฆ่าคนได้จริง” แม้จะไม่ใช่ทางตรง แต่เป็นความเครียดจากการทำงาน ที่ส่งผลกระทบอยากหนักหนาต่อร่างกาย ดังที่เรียกว่า ‘ภาวะคาโรชิ (Karoshi Syndrome)’ ซึ่งหมายถึงผลกระทบร่างกายที่เกิดขึ้นจากการโหมงานหนัก ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดที่ทำให้สมองขาดเลือดต่างๆ (stroke) โรคหอบหืดขั้นร้ายแรง รวมไปถึงการฆ่าตัวตายจากความเครียดในที่ทำงาน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะคาโรชิได้ที่นี่

แม้แต่ละคนจะมีความจำเป็นในชีวิตต่างกัน บางคนกำลังแบกภาระความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของบริษัทไว้ บางคนกำลังมุ่งหารายได้เพื่อครอบครัวและคนรัก แต่หากเงินหลายบาท หลายสตางค์ที่หามาได้ ถูกนำไปใช้กับการรักษาตัวเองจนหมด คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และไม่คุ้มกับเวลาชีวิตที่เสียไป

 

Spotlight จึงอยากอาศัยพื้นที่ตรงนี้ สร้างความตระหนักรู้เรื่อง ‘Work-Life Balance’ ในชีวิตของคุณ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องแบ่งเวลาให้ทุกมิติของชีวิตเท่ากัน แต่ควรแบ่งเวลาอย่างลงตัว และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะสุดท้ายแล้ว งานก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

 

ที่มา : ILO, สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, India Law Offices, Simmons Simmons, Thompson Reuters Practical Law, Replicon, DOL, JETRO, I am Expatarbeidstilsynet

advertisement

SPOTLIGHT