การเงิน

Virtual Bank คืออะไร? ใครได้ประโยชน์?

26 ม.ค. 66
Virtual Bank คืออะไร? ใครได้ประโยชน์?

กระแส Digital Disruption ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกยุคดิจิทัลนี้ ภาคการเงินเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้น ที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) เติบโตกว่า 500% ไม่นับรวมฟินเทคต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายทั้วโลกที่เติบโตสูงเป็นระดับ 1,000% 

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) ได้ออกประกาศร่างหลักเกณฑ์ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยของใครหลายๆ คนว่า มันต่างกับธนาคารพาณิชย์ปกติอย่างทุกวันนี้อย่างไร? ใครกันที่ได้ประโยชน์?

ทีม Spotlight สรุปมาให้ว่า ปัจจุบันระบบการเงินไทย มีสถาบันการเงินรูปแบบไหนบ้าง และมีบริการทางการเงินอะไรบ้างแล้ว เพื่อที่จะให้เราเห็นภาพได้มากขึ้น 

สถาบันการเงินไทยรูปแบบเดิม

ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งหมด 17 แห่ง 

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  
  3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 
  4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  
  5. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)   
  6. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)  
  7. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  
  8. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)  
  9. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 
  10. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)    
  11. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) 
  12. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)  
  13. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)  
  14. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
  15. ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  
  16. ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  17. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน)

บริษัทเงินทุน (1 แห่ง)

  1. บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)

  1. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอสเบ จำกัด
  2. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด
  3. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด

โดยที่ผ่านบริการฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ขอสินเชื่อ หรือบริการอื่นๆ สามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งจากสาขาของธนาคารพาณิชย์ ไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อที่เป็นตัวแทน ตู้เอทีเอ็ม โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต  ซึ่งปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเหล่านี้ได้อย่างสะดวกสบายตลอด 24 ชม.

ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนกลุ่มนี้ทั้งในยามปกติและภาวะฉุกเฉิน ด้วยกระบวนการอนุมัติที่รวดเร็ว และลดความยุ่งยากทางด้านเอกสารต่างๆ ได้ 

โดยมีผู้ให้บริการสินเชื่อ Non-Bank ที่ได้รับอนุญาตและเปิดทำการแล้ว 122 ราย เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต 7 ราย สินเชื่อ P-loan 75 ราย  Nano Finance 40 ราย ซึ่งมีสาขาจำนวน 9,248 สาขา ครอบคลุมอยู่ทุกจังหวัด 

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการสินเชื่อ Non-Bank ประเภท P-Loan และ Nano Finance จะเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในระดับตำบล-หมู่บ้าน ซึ่งอาจเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ และจะใช้พนักงานของบริษัทประจำสาขาลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและให้บริการแก่ลูกค้า สำหรับสินเชื่อ Pico Finance อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้ว 469 ราย

โดย Nano Finance คือ สินเชื่อรายย่อยให้กับผู้บริโภค ที่มีผู้เล่นทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank เข้ามาเล่นกัน เช่น แรทบิท แคช SEasyCash for Sellers สินเชื่อนาโนพร้อมใช้ ของธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เป็นต้น P-Loan คือ สินเชื่อส่วนบุคคล

ขณะที่การทำธุรกรรมโอนเงิน ชำระเงิน ก็มีระบบ e-Payment คือ ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างร้านค้าและผู้บริโภค สามารถทำได้แล้วใน Internet Banking คือ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ Mobile Banking คือ ตัวช่วยรูปแบบหนึ่งในการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งสามารถทำได้แบบออนไลน์ ทำที่ไหนเวลาใดก็ได้ เป็นรูปแบบบริการหนึ่งของยุคดิจิทัลและสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) 

หรือแม้แต่ระบบ Open Banking  คือ การสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลของตนที่มีอยู่ที่ธนาคารต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยเจ้าของข้อมูลเป็นผู้ให้สิทธิอนุญาตให้ธนาคารส่งข้อมูลของตนเองให้แก่บุคคลอื่น เช่น ผู้ให้บริการทางการเงินรายอื่น บริษัท FinTech หรือหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทั้งในแง่การให้บริการหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตนเองในฐานะเจ้าของข้อมูลได้ดีขึ้น และปลอดภัย โดยช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือ API

API หรือ Application Programming Interface เป็นวิธีการที่ซอฟท์แวร์สื่อสารถึงกันซึ่งทำให้การทำงานของแอปพลิเคชันต่าง ๆ เชื่อมต่อกับระบบได้อัตโนมัติ และเมื่อนำมาผนวกกับคำว่า “Open” เราจะได้คำว่า Open API คือ ให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อระบบกันได้ โดยที่แอปพลิเคชัน หรือบริษัทผู้ให้บริการแก่ประชาชนไม่ต้องติดต่อทำข้อตกลงกับบริษัทที่ถือข้อมูลมาก่อน เช่น การเชื่อมต่อของ Google เช่น อุปกรณ์ดิจิทัลที่ใช้ติดตามกิจกรรมการออกกำลัง เช่น Apple watch และ Fitbit แพลตฟอร์มให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอย่างเช่น Grab และ LINE Man ซึ่งใช้ข้อมูลที่ตั้งและแผนที่ผ่าน API ในการประเมินค่าโดยสาร การแสดงตำแหน่งผู้ใช้บริการ และการติดตามตำแหน่งของผู้ให้บริการแบบ Real-time และแพลตฟอร์มธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งใช้ข้อมูลพิกัดตำแหน่งสถานที่ของ Google เป็นหนึ่งในลักษณะสำคัญของการบริการ เช่น Grab LINE MAN เป็นต้น

e-Wallet ที่มีผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในไทยเป็นจำนวนมาก เช่น mPay ShopeePay True Money Rabbit LINE Pay AirPay เป๋าตัง เป็นต้น ที่ตอนนี้ก็ให้บริการทั้งเป็นกระเป๋าตัง เก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสแกน QR Code มีบริการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยวงเงินไม่มากเป็นหลักพันบาท หมื่นบาท 

ภาพส่วนใหญ่ตอนนี้สถาบันการเงินในไทย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากทั่วโลกประสบปัญหาโรคโควิด-19 ต้องลดการสัมผัส ซึ่งสถาบันการเงินในไทยต่างได้มีการปรับตัวและให้บริการในรูปแบบดิจิทัล

 

ธนาคารไร้สาขา Virtual Bank

ในปีนี้เองธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) มีการออกร่างหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ธนาคารไร้สาขา Virtual Bank โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นต้องมีโมเดลธุรกิจ ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน ขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน และให้บริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบ เน้นรายย่อยและ SMEs เปิดโอกาสให้ เป็นสถาบันการเงิน non-bank หรือกิจการร่วมค้า โดยธปท.อาจผ่อนผันสัดส่วนการถือหุ้นเป็นรายกรณี หากผู้ถือหุ้นมีคุณสมบัติเหมาะสมและสามารถสนับสนุนธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25%  และสามารถผ่อนผันได้ไม่เกิน 49% กำกับดูแลโดยแบงก์ชาติ

แหล่งข่าวในแวดวงธนาคารพาณิชย์ กล่าวกับ “Spotlight” ว่า “ ระบบการเงินไทยในปัจจุบันก็ได้มีการปรับตัวลงตามกระแส ยุค Digital Disruption มีการลดขนาดและจำนวนสาขาลง หันมาใช้เทคโนโลยีในการให้บริการทางการเงินมากขึ้น ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ หรือแม้แต่การลงทุน ทั้งซื้อหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ก็อยู่ใน Mobile Banking หรือ e-Wallet คงต้องดูรูปแบบ  Virtual Bank ที่จะออกมาจะแตกต่างจากที่มีให้บริการอยู่อย่างไร คงต้องรอดูความชัดเจนเรื่องของรูปแบบและนโยบายที่จะออกมา”

 

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมมีใครบ้าง?

เริ่มจาก 3 Big ที่ร่วมกันเป็นพันธมิตรขอจัดตั้งเป็น Virtual Bank คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 

ตามด้วย ยานแม่อย่าง SCBx  แสดงความสนใจจัดตั้ง Virtual Bank โดยนโยบายของทาง SCBx  ชัดเจนว่า ต้องการให้ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมให้บริการที่เชื้อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางให้กับลูกค้า ภายใน 3 ปี

โดยจะปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการดำเนินการ ด้วยกลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล ขยายการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างลูกค้าโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง

JAMART โดยกลุ่มเจมาร์ทสนใจและจะพัฒนาพร้อมกับทําแผนธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น Virtual Bank เพื่อก้าวสู่ผู้นำด้านค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี สู่ผู้นำโลกการเงินดิจิทัล นำเทคโนโลยีสนับสนุนโลกการเงินด้านฟินเทค โดยมี บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) เป็นพลังขับเคลื่อน เชื่อมโลกเทคโนโลยีสู่ผู้บริโภค เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เสมือนธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครบวงจร โดยมีพันธมิตรที่สำคัญอย่าง KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้มีการหารือเรื่อง Virtual Bank 

 

นายแบงก์กังวลปชช.ถูกมิจฉาชีพหลอก

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าวกับ  “Spotlight” ว่า Virtual Bank เชื่อว่านโยบายของแบงก์ชาติเป็นแนวทางที่ดี เพื่อที่ต้องการขยายบริการทางการเงินให้เข้ากับยุคดิจิทัล และเพื่อให้ประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงได้เข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเรื่องที่น่ากังวล คือ เรื่องการจะโดนมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง โดยเฉพาะยิ่งเป็น Virtual Bank และยิ่งเป็นประชาชนที่ยังใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยคล่อง อาจจะโดนหลอกลวงให้โอนเงิน หรือให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อทำธุรกรรมได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิจฉาชีพในปัจจุบันมีการปรับตัวปรับเปลี่ยนรูปแบบกลโกงไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันให้ความรู้

 

สุดท้ายแล้ว Virtual Bank ใครกันที่จะได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank ที่มีแต่ละรายต่างมีฐานลูกค้าของตัวเองจำนวนมาก สามารถต่อยอดในการให้บริการทางการเงินได้เพิ่มขึ้น เป็นศักยภาพและโอกาสให้กับตัวเอง หรือประชาชนคนไทยที่จะได้ใช้บริการทางการเงิน คนที่เข้าไม่ถึงสามารถเข้าถึงได้จริงหรือ? หรือจะเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่เข้าถึงอยู่แล้ว และมีความชำนาญการใช้เทคโนโลยีเป็นทุนอยู่แล้ว ไม่นับรวมปัญหากลโกงมิจฉาชีพที่มีข่าวไม่เว้นแต่ละวันที่ดูดเงินในบัญชีของประชาชนที่เก็บหอมรอมริบกันมาทั้งชีวิต!!!

 

advertisement

SPOTLIGHT