ไลฟ์สไตล์

เกลียดปีใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก! รู้จัก 'New Year Blues' พร้อมวิธีรับมือ

29 ธ.ค. 65
เกลียดปีใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก! รู้จัก 'New Year Blues' พร้อมวิธีรับมือ

ใกล้หมดปี 2565 เข้ามาทุกที บางคนอาจกำลังตั้งตารอปีใหม่ที่แสนสดใส เตรียมจัดปาร์ตี้กับเหล่าคนรู้ใจ แต่สำหรับบางคน ปีใหม่ คือช่วงเวลาที่ไม่อยากให้มาถึงเลย อาการแบบเรียกว่า 'New Year Blues' หรืออาการ 'ซึมปีใหม่' ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เว็บไซต์ Patient.info กล่าวถึงสาเหตุของอาการ New Year Blues ว่ามีดังนี้

 

istock-889642436

 

  1.  รู้สึกว่าปีที่ผ่านมา ตัวเอง ‘เก่งไม่พอ’


    สำหรับบางคน เมื่อปีใหม่ผ่านเข้ามา หมายความว่า ‘เราโตขึ้นอีกปี’ แต่สำหรับหลายคน นั่นหมายถึง ‘หมดเวลาไปอีก 1 ปี’ ยิ่งผู้คนในวัยทำงานที่มีเป้าหมายจะประสบความสำเร็จ สร้างครอบครัว มีบ้าน มีรถ มีชีวิตที่มั่นคงหรือกำลังวางแผนเกษียณ หากหนึ่งปีที่ผ่านไปไม่เป็นอย่างที่หวัง นั่นหมายความว่าปีหน้าจะต้องทำงานให้หนักขึ้น หรืออาจจะหมายความว่าเป้าหมายของเราอาจไม่สำเร็จก็ได้

    ยังไม่นับรวมสัญชาตญาณของมนุษย์เราที่ชอบ ‘แข่งขันและเปรียบเทียบ’ ช่วงงานเลี้ยงปีใหม่ที่ต้องเจอญาติ หรือเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ แล้วพบว่า เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เรายังไม่ไปไหน ก็อาจสร้างภาระอันหนักอึ้งทางใจ และไม่อยากให้ ‘โค้งสุดท้ายของปี’ เดินทางมาถึง
  2. โหยหาวันหยุดยาว


    ช่วงวันหยุดท้ายปี อาจจะเป็นวันหยุดที่ยาวนานที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนบางคนเลยก็ได้ อาจเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว และคนรักนานที่สุด เป็นช่วงเวลาที่ได้ทำกิจกรรม เช่น ปีนเขา เดินป่า ดำน้ำ ยาวนานที่สุด เป็นช่วงเวลาที่ได้นอนเต็มอิ่มที่สุด

    แต่เมื่อวันหยุดใกล้หมด ต้องกลับไปเผชิญกับโลกการทำงานที่แสนวุ่นวาย ต้องห่างไกลกับคนที่รัก ต้องพับโครงการเติมเต็มแพชชั่น แบบที่ไม่รู้จะได้กลับมาทำอีกเมื่อไร แถมจำต้องห่างไกลจาก ‘เตียงอันเป็นที่รัก’ ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้หลายคนรู้สึกเศร้าทันทีช่วงเวลาวันหยุดยาวส่งท้ายปี้เช่นนี้ กำลังจะหมดไป
  3. ยิ่งหนาวกาย ยิ่งเหงาใจ


    ฟังดูเหมือนจะเป็นมุขเสี่ยว แต่ ‘ความหนาว กับ ความเหงา’ เขาผูกโยงกันจริงๆ ดร. Sandra Wheatley นักจิตวิทยาจากสมาคมจิตวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (BPS) เผยว่า สำหรับคนที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว ช่วงเวลาปีใหม่ถือเป็น ‘ฝันร้าย’ เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่กลางวันแสนสั้น กลางคืนยาวนาน แถมอากาศก็เย็นยะเยือก ขาดแสงแดดช่วงกระตุ้นการปล่อยสารเคมีในสมอง หรือฮอร์โมนบางชนิด ยิ่งเป็นประเทศที่ห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตร จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากความหนาวเหน็บของอากาศ และความมืดทึมของบรรยากาศรอบกาย
     
    ด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้เรารู้สึกไร้พลังในช่วงปลายปี ที่มีบรรยากาศหนาวๆ เหงาๆ เกิดอาการ ‘SAD’ ที่ย่อมาจาก ‘Seasonal Affective Disorder’ หรือที่เรียกว่า ‘ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล’

    istock-882747904

     
  4. ขาดคนใช้ช่วงเวลาดีๆ ด้วย

     
    ช่วงเวลาปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่จีน ปีใหม่ไทย หรือปีใหม่สากล มักจะถูกยกเป็นเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวได้มาเจอหน้ากัน แต่สำหรับคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน ภารกิจรัดตัว ไม่สามารถกลับไปหาครอบครัวในช่วงดังกล่าวได้ ช่วงเวลาปีใหม่คงเป็นการเฉลิมฉลองที่เหงาใจอย่างน่าประหลาด
     
    ยิ่งกับคนที่สูญเสียคนสำคัญ อย่างคนรัก หรือสมาชิกในครอบครัว ที่ในปีก่อนได้นั่งเคาท์ดาวน์ด้วยกันแล้ว นี่คงเป็นเทศกาลที่เหงา และเปล่าเปลี่ยว จนหลายคนไม่อยากให้หวนมาถึง




แต่ใช่ว่าอาการเหล่านี้จะไม่มีวันหายไป เช่นเดียวกับเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา และผ่านไปในทุกปี เมื่อเราเข้าใจสาเหตุของอาการเหล่านี้ เราก็สามารถปรับความคิดเพื่อให้อาการทุเลาเบาบางลง และทำให้ช่วงเวลาปีใหม่ กลายเป็นเหมือนวันปกติทั่วไป หรือสร้างภาพจำใหม่ๆ ให้ช่วงส่งท้ายปี เป็นช่วงเวลาดีๆ ในชีวิตได้
  
เว็บไซต์ Bridges to Recovery แนะนำวิธีรับมือกับ New Year Blues ไว้หลากหลายวิธี ดังนี้


istock-1197107046 


  1.  ตั้งเป้าปีใหม่ แบบที่ ‘ใจดีกับตัวเอง’


    แม้สังคมภายนอกจะเต็มไปด้วยการแข่งขัน และแรงกดดัน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องแบกน้ำหนักเหล่านั้นไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้ตัวแล้วว่า ปีใหม่ของเรามันเศร้ากว่าคนอื่น เราควรใจดีกับตัวเองให้มากขึ้นอีกนิด เริ่มจากเป้าหมาย หรือความคาดหวังที่เราตั้งในปีใหม่ที่จะถึงนี้ เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายที่สมเหตุสมผล และเป็นไปได้ อย่างเช่น

    -รายล้อมตัวเองด้วยคนที่ทำให้เรามีความสุข และตัดคนที่น่าปวดหัวออกไปจากชีวิต
    -เพิ่มโฟกัสกับสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ในชีวิตให้มากขึ้น
    -กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ และกล้าปฏิเสธให้มากมขึ้น
    -เริ่มต้นออมเงิน หรือลงทุนทีละเล็กๆ เพื่ออนาคตของเราเอง

    ความสำคัญของการมีเป้าหมายที่ทำได้จริงคือการสร้าง ‘Small Wins’ หรือชัยชนะเล็กๆ ให้เรามีกำลังใจ เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเอง เติมเชื้อไฟให้เราสามารถใช้วิตได้อย่างแฮปปี้มากขึ้น
     
  2. วัดความสำเร็จของตัวเอง ไม่ใช่ของคนอื่น


    การทบทวนสิ่งดีๆ และสิ่งไม่ดีในปีที่ผ่านมา มีประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาตัวเอง แต่การเปรียบเทียบนั้นต้องเทียบกับตัวคุณ ไม่ใช่กับคนอื่น เราเปรียบเทียบเพื่อมองหาจุดบกพร่อง และพัฒนาจุดบกพร่องนั้น ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาความสำเร็จ ไม่ว่าจะเล็กหรือจะใหญ่ เพื่อที่ปีหน้าจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม

    ชีวิตไม่ใช่การแข่งขัน การรู้เท่าทันตัวเองมีประโยชน์กว่าการเปรียบเทียบกับคนอื่นมากมาย หนึ่งวายร้ายจอมเปรียบเทียบก็คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ วางมือถือลงบ้าง พักการแข่งขันตัดสินจากคนรอบกาย (คนในโซเชียลมีเดียจริงๆ แล้วอาจไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของคุณด้วยซ้ำ!) โฟกัสกับตัวเองให้มากขึ้น ค่อยๆ สร้างมองภาพของบุคคลที่คุณอยากเป็น ไม่ใช่ที่คนอื่นอยากให้เป็น


    istock-1227171782_1

     
  3. พาตัวเองออกจากวังวนเดิมๆ


    สำหรับคนที่ต้องอยู่คนเดียวในช่วงปีใหม่ นี่ถือเป็นช่วงอันตรายที่อาการ ‘จมจ่อมกับความคิด และย้ำคิดย้ำทำ’ จะวิ่งเข้าหาคุณ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Rumination’ ซึ่งมีอีกความหมายคือการ ‘เคี้ยวเอื้อง’ ทำแบบเดิมซ้ำๆ วนไป เหมือนการเคี้ยวอาหารของสัตว์จำพวกวัว) ซึ่งอาการแบบนี้อาจนำไปสู่ความคิดแง่ลบ และอาการซึมเศร้าได้

    ตัวช่วยที่ดีที่จะสามารถพาคุณออกจากวังวนดังกล่าวได้คือการ ‘หาอะไรทำ’ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่น ชมนกชมไม้ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เมื่อร่างกายได้ขยับ ก็จะย้ายโฟกัสจากสารพัดเรื่องเครียด มายังสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หรือถ้าให้ดี หาเพื่อนสักคนมาร่วมด้วย ก็จะช่วยให้เราคิดมากน้อยลง
     
  4. สร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่ใช่สำหรับคุณ


    เมื่อพูดถึงปีใหม่ ทุกคนก็จะนึกถึงการเฉลิมฉลองที่สุดแสนจะยิ่งใหญ่ กิจกรรมมากมาย แน่นขนัดไปด้วยผู้คน แต่คนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้น คืนก่อนปีใหม่ของคุณ อาจหมายถึงการได้นอนดูซีรีส์ Netflix อยู่บ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือเล่นบอร์ดเกมกับเพื่อนก็ได้ หากนั่นเป็นกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกดี

    คุณอาจลองเป็นเจ้าภาพ จัดปาร์ตี้เล็กๆ ชวนเฉพาะคนสนิท สร้างความทรงจำดีๆ ก่อนปีใหม่ร่วมกัน ในพื้นที่ที่คุณรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย เพื่อนคุณอาจกำลังโหยหาช่วงเวลาดีๆ แบบนี้อยู่เหมือนกันก็ได้

     



ท้ายที่สุด Spotlight อยากบอกคุณว่า ไม่ว่าปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้แล้ว คุณเก่งมากแล้ว และปีหน้าคุณก็จะเก่งขึ้นอีก ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย หรือถ้ามีเรื่องแย่ๆ เข้ามา เราก็เชื่อว่าคุณจะสามารถก้าวผ่านมันไปได้ อย่าลืมว่ารอบตัวคุณยังคงมีคนที่พร้อมซัพพอร์ตคุณอยู่เสมอ เพียงคุณเรียกหา ขอให้ปีหน้าเป็นปีที่สุดแสนวิเศษของคุณ เราขอส่งท้ายไปด้วยเพลงที่อยากให้คุณหยิบขึ้นมาฟังในทุกครั้งที่คุณรู้สึกเก่งไม่พอ ขอให้รู้ไว้ว่า

 

“เธอเก่งที่สุดในโลก”



ที่มา : Patient.info, Bridges to Recovery, Imnutt

advertisement

SPOTLIGHT