สงกรานต์ปีนี้ ยังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้นักท่องเที่ยวหันเดินทางระยะใกล้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวแทนเพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด และลดค่าใช้จ่ายลง ลองมาดูว่า 5 จังหวัดไหนใกล้กรุงเทพที่เป็นยอดนิยมของขาเที่ยวช่วงสงกรานต์ปีนี้
ในเทศกาลท่องเที่ยวสงกรานต์ของไทยปีนี้ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งต่อเนื่อง แต่ปีนี้ก็อนุญาตให้สามารถจัด "งานสงกรานต์" ได้ภายใต้เงื่อนไขของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาลกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ประสานงานกันจัดงานสงกรานต์ปีนี้ในธีมงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” สืบสานวัฒนธรรมผสานวิถีใหม่
ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 จำนวน 5 วันระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2565 จะมีจำนวนการเดินทางภายในประเทศ 3.34 ล้านคน และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้ หมุนเวียนในพื้นที่การท่องเที่ยวประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมอยู่ประมาณ 41%
สำหรับรัฐบาลขอให้งดการสาดน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงโควิด แต่ไม่ได้ห้ามเดินทางกลับภูมิลำเนาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ เยี่ยมญาติ ท่องเที่ยวไป จึงคาดว่าบรรยากาศโดยภาพรวมน่าคึกคักในหลายพื้นที่
ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังเตรียมจัดกิจกรรมเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ ประจำปี 2565 ชื่อ สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด กรุงเทพมหานคร และ Songkran Music Heritage Festival 2022 จังหวัดสงขลา และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ขณะที่ด้วยสถานการณ์การติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว พบว่า นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางระยะใกล้ นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และปรับลดค่าใช้จ่ายท้ังในการท่องเที่ยว พบว่า คนไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์มากที่สุด คือ จังหวัดใกล้เคียง 34% เที่ยวข้ามภาค 32%
นอกจากนี้ ภูเก็ต ยังได้รับความสนใจ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสวยงาม เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน อีกทั้งสายการบินภายในประเทศและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักจัดโปรโมชั่นราคาที่คนไทยเอื้อมถึงด้วย
สำหรับการคาดการณ์จำนวนการเดินทางและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในช่วงสงกรานต์ วันที่ 13-17 เมษายน 2565 แบ่งเป็น
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราการเข้าพัก 55% จำนวนนักท่องเที่ยว 754,380 คน-ครั้ง และมีรายได้ 1,300 ล้านบาท
-ภาคกลาง อัตราการเข้าพัก 53% จำนวนนักท่องเที่ยว 735,166 คน-ครั้ง และมีรายได้ 1,470 ล้านบาท
-ภาคตะวันออก อัตราการเข้าพัก 41% จำนวนนักท่องเที่ยว 560,980 คน-ครั้ง และมีรายได้ 2,300 ล้านบาท
-ภาคใต้ อัตราการเข้าพัก 39% จำนวนนักท่องเที่ยว 445,399 คน-ครั้ง และมีรายได้ 2,780 ล้านบาท
-ภาคเหนือ อัตราการเข้าพัก 37% จำนวนนักท่องเที่ยว 385,468 คน-ครั้ง และมีรายได้ 1,350 ล้านบาท
-กรุงเทพมหานคร อัตราการเข้าพัก 27% จำนวนนักท่องเที่ยว 458,907 คน-ครั้ง และมีรายได้ 1,800 ล้านบาท
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 มีมติให้สามารถจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์และสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้
ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยเน้นย้ำการปฏิบัติตามประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์แต่ละภูมิภาค เช่น รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยที่สื่อถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี ในการนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โดย ททท. เตรียมจัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ช่วงระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี โดยคนไทยโบราณให้ความสำคัญว่า วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันผู้สูงอายุ วันที่ 14 เมษายน กำหนดให้เป็นวันครอบครัว และวันที่ 15 เมษายน ถือว่าเป็นวันเถลิงศก เริ่มจุลศักราชใหม่ตามความเชื่อไทยโบราณ
จึงเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยควบคู่กับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง นำไปสู่การเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมุมมองใหม่ที่มีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจ ในปีท่องเที่ยวไทย 2565 หรือ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ตลอดจนสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการความปลอดภัยของสถานประกอบการตามมาตรฐาน SHA
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. เดินหน้าพลิกโฉมปีท่องเที่ยวไทย 2565 ด้วย Soft Power คือ 5F : 4M คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master และ Meta ซึ่งการจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ Festival นั้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสร้างสีสันให้แก่การเดินทางภายในพื้นที่ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ททท. ได้พิจารณาปรับแผนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข โดยเน้นนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นและการแสดงดนตรี อาทิ โขน และดนตรี ร่วมสมัย พร้อมจัดสรรโซนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ควบคู่กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทยให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง
สำหรับ “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” พื้นที่ที่ ททท. ดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 งานหลัก ได้แก่ งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 และ งาน Songkran Music Heritage Festival 2022 ซึ่งแต่ละพื้นที่
มีเอกลักษณ์และกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ณ พระอารามหลวง 10 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
ถ่ายทอดงขนบธรรมเนียมประเพณีสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด” เนรมิตบรรยากาศปีใหม่ไทย เติมความสุขประทับใจ ผ่านกิจกรรมการสรงน้ำพระขอพร เสริมสิริมงคล ถ่ายภาพกับแลนด์มาร์ก พร้อมร่วมสนุกวิถีไทยกับ AR สงกรานต์กับน้องสุขใจ และเล่นเกม E-Stamp รับของที่ระลึกจาก ททท.
กิจกรรมไฮไลท์ : วันที่ 13-15 เมษายน 2565 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อาทิ การแสดงโขน ตำนานนางสงกรานต์ การแสดง
ลำตัดแม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์ การแสดงชุดเภรีก้องหล้า เบิกฟ้า มหาสงกรานต์ การแสดงหุ่นละครเล็ก ระบำเทพบันเทิง การแสดงโขนสมมติอยุธยา และการละเล่นไทย รวมถึงการสาธิต DIY งานหัตกรรมไทย
จัดขึ้นในวันที่ 12-21 เมษายน 2565 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณเมืองเก่า จังหวัดสงขลา และวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พาสัมผัสวัฒนธรรมผสานการแสดงดนตรี ภายใต้แนวคิด “Songkran Music Heritage 2022” สะท้อนอัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาไทย ร่วมกับนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่มรดกโลกอันทรงคุณค่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และส่งต่อไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป
กิจกรรมไฮไลท์ : จังหวัดสงขลา ล่องใต้สืบสานประเพณีไทยด้วยการแต่งกายผ้าประจำถิ่นเข้าร่วมงาน
สวมผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก ทำกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ร่วมกิจกรรมสาธิตอาหารท้องถิ่น อาทิ ยำสายเกาะยอ ข้าวยำปักษ์ใต้ ขนมไข่เตาถ่าน เต้าคั่ว พร้อมชมการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โนรา และการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดัง ก่อนชื่นชมบรรยากาศการประดับตกแต่งเพดานถนนจากกรงนกหัวจุก ว่าวธงสามเหลี่ยม และโคมไฟจีนประดับเฉดสีตามลูกปัดโนรา สะท้อนกลิ่นอายเมืองเก่าสงขลา พร้อมแวะเช็กอินถ่ายภาพแลนด์มาร์กจากผ้าทอเกาะยอ และเดินเที่ยวด้วย Mapping Story เล่าเรื่องเมืองสงขลาไปกับตัวการ์ตูนน้องนางเงือกมิลา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการออกร้านขายอาหารและสินค้าประจำถิ่นของจังหวัดสงขลาให้ได้เลือกซื้อและอุดหนุนกันด้วย
กิจกรรมไฮลท์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าขานเรื่องราวแห่งเมืองมรดกโลก รณรงค์แต่งชุดไทยเข้าร่วมทำกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย ชมสาธิตงานหัตถกรรม สานปลาตะเพียน เพลิดเพลินกับการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โขน ลิเก และการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดังของประเทศไทย ไม่เพียงเท่านั้น ยังขอเชิญชวนออเจ้ามาถ่ายภาพและร่วมจัดทำ Visual idea Decoration โดยนำช้างและปลาตะเพียนสาน สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ มาตกแต่งบริเวณกำแพงอุโมงค์ และออกสำรวจเรื่องราวเมืองอยุธยาไปพร้อมกับมาสคอส น้องชื่นใจและปลาตะเพียน ก่อนชิม ช้อป อาหารประจำถิ่นและสินค้าเด่นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเต็มอิ่ม
นอกจากนี้ ททท. ยังได้สนับสนุนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ในพื้นที่เอกลักษณ์ทั่วประเทศ อาทิ งานไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -17 เมษายน 2565) , งาน Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น และภูเก็ต (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -15 เมษายน 2565),
งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2565 จังหวัดสมุทรปราการ (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2565),งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2565 จังหวัดขอนแก่น (จัดขึ้นระหว่างวันที่วันที่ 11-15 เมษายน 2565) งานประเพณีแห่ดอกไม้
ท้ายสงกรานต์ และของดีตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน) 2565 เป็นต้น
ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ทั่วประเทศมีการจัดกิจกรรมรับปีใหม่ไทยที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ อาทิ กิจกรรม“น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” จังหวัดเชียงใหม่ (จัดขึ้นวันที่ 12 เมษายน 2565 และสามารถรับน้ำทิพย์ปี๋ใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2565), กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุเชิงชุม จังหวัดนครพนม (ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2565), งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2565 (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 16 เมษายน 2565), งานย้อนอดีตมหาสงกรานต์กรุงเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565)
เพื่อนำพานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมสัมผัสบรรยากาศและสืบสานประเพณีไทย พร้อมส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบ Local Experience ที่จะช่วยเติมเต็มคุณค่าเหนือราคา ตอกย้ำภาพลักษณ์วัฒนธรรมไทยให้อยู่ในใจ (Top of Mind) ของนักท่องเที่ยว และต่อยอดสู่การเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างยั่งยืน (Preferred Destination) ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.ค้าปลีกเล็งอัดโปร ซื้อ 1 แถม 1 กระตุ้นใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ '65 นี้ หวั่นคนเก็บเงินใช้เดินทาง ฉุดจับจ่ายซบเซา
2."ถนนข้าวสาร" งดเล่นน้ำสงกรานต์ ผู้ประกอบการ ชี้มาตรการรัฐคุมเข้ม ต้องแบกความเสี่ยง หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย
3.เงินสะพัดสงกรานต์ปีนี้ลดลงต่อ สาเหตุหลักคือ ของแพง ค่าครองชีพสูง ประชาชนประหยัด