สินทรัพย์ดิจิทัล

ปิดคดีปล้นบิตคอยน์ครั้งประวัติศาสตร์ สืบนาน 10 ปี ของกลางกว่าแสนล้าน

8 พ.ย. 65
ปิดคดีปล้นบิตคอยน์ครั้งประวัติศาสตร์ สืบนาน 10 ปี ของกลางกว่าแสนล้าน

ด้วยความที่คริปโทเคอร์เรนซี เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกเข้ารหัส และไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนในการทำธุรกรรม จึงมักถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ใต้ดินต่างๆ เช่น ลักลอบซื้อขายยาเสพติด อาวุธและสิ่งผิดกฎหมาย ฯลฯ เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่จับมือใครดมไม่ได้

 

โจรกรรมคริปโท



เหตุการณ์โจรกรรมที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2012 จึงเป็นการโจรกรรมระดับ ‘ไม่ธรรมดา’ เพราะเป็นปฏิบัติการปล้น ‘Silk Road’ เว็บมืดชื่อดังที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปัจจุบันถูกทลายไปแล้ว) โดยการสร้างบัญชีปลอม วางระบบการทำธุรกรรมที่ซับซ้อนเพื่อดูดบิตคอยน์จากเว็บมืด จำนวนกว่า 50,000 บิตคอยน์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ (1.26 แสนล้านบาท) กระทำการโดยชายผู้มีโฉมหน้าหนึ่งเป็น ‘นักลงทุนรายใหญ่ผู้มีข้อมูลเชิงลึก’ ที่ชอบอวดรูปกับเรือยอตช์และเครื่องบินบนโซเชียลมีเดีย

แม้การกระทำความผิดจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้เวลาในการสืบค้นนานกว่า 10 ปี จนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 พ.ย.) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ว่า ได้ยึดบิตคอยน์ที่ถูกโจรกรรมจำนวน 50,676 เหรียญ คิดเป็นมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ ในระหว่างการบุกค้นบ้านพักของ ‘นาย James Zhong’ ในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยนาย Zhong เป็นผู้โจรกรรมบิตคอยน์ดังกล่าวมาจากแพลตฟอร์ม Silk Road ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสิ่งผิดกฎหมายโดยใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการทำธุรกรรม

 

ปล้นคริปโท



นับเป็นการยึดทรัพย์สินดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ หลังจากที่เคยยึดคริปโทฯ มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ที่ถูกจารกรรมจากแพลตฟอร์มบิทฟิเน็กซ์ (Bitfinex) ในปี 2016

โดยที่บ้านพักของนาย Zhong นั้น นอกจากเงินสด และโลหะมีค่า เช่น ทองคำแท่ง เงินแท่ง แล้ว ยังพบ ตู้เซฟอำพรางแบบฝังพื้นบ้าน และคอมพิวเตอร์จิ๋วแบบ Single-board ที่พันอยู่ในผ้าห่ม แอบอยู่ในถังป๊อปคอร์น แล้วซ่อนไว้ในตู้เสื้อผ้าในห้องน้ำ

นาย Damian Williams รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าวว่า “คดีนี้แสดงให้เห็นว่า เราจะไม่ละลดความพยายามในการตามหาเงิน ไม่ว่าจะถูกซ่อนอย่างเชี่ยวชาญแค่ไหน แม้จะอยู่ในแผงวงจรที่แอบอยู่ใต้ถังป๊อปคอร์นก็ตาม”

 

คดีปล้นคริปโท



ด้านนาย Tyler Hatcher ผู้ตรวจการพิเศษจากสำนักงานตรวจสอบคดีอาญาในสังกัดกรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) ระบุวิธีการโจรกรรมที่นาย Zhong ใช้ว่า ได้สร้างบัญชีปลอมขึ้นมา 9 บัญชีบนแพลตฟอร์ม Silk Road เพื่อปกปิดตัวตน จากนั้นจึงระดมทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่องกว่า 140 รายการภายในเวลาไม่นาน เพื่อปั่นป่วนให้ระบบโอนบิตคอยน์เข้าสู่บัญชีของเขาประมาณ 50,000 เหรียญ และจากนั้นนายจงได้โอนบิตคอยน์เหล่านี้เข้าไปในวอลเล็ทต่าง ๆ จำนวนมากของเขาเพื่ออำพรางตัวตน

บนโลกโซเชียล นายจงอ้างว่า เขาคือประธานและซีอีโอของ JZ Capical ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาตั้งขึ้นเองและจดทะเบียนในรัฐจอร์เจียเมื่อปี 2014 โดยโปรไฟล์บน Linkedin ของเขาระบุว่า เขาเป็น ‘นักลงทุนรายใหญ่ผู้มีข้อมูลเชิงลึก’

นาย Zhong รับสารภาพว่า ตนเป็นผู้ทำหนึ่งในธุรกรรมฉ้อโกงที่ถูกกล่าวหา ซึ่งระวางโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี โดยศาลสหรัฐจะตัดสินคดีนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

 

สำหรับเว็บไซต์ Silkroad ที่ถูกโจรกรรมนั้น เป็นตลาดซื้อขายสินค้าผิดกฎหมายบนเว็บมืด ในช่วงปี 2011 - 2013 ใช้บิตคอยน์เป็นสื่อกลางหลักในการชำระเงิน ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวได้ปิดตัวลงหลังจาก Ross Ulbricht ซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต

 



ที่มา : DOJ, CoinDesk, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT