การเงิน

วิกฤตธนาคารสหรัฐฯ อาจยังไม่จบ พบหลายแบงก์ขนาดกลางเสี่ยง Bank Run

2 พ.ค. 66
วิกฤตธนาคารสหรัฐฯ อาจยังไม่จบ พบหลายแบงก์ขนาดกลางเสี่ยง Bank Run

ในวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาธนาคาร First Republic กลายเป็นธนาคารรายที่ 3 ของสหรัฐฯ ถัดจากธนาคาร Silicon Valley และ Signature ที่กำลังจะล้มละลายจากภาวะขาดสภาพคล่องจนต้องมีแบงก์ใหญ่กว่ามาออกเงินอุ้มไว้ 

โดยธนาคารใหญ่ที่เข้ามาซื้อธนาคาร First Republic ไว้ในครั้งนี้ ก็คือ JPMorgan Chase ที่จะเข้ามาครอบครองสินทรัพย์และสินเชื่อส่วนใหญ่ของ First Republic รวมถึง เงินกู้ประมาณ 173,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, หลักทรัพย์ 30,000 ล้านดอลลาร์ และเงินฝาก 92,000 ล้านดอลลาร์

ดีลครั้งนี้ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นในภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ กลับมาหลังภาคหลายธนาคารขนาดกลางในสหรัฐฯ ประสบปัญหาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ทำให้เกิดการขาดทุนจากการถือพันธบัตรรัฐบาล และเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘Bank Run’ คือ การที่นักลงทุนและผู้ฝากเงินเกิดแห่ไปถอนเงิน จนธนาคารเกิดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะไม่เชื่อมั่นว่าธนาคารจะสามารถดูแลบริหารจัดการทรัพย์สินที่พวกเขาฝากไว้ในธนาคารได้

สำหรับธุรกิจในภาคการธนาคารนั้น ความเชื่อมั่นของลูกค้าในความมั่นคงในระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อเสถียรภาพของธุรกิจ ภายหลังจากมีการประกาศดีลดังกล่าว Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgam Chase ได้กล่าวกับนักวิเคราะห์ว่า “ ถึงแม้ในอนาคตมีโอกาสที่จะมีแบงก์ขนาดเล็กประสบปัญหาการเงินจนต้องปิดตัวไปอีก แต่วิกฤตธนาคารของสหรัฐฯ ได้ผ่านไปแล้ว และทุกคนควรจะวางใจได้ว่าสถานะทางการเงินของธนาคารสหรัฐฯ ยังมั่นคง และไม่น่าจะมีแบงก์ขนาดกลางหรือใหญ่ที่ไหนล้มอีก”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธุรกรรมในครั้งนี้ จะช่วยกู้ความเชื่อมั่นของภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ยังเข้มแข็งพออุ้มรายเล็กและกลางที่กำลังมีปัญหา แต่ก็ยังมีนักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า วิกฤตนี้อาจยังไม่ผ่านพ้นไป เนื่องจากในปัจจุบันแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ และยังมีธนาคารขนาดกลางอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่สภาพการเงินง่อนแง่นจนถ้าเกิด Bank Run ก็อาจจะล้มได้

 

แบงก์ขนาดกลางในระดับภูมิภาคยังเสี่ยงล้ม

Itamar Drechsler ศาสตราจารย์ด้านการเงินจาก Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การล้มละลายของ First Republic ในครั้งนี้ อาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตธนาคารที่ใหญ่ขนาดวิกฤตในปี 2008 แต่ก็ยังมีธนาคารขนาดกลางอีกมากมายที่มีความเสี่ยงแบบเดียวกันกับธนาคาร Silicon Valley เป็นผลมาจากทั้งแรงกดดันด้านดอกเบี้ย และกฎเกณฑ์ควบคุมธนาคารขนาดกลางที่ยังไม่มีความรัดกุมมากพอ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยังมีแผนที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 25 basis points ในการประชุมในวันที่ 2-3 พ.ค.นี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ถึงแม้เศรษฐกิจกำลังซบเซา และประชาชนส่วนมากยังมีรายได้เพิ่มไม่ทันเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่ารายได้ลดลง และจำนวนผู้มีหนี้เพิ่มขึ้น 

การขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มแรงกดดันในภาคธนาคารขนาดกลางต่างๆ ที่ยังถือหุ้นกู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน (mortgage bond) หรือพันธบัตรรัฐบาลอยู่ เพราะเมื่อการขาดทุนจากการถือพันธบัตรรัฐบาลปรากฎในรายงานผลประกอบการ นักลงทุนและผู้ฝากเงินในธนาคารเหล่านี้ อาจจะสูญเสียความมั่นใจ และเลือกถอนเงินจากธนาคารเหล่านี้ไปฝากไว้ในธนาคารที่ใหญ่และมีความมั่นคงกว่า และอาจจะทำให้ธนาคารเหล่านี้เจอการ Bank Run และประสบปัญหาทางการเงินจนล้มละลายได้เช่นกัน

ขณะที่ Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้แสดงความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยได้กล่าวในงานประชุม Milken Institute Global Conference ในวันที่ 2 พ.ค. ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐนั้น ทำให้ธนาคารหลายแห่งที่มีการจัดการด้านการเงินที่ไม่ดีอยู่แล้วปรับตัวไม่ทันจนเกิดปัญหาขึ้น และธนาคารที่มีโครงสร้างสินทรัพย์และปัญหาทางการเงินในลักษณะเดียวกันกับ Silicon Valley Bank และ Signature Bank ก็อาจจะล้มไปอีกเป็นรายต่อไป

 

การกำกับดูแล และกฎเกณฑ์ควบคุมธนาคารในสหรัฐฯ ยังมีปัญหา

ตามรายงานของ The Washington Posts กฎเกณฑ์ควบคุมดูแลของธนาคารขนาดกลางของสหรัฐฯ ยังคงมีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันธนาคารขนาดกลางในสหรัฐฯ ‘ไม่ต้องมีเงินสดสำรองเท่ากับที่ธนาคารใหญ่ๆ ต้องมี’ ทำให้เมื่อเกิดแรงกดดันจากการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ธนาคารเหล่านี้จึงมีสภาพคล่องสำรองไม่เพียงพอ ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของตัวเองได้

โดยนักวิเคราะห์มองว่า การที่ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลไม่ยอมออกกฎให้ธนาคารขนาดกลางสำรองเงินสดไว้กรณีเกิดวิกฤตเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะการล้มของธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางก็สามารถสร้างผลกระทบต่อธุรกิจการเงินการธนาคารในภาพรวมได้เช่นกัน อย่างที่การล้มละลายของสามธนาคารสร้างวิกฤตความเชื่อมั่นอย่างใหญ่หลวงต่อภาคการเงินสหรัฐฯ ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ ยังมองว่า ถึงแม้การที่ทั้งธนาคารกลางและธนาคารใหญ่อื่นๆ เร่งออกมาให้เงินช่วยเหลือและช่วยออกเงินประกันเงินฝากแบบเต็มจำนวน (เกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ) แบบทุกวันนี้จะทำให้ลูกค้าสบายใจ และไม่แห่ไปถอนเงินจนวิกฤตนี้ลุกลามเป็นวงกว้างไปอีก 

แต่การช่วยเหลือระดับนี้อาจทำให้เกิด ‘Moral Hazard’ หรือ ทำให้ในอนาคตหลายๆ แบงก์หละหลวมในการจัดการดูแลการเงินของตัวเองได้ เพราะเห็นแล้วว่าถ้าบริหารผิดพลาดจนล้มละลายอย่างไรก็ยังมีหน่วยงานรัฐและธนาคารที่ใหญ่กว่าเข้ามาอุ้ม

ด้วยเหตุนี้ การช่วยเหลือของธนาคารกลางและธนาคารใหญ่ จึงเปรียบเสมือนเป็นดาบสองคมที่ในอีกทางหนึ่งถึงจะช่วยเรียกความมั่นใจในระยะสั้นกลับมาได้ แต้อาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังในระยะยาว ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ การแก้กฎหมายให้การสอดส่องดูแลธนาคารขนาดกลางเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและรัดกุมมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา: Vox, The Washington Posts, Reuters, USA Today, CNBC

 





advertisement

SPOTLIGHT