ข่าวเศรษฐกิจ

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย Soft Power พลังโน้มน้าวใจที่แข็งแกร่ง

31 พ.ค. 66
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย Soft Power พลังโน้มน้าวใจที่แข็งแกร่ง

หลังจากที่ มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาวไทย นำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปรับประทานบนเวที Coachella เทศกาลดนตรีระดับโลกที่สหรัฐฯ คำว่า “Soft Power” (ชอฟต์พาวเวอร์) ถูกกลับมาพูดอย่างแพร่หลายอีกครั้งในสังคมไทย

Soft Power คือ การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ

หากจะยกตัวอย่างชอฟต์พาวเวอร์ที่เราเห็นภาพที่สุด คงหนีไม่พ้น “เกาหลีฟีเวอร์”                  ประเทศเกาหลีใต้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้ชอฟต์พาวเวอร์ ด้านอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ไม่ว่าจะเป็น วงการเคป๊อป หรือซีรีย์เกาหลี ที่ได้การยอมรับจากสากลและครองใจในหมู่แฟนคลับชาวไทย และยังสามารถผลิตเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลขยายสู่ธุรกิจอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

จากการจัดอันดับของ Global Soft Power Index 2565 พบว่า สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีชอฟต์พาวเวอร์แข็งแกร่งที่สุด ตามมาด้วยอังกฤษ เยอรมนี และจีน ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ซึ่งตกลงมา 2 ลำดับจากปี 2564

ในปี 2565 ประเทศไทยเคยได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยชอฟต์พาวเวอร์ จนสำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น

  • สินค้าวัฒนธรรม สร้างเงินมากกว่า 1.45 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.9% ของ GDP
  • การส่งออกอาหารไทยกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก
  • ผ้าไทยกว่า 8.5 พันล้านบาท
  • โขน นวดไทย และโนราห์ ได้รับการประกาศจากยูเนสโก และขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม
  • มีการถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศในไทยจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมการผลิต Content ของไทย สามารถสร้างรายได้ราว 200,000 ล้านบาท/ปี เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้มีการจัดประชุมหารือกับ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง และ ชอฟต์พาวเวอร์ของไทยก้าวสู่สากลและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด ด้วยการใช้ กลยุทธ์ 5F

  • อาหารไทย (Food)
  • ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion)
  • ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ (Film)
  • มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัว (Fighting)
  • เทศกาลประเพณีไทย (Festival)

นับว่าเป็นการดึงเอกลักษณ์ประจำชาติของประเทศไทย มาพัฒนาและปรับใช้ให้มีความทันสมัยเพื่อดึงดูดสายตาของสากลมากขึ้น

โดยประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2566 อยู่ที่ 25 ล้านคน คาดเป็นนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคน จากปีก่อนที่ 11.8 ล้านคน โดยใช้โมเดล BCG Tourism (Bio-Circular-Green) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเชิงคุณภาพเเละยั่งยืน เเละสามารถยกระดับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม

ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้กล่าวเสริมว่า “การสร้าง Soft power ของไทย เราเน้นไปที่การท่องเที่ยวไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคสินค้าทางอ้อมผ่านคอนเทนต์ไทย จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ช่วยสร้าง Soft power ไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งสินค้าต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ก็มาจากผลิตผลจากภาคอุตสาหกรรมไทย จึงเป็นที่มาที่เราต้องการมาหารือและสร้างความร่วมมือกับ ส.อ.ท. ให้เกิดขึ้นในวันนี้” 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT