ธุรกิจการตลาด

ไทม์ไลน์ หุ้น itv … ยังเป็นหุ้นสื่อหรือไม่?

12 มิ.ย. 66
ไทม์ไลน์ หุ้น itv … ยังเป็นหุ้นสื่อหรือไม่?

ประเด็นร้อน! itv ที่รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ที่รายงานการประชุมระบุว่า ปัจจุบัน itv ยังดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ และเสียภาษีนิติบุคคลตามปกติ แต่ไม่ตรงกับคลิปเสียงที่บันทึกในการประชุมที่มีผู้ถือหุ้นถามถึง itv ยังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ ซึ่งในคลิปเสียงประธานการประชุม กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน

การดำเนินธุรกิจสื่อของ itv สำคัญอย่างไร สำคัญตรงที่ว่า คุณทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้น itv ที่ระบุว่า ถือในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และขณะนี้ได้มีการโอนให้กับทายาทไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่นายพิธาเผยว่า มีความพยายามจะฟื้นธุรกิจ itv ขึ้นมา ซึ่งตามกฎหมายการเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัคร ส.ส.ห้ามถือหุ้นสื่อ 

หุ้น itv จึงเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาทันที เพราะดูเหมือนจะมีความพยายามสกัดกั้นการขึ้นเป็นนายก หรือการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา   

ทำให้เมื่อช่วงเช้า ทางด้าน INTUCH ต้องรีบแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อช่วงเช้าถึง กรณีที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นอยู่ 52.92% 

ตามที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่สนใจต่อสาธารณชนจำนวนมากในขณะนี้ บริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดีงกล่าวที่เกิดขึ้น และหากมีประเด็นใดๆ ที่จะต้องบดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

หลายคนคงสงสัย itv ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องหยุดดำเนินการ เกิดอะไรขึ้นกับ itv กันแน่

วันนี้ SPOTLIGHT ได้รวบรวมมาเล่าให้ฟัง ดังนี้

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อโทรทัศน์ โดยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการสัมปทานสถานีโทรทัศน์ระบบ  UHF จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 ช่องสถานี ทางช่อง 26 ต่อมาเปลี่ยนเป็นช่อง 29 โดยใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เดิมชื่อ บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 9 พฤษภาคม 2538 โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่นๆ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อ 20 ตุลาคม 2541 และปัจจุบัน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

การก่อตั้ง itv เพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เสรี ในระบบยูเอชเอฟ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นกลาง 
โดย itv ได้รับสัมปทาน 30 ปี บริหารสถานีโทรทัศน์ ITV  จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งได้เริ่มออกอากาศครั้งแรก 1 ก.ค. 2539 ต้องมีสัดส่วนรายการข่าว/สาระ 70% บันเทิง 30% 

สรุปกลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับสัมปทานและได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินงานบริหารสถานีฯ เป็นเวลา 30 ปี ค่าสัมปทาน 25,200 ล้านบาท 

พอมาถึงปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษกิจไทย หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ส่งให้ itv ขาดทุนอย่างหนัก ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใหญ่ ได้เปลี่ยนแปลงประธานกรรมการไอทีวี จากนายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นนายประกิต ประทีปะเสน อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.ไทยพาณิชย์ 

และมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาการขาดทุน โดยต้องการอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ โดยผลักดันให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายผู้ถือหุ้น และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปี 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ขายหุ้น itv ให้ กลุ่ม ชิน คอร์ปอเรชั่น เข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงหนี้เป็นทุน มีสัดส่วน 55% โดยมอบสิทธิ์การบริหารให้กับชินคอร์ป

ช่วงเวลาที่กลุ่มชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรเข้าถือหุ้นใหญ่ในไอทีวี เป็นเวลาเดียวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของพรรคไทยรักไทย ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และในปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี   

การดำเนินธุรกิจของ itv ในปี 2545 โดยชินคอร์ป เพิ่มทุน itv เป็น 1,200 ล้านบาท และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2547 ชินคอร์ป ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ ขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า ช่อง 3 สัมปทาน 30 ปี (2533-2563) 3,207 ล้านบาท ปีละ 107 ล้านบาท / ช่อง 7 (BBTV) สัมปทาน 25 ปี (2541-2566) 4,670 ล้านบาท ปีละ 187 ล้านบาท / ททบ. 5 โมเดิร์นไนน์ทีวี และ สทท. ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เนื่องจากเจ้าของคลื่นความถี่ดำเนินการออกอากาศเอง) 

โดยคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 30 มกราคม 2547 ลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ ลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุญาตให้สถานีฯ แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง จาก 70% ต่อ 30% เป็น 50% ต่อ 50% และวินิจฉัยให้รัฐ จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทฯ เป็นเงิน 20 ล้านบาท เนื่องจาก สปน. ทำผิดสัญญา มิได้ให้ความคุ้มครองแก่บริษัทฯ และสถานีฯ ตามที่ได้ทำสัญญาสัมปทานไว้ 

ในขณะเดียวกัน กองทัพบกต่อสัญญาฉบับใหม่กับ ช่อง 7, อสมท อนุญาตให้ยูบีซี มีโฆษณาได้ และกรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย


สปน.ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 476/2547 ในประเด็นที่มีคำวินิจฉัย มีการระบุให้แก้ไขในสัญญาร่วมการงาน เรียกร้องให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาเพิกถอนคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ผิดเจตนารมณ์ และ สปน.ระบุว่า อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเกินขอบเขตอำนาจ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน. ลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ และให้ สปน. จ่ายค่าชดเชยให้บริษัทฯ

จากคำพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้ สถานีฯ ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ ต้องปรับสัดส่วน รายการข่าวและสาระ ต่อรายการบันเทิง กลับไปเป็น 70% ต่อ 30% 

นอกจากนี้ itv ยังต้องเสียค่าปรับ จากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็น 10% ของค่าสัมปทานในแต่ละปี โดยคิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่ เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นค่าปรับทั้งสิ้น ประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท

โดยศาลปกครองกลาง ได้ให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาว่า การที่อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้ลดค่าสัมปทาน มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานของรัฐ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของอนุญาโตตุลาการ itv จึงได้ยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด

หลังจากนั้น ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืน ตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ itv ยังต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ สถานีฯ ต้องปรับผังรายการ ตามสัดส่วนเดิม โดยปรับใช้ในวันรุ่งขึ้นทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับเพิ่ม ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้

ต่อมา วันที่ 14 ธันวาคม 2549 นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดแถลงข่าว เรียกให้ ไอทีวี ชำระค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% เป็นจำนวนเงินรวม 464.5 ล้านบาท มาชำระให้ สปน.ภายใน 45 วัน และให้ชำระค่าปรับกรณีทำผิดสัญญาเรื่องผังรายการ อีกกว่า 97,760 ล้านบาท จากนั้นมีการต่อเวลาเรียกชำระมาอีก 30 วัน (สิ้นสุด วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550)

ต่อมา itv ได้เสนอข้อพิพาท กรณี สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบ โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดว่า สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ ไอทีวี และ ไอทีวี ก็ต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างเช่นกัน คำชี้ขาดจึงสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายไม่มีหนี้ที่ต้องชำระต่อกัน 

ทั้งนี้ สปน. ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครองกลาง และในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ศาลปกครองกลางพิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คดีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ภายในวันที่ 7 มีนาคม ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเลิกสัมปทานกับไอทีวี

ในวันเดียวกัน นายบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร ออกแถลงข่าวว่า ไอทีวีพร้อมให้ความร่วมมือ ที่รัฐจะให้หน่วยงานใหม่เข้ามาใช้สถานที่ และอุปกรณ์เพื่อออกอากาศสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟ อย่างต่อเนื่อง หากไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน

จนสุดท้าย itv ไม่สามารถจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานที่ค้างจ่ายรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้ จึงได้หยุดการทำกิจการดังกล่าว 

หลังจากการที่ถูก สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานว่าด้วยการบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟไป ในด้านของกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ คือ สถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น ก็ได้โอนกิจการย้ายไปสังกัดที่กรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และในปัจจุบันใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

จากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทฯที่เคยทำการซื้อขาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ itv ต้องพ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว แต่บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน ก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่

สำหรับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน itv คือ  บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 52.92%

ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF  ถือหุ้นใหญ่ ใน INTUCH 41.19% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ  STEC ได้เป็นถือหุ้นอันดับ 9 ใน GULF 1.88%  ขณะเดียวกัน INTUCH เองได้ถือหุ้นใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC   40.44%

อย่างไรก็ตาม เรื่องประเด็น itv ยังดำเนินธุรกิจสื่ออยู่หรือไม่ในขณะนี้ คงต้องรอฟังคำตอบจากทาง itv รวมถึงบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ว่าจะออกมาเป็นเช่นไร และทางกกต.จะดำเนินการอย่างไร ต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่ามีคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่ แล้วเรื่องถือหุ้น itv ทางกกต.จะตีความอย่างไร เรื่องนี้คงยังเป็นประเด็นร้อนกันต่อไป ทุกคนยังตั้งตารอความกระจ่างของเรื่องนี้กันอยู่

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT