การเงิน

แบงค์ชาติ ชี้แจง กรณีS&Pลดเครดิต 4 ธนาคารพาณิชย์ไทย ยืนยันแข็งแกร่งทั้งระบบ

22 มี.ค. 65
แบงค์ชาติ ชี้แจง กรณีS&Pลดเครดิต 4 ธนาคารพาณิชย์ไทย ยืนยันแข็งแกร่งทั้งระบบ
ไฮไลท์ Highlight
ในขณะเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลให้การช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์และเสถียรภาพการเงิน ธปท. ได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของ ธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ระบบ ธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด ฐานะการเงินของระบบ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 20 โดยระหว่างปี2563-2564 ธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองเพิ่มเติม 4.3 แสนล้านบาท สะท้อนความระมัดระวังของ ธนาคารพาณิชย์ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงสูงข้างต้น ซึ่งปัจจุบัน เงินสำรองของระบบ ธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 8.9  แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio)

ธนาคารแห่งประเทศไทย  ชี้แจงกรณีเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคาร 4 แห่งของไทยลง ยืนยันว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังคงแข็งแกร่ง  เชื่อว่า ผลกระทบไม่มากนักและเป็นเพียงระยะสั้น โดยแบงค์ชาติยังติดตามสถานะของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอย่างใกล้ชิด

 

หลังจาก เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคาร 4 แห่งของไทยลง 1 ขั้น ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เป็น BBB/Stable จาก BBB+/Negative , ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เป็นBBB/Stable จาก BBB+/Negative , ธนาคารกรุงไทย(KTB) เป็น BBB-/Stable จาก BBB/Negative และ ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) เป็น BBB-/Stable จาก BBB/Negative

.

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย(ธพ.) 4 แห่ง และคงความน่าเชื่อถือไว้ 2 แห่ง ด้วยมีมุมมองว่าหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์ของทางการเอื้อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของไทยทำได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้มีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจำนวนมาก นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต อย่างไรก็ดีS&P จัดให้ธนาคารพาณิชย์ ทั้ง 4 แห่ง มีแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือคงที่ (stable outlook) เนื่องจากยังมีความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุนและมีเงินสำรองในระดับสูง

 

นายรณดล ชี้แจงว่า ในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวที่ยังไม่เท่าเทียม ธปท. มีมาตรการสนับสนุนให้ ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์มาต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลาย(countercyclical) ที่เหมาะกับบริบทของไทย และไม่ต่างไปจากแนวทางประเทศต่าง ๆ โดยจะเห็นได้ว่าลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือปรับลดลงจากที่เคยสูงสุดที่ร้อยละ 30 ของสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวม interbank) ในเดือนกรกฎาคม 2563 มาอยู่ที่ร้อยละ 14 ณ สิ้นปี 2564 และส่วนใหญ่ของลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการไปแล้วสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

 

ในขณะเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลให้การช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์และเสถียรภาพการเงิน ธปท. ได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของ ธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ระบบ ธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด ฐานะการเงินของระบบ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 20 โดยระหว่างปี2563-2564 ธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองเพิ่มเติม 4.3 แสนล้านบาท สะท้อนความระมัดระวังของ ธนาคารพาณิชย์ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงสูงข้างต้น ซึ่งปัจจุบัน เงินสำรองของระบบ ธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 8.9  แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio)

 

นอกจากนี้ธปท. ได้ทดสอบระดับเงินกองทุนของ ธนาคารพาณิชย์ (ระหว่างปี 2564-2566) ภายใต้ภาวะวิกฤต(stress test) มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าระบบ ธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงในอนาคต ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้รายได้และ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อของ ธพ. ปรับดีขึ้นเป็น ลำดับ

 

นอกจากนี้แบงค์ชาติยังได้สรุปคำชี้เป็นลักษณะ คำถามคำตอบ เพื่อให้เข้าใจถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย

Q1 : การที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ ธพ. ไทย 4 แห่งในครั้งนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อ ธพ. 

A1 : การปรับลด rating อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นของ ธพ. ปรับลดลงในระยะสั้น และต้นทุนการระดมทุนปรับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก เพราะ ธพ. ไทยพึ่งพาการระดมทุนผ่านเงินฝากเป็นสำคัญ ขณะที่การระดมทุนจากตลาดทุนหรือต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก รวมทั้ง ธพ. ได้ทยอยระดมทุนไว้แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับ ธพ. ยังมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง

 

Q2 : การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน การปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธพ. ต่อไปหรือไม่

การปรับลด rating ในครั้งนี้จะไม่กระทบต่อผู้ฝากเงิน และการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินของ ธพ. เพราะ ธพ. ยังมีฐานะแข็งแกร่ง จึงสามารถระดมทุนและปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวจากวิกฤตได้ ซึ่งจะทำให้คุณภาพสินเชื่อของ ธพ. ปรับดีขึ้นเช่นกัน

 

Q3 : ธปท. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป กับ ธพ. ที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตรอบนี้

ธปท. ได้ติดตามและกำกับดูแล ธพ. มาโดยตลอด (ongoing supervision) และได้มีการดูแลให้ ธพ. ทุกแห่งในระบบให้มีเงินกองทุน และสำรองอยู่ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตอยู่แล้ว

 

Q4 : ความเสี่ยงด้านเครดิตของ ธพ. จากแนวโน้มการฟื้นตัวของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นอย่างไร

คาดว่าความเสี่ยงด้านเครดิตของ ธพ. จะทยอยลดลง ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพในระยะสั้น รวมถึงมาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural issues) ทั้งการยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

 

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

S&P หั่นเครดิต 4 แบงก์ไทย เหตุเศรษฐกิจประเทศ "เปราะบาง" หุ้นร่วงหนัก-จ่อฉุดกำไรปีนี้หด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT