ข่าวเศรษฐกิจ

อดีตนายกฯ ‘อานันท์’ ชี้ ไทยต้องสร้างสังคมดี ยื้อคนอายุน้อยไม่ให้ย้ายประเทศ

27 พ.ค. 67
อดีตนายกฯ ‘อานันท์’ ชี้ ไทยต้องสร้างสังคมดี ยื้อคนอายุน้อยไม่ให้ย้ายประเทศ

‘อานันท์ ปันยารชุน’ ชี้ปัญหาหลักของประเทศไทยคือการขาดโอกาส วิกฤตศรัทธาในระบบการเมือง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนอายุน้อยไม่เห็นโอกาสในการสร้างชีวิตในประเทศ นิยมย้ายไปต่างประเทศ หรือไม่มีครอบครัวและไม่มีลูก ทำให้ประเทศเสี่ยงขาดมันสมองและแรงงานสร้างชาติในอนาคต

ในวันที่ 24 พ.ค. สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนหรือ PDA ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย" ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ห้อง Meeting Room 110 A-C ชั้น 1 โดยในงานดังกล่าวมี คุณ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นองค์ปาฐกถานำ กล่าวเปิดงาน ก่อนที่จะมีการเสวนา “เราจะร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้อย่างไร?” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA), คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทบเบฟเวอเรจ, นพ. พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้บรรยาย และคุณประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินรายการ

อดีตนายกฯ ‘อานันท์’ ชี้ไทยต้องสร้างโอกาส โอบรับความเห็นต่าง 

จากคำกล่าวเปิดงาน คุณอานันท์ ชี้ว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่ที่เป็นความท้าทายของไทยในอนาคตคือปัญหาการขาดโอกาส ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการไม่ยอมรับความเห็นต่าง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มองไม่เห็นโอกาสในการใช้ชีวิตในประเทศไทย และอาจจะเลือกย้ายไปอยู่ต่างประเทศ และเลือกที่จะไม่สร้างครอบครัวหรือมีลูก

การที่รัฐบาลหรือผู้อำนาจไม่ยอมปล่อยวาง ยังหวงอำนาจ จนเลือกที่จะยับยั้งหรือหรือห้ามไม่ให้ประชาชน นักศึกษา และเยาวชนแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง และปัญหาความเหลื่อมล้ำ การไม่ให้โอกาสต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดเสื่อมศรัทธาในระบบการเมือง ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

วิกฤตศรัทธานี้เป็นอันตรายมาก เพราะสังคมจะมีความสุข สงบสุข และมั่นคงได้ เมื่อประชาชนเชื่อมั่นและเชื่อถือในระบบการเมืองเท่านั้น ซึ่งควรจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งต้องยอมรับความเห็นต่าง แต่ไม่ใช่ว่าจะไปเลียนแบบ นำระบบประชาธิปไตยของต่างประเทศเช่น สหรัฐฯ หรือว่าอังกฤษ มาใช้ เพราะประชาธิปไตยต้องเหมาะกับบริบทประเทศไทย 

ในความเห็นของคุณอานันท์ ในอนาคต สังคมไทยจะดีได้ คือต้องเป็นสังคมที่ประชาชนมีความสุขได้ถ้วนหน้าแบบไม่แบ่งชั้นวรรณะ ซึ่งจะมีได้ด้วยการยึดหลักความพอเพียง และการเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสในการประกอบอาชีพต่อไป

นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็ควรต้องคิดถึงสังคมในภาคส่วนอื่น ต้องช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาส ช่วยเหลือสังคม ไม่ดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว และเลิกการทำธุรกิจแบบผูกขาด การใช้คอนเนคชั่น และการจ่ายเงินให้กับพรรคการเมือง

ถ้าหากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างสังคมไทยที่เต็มไปด้วยโอกาสในการเติบโตได้ สังคมไทยก็จะดำเนินไปในทิศทางที่ดี ประชาชนการศึกษาสูงที่มีความรู้ความสามารถก็จะเลือกอยู่ที่ประเทศไทย ไม่ออกไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอื่นๆ

 

ภาคเอกชนไทยและบทบาทในการพัฒนาสังคม

นอกจากภาครัฐที่มีหน้าที่ต้องใช้เงินภาษีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยตรงแล้ว อีกภาคส่วนที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมไม่แพ้กันคือภาคการเอกชน นำโดยบริษัทใหญ่ต่างๆ ซึ่งก็รวมไปถึง บริษัท ไทยเบเวอเรจ จำกัด มหาชน ที่ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมากมายเพื่อเพิ่มโอกาส สร้างรายได้ให้กับชุมชน

หนึ่งในโครงการดังกล่าวก็คือการเป็นแกนนำจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยน้อมนำพระราโชบายในการสืบสาน รักษา และต่อยอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนา มาใช้ในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ผ่าน 3 กลุ่มงานคือ การเกษตร การแปรรูปสินค้า และการท่องเที่ยวโดยชุมชน

โดยบริษัท ประชารัฐสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม จะเป็นบริษัท “ส่วนกลาง” ที่มีบริษัทเครือข่าย “ประชารัฐสามัคคี” ใน 76 จังหวัดมาถือหุ้นบริษัทละ 1% และมีบริษัทเอกชนถือหุ้นบริษัทละ 1% รวมเป็น 100% ทำให้การดำเนินงานของบริษัทนี้เป็นในรูปแบบ bottom-up 

คุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่าการทำงานนี้เป็นการทำงานสานต่อจากคุณแม่คือ คุณหญิง วรรณา สิริวัฒนภักดี ที่ได้ริเริ่มงานเพื่อสังคมไว้ และมีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมากมาย รวมถึง คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ที่มีผลงานทำงานเพื่อสังคมมาตลอด 50 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุมกำเนิด และเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์

นอกจากนี้ คุณฐาปน ยังฝากไว้อีกว่า ในฐานะคนจากภาคเอกชน สิ่งหนึ่งที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลูกฝังให้แก่ประชาชนคือ ทักษะในการรู้คุณค่าของเงิน และการจัดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออม หรือการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต รวมไปถึงการเกษียณอายุ ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการผสานแนวคิดเรื่องความพอเพียง การรู้จักประมาณตน ไม่ใช้จ่ายเกินความสามารถจนเกิดความเดือดร้อน

เอกชนทำได้มากกว่า CSR ต้องดึงพนักงาน-ลูกค้ามีส่วนร่วม

ในท้ายการบรรยาย คุณ มีชัย ยังได้กล่าวถึงบทบาทเพิ่มเติมของภาคเอกชนที่สามารถทำได้นอกเหนือจากการทำ Corporate Social Responsibility หรือ CSR ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมในนามของบริษัท

คุณมีชัยมองว่านอกจาก CSR แล้ว บริษัทควรยังส่งเสริมให้บุคลากรในบริษัทมี ISR หรือ Individual Social Responsibility คือการที่ทุกคนในบริษัทตั้งแต่หัวหน้าไปจนถึงลูกน้องระดับเล็กมีจิตสำนึกและแนวคิดเพื่อสังคม ควรจะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตและปฏิบัติงานอย่างไรจึงจะส่งผลดีต่อสังคมมากที่สุด

นอกจากนี้ เอกชนและภาคส่วนอื่นๆ อาจมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ CSR ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก เช่น Citizen Social Responsibility, Customer Social Responsibility และ Children Social Responsibility ซึ่งเป็นการดึงให้ประชาชน ลูกค้า และปลูกฝังให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม

ในส่วนของลูกค้า คุณมีชัยยกตัวอย่างบริษัท เชลล์ ที่มีการแบ่งรายได้ให้กับกิจการเพื่อสังคม ซึ่งบริษัทเอกชนในไทยอาจทำได้ด้วยการหักรายได้ในการจำหน่ายสินค้าเพื่อบริจาคให้กับหน่วยงานพัฒนาสังคม เป็นการทำให้ผู้บริโภคได้มีส่วนช่วยสังคมในทางอ้อม

ในส่วนของเยาวชนหรือเด็ก อาจเริ่มจากการศึกษาในโรงเรียน เช่น ในโรงเรียนมีชัยพัฒนา ในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มุ่งสอนให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ขาดโอกาสต่างๆ ทั้งการให้เด็กอดข้าวทุกเย็นวันเสาร์เพื่อให้เข้าใจถึงความหิว ให้เด็กนั่งวีลแชร์ทุกเดือนเพื่อให้เข้าใจถึงความลำบากของผู้พิการ รวมไปถึงให้ทำธุรกิจ ทำสินค้าการเกษตรเพื่อนำไปจำหน่ายหารายได้ เพื่อไปช่วยเหลือผู้อื่น และสังคมที่ตนเองอยู่

โดยกรณีตัวอย่างหนึ่งก็คือการที่ เด็กนักเรียนมีชัยพัฒนาได้ร่วมกันหาทุนการศึกษาจำนวน 1.6 ล้านบาทเพื่อส่งรุ่นพี่ที่พิการทางการได้ยินได้เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมหาวิทยาลัยจะยกเว้นค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งตลอด 4 ปี จากอัตราปกติ แล้วผู้บริจาคจะให้อีกครึ่งหนึ่ง

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT