ข่าวเศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยพ.ย.ลดลงติดต่อเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน

7 ธ.ค. 66
เงินเฟ้อไทยพ.ย.ลดลงติดต่อเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลง 0.44% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐ ทำให้สินค้ากลุ่มพลังงานลดลง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 

ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 เท่ากับ 107.45 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.92 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.58%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 เท่ากับ 107.45 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.92 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง  0.44% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน

ส่วนสาเหตุสำคัญยังคงเป็นมาตรการภาครัฐด้านพลังงาน ที่ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 นอกจากนี้ เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ
ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.58% 

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย
ลดลงร้อยละ 0.31 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้ที่ลดลง 0.44%  มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

  • หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.87%  

    สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ราคาลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า

        นอกจากนี้ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ ราคาลดลงต่อเนื่อง

        สำหรับสินค้าที่ราคาสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 อาทิ แก๊สโซฮอล์ 95 E85 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน เครื่องแบบนักเรียน แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน อาหารสัตว์เลี้ยง สุรา และเบียร์    

  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.20%

    ตามราคาสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (แป้งข้าวเจ้า ขนมอบ) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) รวมทั้ง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน ผักสด (คะน้า ขิง มะนาว ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ)

        ปริมาณยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากบางพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนที่ผ่านมา และผลไม้สด (ทุเรียน แตงโม ส้มเขียวหวาน) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้า ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด ราคาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะเนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากสต็อกคงเหลือมีปริมาณมาก นอกจากนี้ น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และมะขามเปียก รวมถึงผักและผลไม้บางประเภท อาทิ ต้นหอม แตงกวา ถั่วฝักยาว ลองกอง ชมพู่ มะม่วง ราคาปรับลดลง  

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 1.41% ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 ที่ 1.0 – 3.0%

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมา
ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า
น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565
อยู่ระดับสูงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง

โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0 – 1.7%  และค่ากลาง 1.35% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กระทรวงพาณิชย์ จึงคาดการณ์ว่า จะอยู่ระหว่าง ติดลบ 0.3 – 1.7% และค่ากลางอยู่ที่ 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย 

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 นั้น

มีปัจจัย ดังนี้

  1. มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 
  2. แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด 
  3. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น 
  4. หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม 

ปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวดีขึ้น ดังนี้

  1. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 
  2. อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง 
  3. เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 
  4. การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ

 

advertisement

SPOTLIGHT