ธุรกิจการตลาด

เปิดกำไร 6 โรงกลั่นน้ำมันเอกชนเจ้าใหญ่ ทำได้มากแค่ไหน

14 ก.ค. 65
เปิดกำไร 6 โรงกลั่นน้ำมันเอกชนเจ้าใหญ่ ทำได้มากแค่ไหน
ไฮไลท์ Highlight
  • กางกำไร 6 โรงกลั่นเอกชนเบอร์ใหญ่ของไทยแต่ละปีอยู่ที่เท่าไหร่
  • โรงกลั่น เสี่ยงโดนขอแบ่งกำไร 'ค่าการกลั่น' 2.5 หมื่นล้าน เข้ากองทุนน้ำมันฯ
  • กูรูวงการน้ำมันชี้รัฐเก็บขอแบ่งกำไร 'โรงกลั่น' ทำไม่ได้ เสี่ยงผิดกฎหมาย

ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันยังไม่จบในประเด็น 'ค่าการกลั่น' ของกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของไทยที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ราคาน้ำมันที่ชาวบ้านอย่างเราต้องใช้น้ำมันที่ราคาแพง เพราะมีการคิดค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงขึ้นมากเกินไป ในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น จึงเริ่มเกิดการเคลื่อนไหวของผู้มีมุมมองนี้

  • ตั้งแต่ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2565 สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ยื่นถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอพิจารณาทบทวนลด 'ค่าการกลั่น' ใหม่เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับลดลง
  • ต่อเนื่องด้วยในเดือนเดียวกันนี้ "กรณ์ จาติกวณิช" หัวหน้าพรรคกล้า ได้นำเสนอประเด็นว่า "คนไทยโดนปล้นจากค่าการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 10 เท่า" ซึ่งระบุว่า ค่าการกลั่น ของไทยเพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า จาก 0.87-0.88 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายนปี 2563 และ ปี 2564 เพิ่มเป็น 8.56 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายน ปี 2565

 

ส่งผลให้กระแส 'ค่าการกลั่น' ยิ่งแรงขึ้นเป็นที่ถูกจับตาและกล่าวถึงเนื่องเป็นวงกว้าง เดือดร้อนถึงรัฐบาลที่ต้องออกมาชี้แจงผ่าน กระทรวงพลังงาน ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง

 

โดยระบุว่าการกลั่นน้ำมันที่สูงถึง 8 บาทต่อลิตรนั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค. – พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือนพฤษภาคม ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงขึ้นจากในสภาวะปรกติก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 2-2.50 บาท

 

ส่วนค่าการกลั่นที่สูงขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าการกลั่นในตลาดโลก โดยเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดและปัญหาความไม่สงบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน พร้อมทั้งชี้แจงว่า

 

ค่าการกลั่นน้ำมัน คือ กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น เป็นต้น สำหรับกำไรของโรงกลั่นยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ ดังนั้น 'ค่าการกลั่น' จึงไม่ใช่กำไรสุทธิของธุรกิจโรงกลั่น

 


ผุดแนวคิดขอความร่วมมือ 'โรงกลั่น' ส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมัน

เปิดกำไร 6 โรงกลั่นน้ำมันเอกชนเจ้าใหญ่ ทำได้มากแค่ไหน

 

ทำให้รัฐบาลต้องออกมาเคลื่อนไหวทันทีโดย 'สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์' รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกมาระบุว่า กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาใช้มาตรการทางด้านพลังงานเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ก่อนนำไปใส่ในกองทุน เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดได้คำตอบมาแล้วว่า อาจต้องมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณาเพราะเกี่ยวข้องกับสัญญาโรงกลั่น ด้วย

 

จากข้อมูลข้างต้นนี้ รมว.พลังงาน ออกมาให้ข้อมูลตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาในการขอความร่วมมือในการขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงกลั่นแบ่งนำส่งกำไรเข้ามาที่กองน้ำมันฯ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกมาแบบเป็นทางการ เพราะในแง่ของกฎหมายนั้นต้องมีการศึกษาช่องทางให้รอบครอบเพราะธุรกิจโรงกลั่นเอกชนเจ้าใหญ่ทั้งหมด 6 รายนั้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ภายใต้ลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

ซึ่งแน่นอนว่าการขอแบ่งกำไรของโรงกลั่นมาส่งเข้ากองน้ำมันย่อมีผลสะเทือนต่อผู้ถือหุ้นที่อาจโดนผลกระทบทั้งในด้านเงินปันผลที่ลดลงหรือราคาหุ้นที่ถือลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจสร้างความเสียจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีได้ด้วย โดยเฉพาะมี 2 โรงกลั่นที่มีผู้ถือใหญ่ต่างชาติเป็นบริษัทระดับในธุรกิจพลังงานระดับโลก อย่าง 'เอสโซ่' ที่ถือหุ้นใหญ่โดย ExxonMobil และ 'สตาร์ ปิโตรเลียมฯ' ที่ถือหุ้นใหญ่โดย CHEVRON ว่าจะมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไร และให้ความร่วมมือในการส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันฯ ด้วยหรือไม่

 

เปิดรายชื่อ 6 โรงกลั่นเอกชนรายใหญ่

387705

  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) มีกำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) มีกำลังการกลั่น 215,000 บาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) มีกำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) มีกำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) มีกำลังการกลั่น 177,000 บาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) มีกำลังการกลั่น 175,000 บาร์เรลต่อวัน

 

 

เร่งสรุปขอกำไร 'โรงกลั่น'ภายใน ก.ค.นี้ เสี่ยงโดนเรียกเงิน 2.5 หมื่นล้าน

พลังงานขอกำไรแบ่งกำไรโรงกลั่น

 

ล่าสุด 'กุลิศ สมบัติศิริ' ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูถึงความคืบหน้าการกู้เงินของ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) โดยกองทุนน้ำมันฯ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง ของกองทุนน้ำมันที่ตอนนี้ติดลบหนักไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินล่าช้ามาตลอด เพราะต้องดูให้รอบครอบในประเด็นกฎหมายต่าง ๆ ด้วย 

 

ภายในเดือน ก.ค. 2565 จะสามารถดำเนินการเรียบร้อย เพราะถ้าเกินกว่านี้ การติดลบมากจนเกินไป ส่งผลกระทบให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยแนวสภาพคล่องกองทุนน้ำมันจะแบ่งกรอบวงเงินเป็น 3 ก้อนหลัก ได้แก่

  1. การดำเนินการกู้ภายใต้การกู้ยืมเงิน ในสัดส่วน 50%
  2. เงินที่มีการเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน รวมถึงเงินที่ใช้บริหารหนี้ต่าง ๆ ในสัดส่วน 25-30%
  3. ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันให้ส่งกำไรเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยที่ผ่านมาอาจจะช้าในกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการ เพราะการที่โรงกลั่นจะให้เงินกองทุนน้ำมันจะต้องตรวจสอบกระบวนการว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะการที่ไม่เป็นความผิดกฎหมายเพราะกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนภาษีลาภลอย อาจจะต้องดูกันยาว ๆ ในเรื่องของการออกพระราชกำหนด ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะทำงานในเรื่องของความร่วมมือกันมากกว่า เบื้องต้นจะใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการดำเนินการว่าหากมีการส่งเงินเข้ามาจะติดกฎหมายข้อไหนอย่างไรหรือไม่ ราว 20-25%

 

โดยเรื่องการกู้เงินและการเก็บเงินจากโรงกลั่นมีทางออกแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในอาทิตย์สุดท้ายของเดือนก.ค. 2565 

 

ดังนั้นเมื่อกลับมาวิเคระห์ถึงตัวเลขปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อมูลว่า จะขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันให้นำส่งกำไรเข้ามาที่กองน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันติดลบไปแล้วทะลุ 1 แสนล้านบาท สัดส่วนราว 20-25% นั้น หากกฎหมายมีช่องให้ทำจริงเท่ากับว่า โรงกลั่นต้องส่งเงินให้กับกองทุนน้ำมันรวมกันไม่น้อยกว่าประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท เมื่อเห็นตัวเลขนี้แล้วอาจทำให้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นต้องส่งกำไรเกือบทั้งไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ทำได้ให้กับโรงกองทุนน้ำมันฯ

 


ชี้ 'โรงกลั่น' ส่งกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เสี่ยงผิดกฎหมายหลักทรัพย์

902259

 

 

 

ขณะมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจพลังงานต่อกรณีที่รัฐบาลจะขอแบ่งเก็บกำไรของธุรกิจโรงกลั่นไปให้กองทุนน้ำมันนั้น โดยเริ่มที่ 'เจน นำชัยศิริ' สมาชิกวุฒิสภาและอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ความจริง....ค่าการกลั่น" จัดโดย ชมรมวิทยาการพลังงานว่า การดูค่าการกลั่นนั้นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น โดยผลลัพธ์จากการนำวัตถุดิบมาแปรรูปและขายออกไปไม่สามารถบอกได้ว่า ณ วันนี้ได้เท่าไหร่ ต้องเอาผลจากทั้งเดือนหารค่าเฉลี่ยและแต่ละเดือนก็ไม่เท่ากัน เพราะไม่สามารถควบคุมได้ แขณะที่ต้นทุนแต่ละโรงกลั่นไม่มีเท่ากัน

 

นอกจากนี้มีความเห็นว่ากลุ่มโรงกลั่น มีแนวคิดอยากช่วยกระทรวงพลังงาน แต่ไม่สามารถนำเงินออกมาช่วยเหลือได้ เพราะกฎกติกาตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันมีเปิดเผยบนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีการทำตัวเองอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง โดยจะเห็นตัวเลขว่าปี 2563 ค่าการกลั่น อยู่ที่ 70 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งถูกมาก และปีนี้ขยับมาที่ 3 บาทกว่าๆ จนกระทั่งมาเดือนเม.ย. 2565 กระโดดมาที่ 5.27 บาท ส่วน เดือนมิ.ย.อยู่ที่ 6 บาทกว่าๆ แต่ไม่ถึง 8 บาท

 

“ปีที่เกิดโควิดน้ำมันเครื่องบินขายไม่ได้ จึงนำไปทำน้ำมันตัวอื่นที่ราคาต่ำกว่า เกิด Effect ในตัวกำไรของโรงกลั่นเหมือนกัน ดังนั้นสถานการณ์ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะมีความผันผวน ตัวเลขที่ขึ้นมาก็ลงได้ตลอดเวลา รัฐจะไปล้วงกำไรกลับมาจะต้องย้อนไปคิดถึงในเรื่องที่ตอนที่เขาเสียขาดทุน”


ทั้งนี้ ขอเสนอให้รัฐบาลดูแลราคาเอทานอลสำหรับเป็นส่วนผสมน้ำมันเบนซินซึ่งมีราคาถูกกว่า ดังนั้น หากมาดู E85 และ E20 และทบทวนค่าการตลาดก็จะทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มนี้ถูกลงได้อีก ส่วนกลุ่มดีเซล การลดสัดส่วนไบโอดีเซลแน่นอนอาจกระทบชาวสวนปาล์ม ซึ่งตอนนี้น้ำมันปาล์มก็ส่งออกต่างประเทศได้ราคาก็ควรบริหารจัดการตรงนี้ เพื่อจะได้ไม่ไปยุ่งกับเรื่องค่าการกลั่นที่จะมีปัญหาในเรื่องของกติกา ซึ่งอีกหน่อยหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น นักลงทุนอาจมองว่าจะมาล้วงกระเป๋าอีก ดังนั้น หากกติกาไม่ชัดเจจะเกิดความร่วมมือครั้งเดียว และหาวิธีป้องกันตัวเอง

 

ขณะที่มีการพูดถึงประเด็นการเก็บภาษีลาภลอยยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะธุรกิจโรงกลั่นถือเป็นธุรกิจที่มีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักร ไม่เหมือนภาษีที่ดินที่มีโครงการรัฐตัดผ่านแล้วเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ โดยช่วงโควิด-19 น้ำมันเครื่องบินขายไม่รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปช่วย จึงไม่อยากให้รัฐบาลใช้วิธีนี้ จะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก อาจส่งผลถึงเสถียรภาพด้านความมั่นคงพลังงานตามมา การที่น้ำมันอแพงเป็นทั่วโลกครั้งนี้ไม่ใช่เวิลด์ซัพพลาย สิ่งไหนเจรจาได้ก็หารือ อย่าต้องทะเลาะกันเลย

 

ส่วนกรณที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องแบกรับภาระติดลบไปมาก จึงไม่ควรมาทำหน้าที่อุดหนุนแต่อยากเห็นการทำหน้าที่คล้ายๆโช๊คอัพค่อยๆ ผ่อนแรง ซึ่งคิดว่ารัฐบาลต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนยอมรับความจริง จากข้อมูลที่เป็นจริงและเปิดเผย และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงจุด จะใช้เงินที่น้อยกว่า ไม่ใช่ใช้วิธีหว่านแหเช่นปัจจุบัน เพราะคนได้ประโยชน์บางคนไม่เห็นความจำเป็นช่วย

 

455384


ส่วน 'บวร วงศ์สินอุดม' ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และเป็นอดีตซีอีโอ ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) อธิบายว่า ราคาน้ำมันที่แท้จริงนั้นพงมาก เพราะน้ำมันหายาก ประเทศอังกฤษก็ขาดแคลนน้ำมันเช่นกัน จึงต้องชื่นชมประเทศไทยที่ไม่ต้องเข้าแถวหรือแย่งกันเติมน้ำมัน ถือเป็นเรื่องของ Security ที่ประเทศไทยทำงานได้ดี ส่วนน้ำมันดิบที่ซื้อมาเราสามารถจัดหามาได้แต่จัดหามาด้วยความยากเพราะต้องไปแย่งในตลาดเมื่อไปแย่งจะมี Premium ที่ราคาบวกขึ้นไปอีก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องช่วยกันอธิบายให้เข้าใจ

 

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันถือเป็นเทรนด์ของราคามีขึ้นมีลง เกิดโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นโรงกลั่นมีความกังวลว่าจะไม่มีปันผล จึงต้องมีการเอากำไรสะสมมาจ่ายปันผล ดังนั้น ช่วงที่ขาดทุนมีใครสนใจโรงกลั่นหรือไม่ ประเทศไทยเพื่อความมั่นคงและประคองราคาไว้ระดับ 30 บาทต่อลิตร ถึงเวลาก็อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด สำหรับประเด็นสัดส่วนไบโอดีเซล เชื่อว่าชาวสวนปาล์มอาจจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าโรงงาน B100 ซึ่งก็เข้าใจตรงจุดนี้ของภาครัฐที่ต้องบริหารให้ครอบคลุม

 

“ค่าการกลั่นยืนยันว่าไม่มีใครสามารถกำหนดได้ เพราะเป็นส่วนต่างในการเอาน้ำมันดิบมา 1 ลิตร เมื่อกลั่นแล้วจะได้โปรดักส์ชนิดต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย แม้ว่าดูเป็นเทรนราคาช่วงนี้อาจจะเยอะแต่จะเอาเงินจากโรงกลั่นไม่ได้ ภาครัฐจะกล้าทำหรือเปล่าทำแล้วเสียเครดิตประเทศชาติจะเป็นอย่างไร และหากเอาจากโรงกลั่นกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็อาจจะทำได้ แต่โรงกลั่นต่างชาติหละ อาจต้องนำเงินกลับประเทศ เป็นต้น”

 

ขณะกลุ่ม Shell เคยมีโรงกลั่นในประเทศไทย แต่ก็ต้องขาดทุน และปตท. เข้าไปแบกรับภาระเป็นหนี้ก็เพื่อความมั่นคงของชาติ การบริหารจัดการโรงกลั่นหรือปั๊มน้ำมันถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็ขาดทุนได้ จึงอย่าเอาปัญหาในช่วงระยะสั้นมาแก้ปัญหาในสิ่งที่ประเทศไทยทำดีมาตลอด จึงฝากถึงผู้ใหญ่อย่ารีบร้อน

 

ปิดท้ายที่ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรแต่เป็นตัวชี้วัดว่าค่าการกลั่นแต่ละโรงก็ไม่เท่ากัน ความสามารถในการกลั่นผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างไม่เหมือนกัน การจะแบ่งกำไรจากค่าการกลั่น ผู้บริหารจะต้องถามซีอีโอว่า เอาหลักการอะไรมาร่วมมือ เพราะไม่รู้ว่าปีนี้ทั้งปีจะกำไรหรือไม่ หากครึ่งปีหลังสงครามยุติราคาปรับตัวลงผิดปกติ หรือแย่ไปกว่านั้นมีโรคระบาดโรคใหม่เกิดล็อกดาวน์อีกก็จะเกิดการขาดทุนได้

 

ทั้งนี้ การที่มีข่าวว่ารัฐจะไปขอส่วนแบ่งกำไร โรงกลั่นก็อาจจะต้องปรับตัวลดกำลังการผลิต และทำผลิตภัณฑ์ตัวอื่นออกมาแทนหรือส่งออกไปต่างประเทศแทน ดังนั้นหากทำมากเกินไปสิ่งที่ไม่อยากเห็นคืออาจจะเกิดขึ้นคือการขาดแคลนน้ำมันเหมือนสมัยก่อน การเติมน้ำมันจะต้องสลับทะเบียนรถยนต์เลขคู่กับเลขคี่ ดังนั้น การจะไปแทรกแซงกลไกตลาดต้องระวังเพราะทุกคนเดือดร้อนหมด


“รัฐบาลพยายามประคับประคองจนกองทุนน้ำมันติดลบแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมลดภาษีน้ำมันอีก 5 บาท หากเทียบกับต้นปีน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มขึ้นไปที่ 17% แต่ตลาดทั่วโลกอยู่ระดับ 70-84% ตลาดโลกดีเซลแพงกว่าเบนซินแต่ในบ้านเราจงใจทำให้ดีเซลถูกกว่าเบนซินจึงขาดทุนอยู่ปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้น้ำมันขาด และดูแลเฉพาะกลุ่มยากไร้รายได้น้อย เป็นต้น ซึ่งรัฐก็ทำอยู่ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น”

 

สำหรับข้อเสนอแนะต้องบูรณาการหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม รวมถึงภาคภาคเอกชน และประชาชน ประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาคอขวดโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ ประเทศไทยที่เป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและต้นทุนในการขนส่งของประชาชน เราลืมว่ากฎระเบียบของกระทรวงคมนาคมถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้มีรายได้น้อย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT