ธุรกิจการตลาด

สรุปแผน  JD Central ปิดกิจการโบกมือลา E-Commerce ไทย

2 ก.พ. 66
สรุปแผน  JD Central ปิดกิจการโบกมือลา E-Commerce ไทย
ไฮไลท์ Highlight
"การยุติการให้บริการของ JD Central เหตุผลหลัก คือ JD.com ที่บริษัทแม่ที่จีนมีการเปลี่ยนนโยบายการทำธุรกิจในต่างประเทศ จากเดิมให้น้ำหนักอีคอมเมิร์ซ เปลี่ยนไปเป็นโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน”

หลังจากที่ JD Central ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะยุติการให้บริการในประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 นั้น แม้จะคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การปิดกิจการก็ส่งผลกระทบต่อพนักงาน รวมถึงแผนต่อไปของเซ็นทรัลในกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่น่าจับตามอง 

ย้อนกลับไปดูที่มาของJD Central นับเป็นความร่วมมือของเซ็นทรัล กรุ๊ป กับ เจดีดอทคอมจากจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้ชื่อบริษัทที่จดทะเบียน “บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด” ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 5 ปีโดยก่อตั้งเมื่อ ปี 2560 และ ประกาศปิดกิจการ : 3 มี.ค. 2566 ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานกว่า 500 คน 

ปิด JD Central เหตุบ.แม่เปลี่ยนนโยบายทำธุรกิจในต่างประเทศ

ทีมงาน Spotlight ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณวิสัณห์ ศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด  บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด  ถึงเหตุผลที่แท้จริงของการปิดกิจการเจดีเซ็นทรัล ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเพราะขาดทุนกว่า 5,500 ล้านบาท แต่คุณวิสันต์ระบุว่า


"
การยุติการให้บริการของ JD Central เหตุผลหลัก คือ JD.com ที่บริษัทแม่ที่จีนมีการเปลี่ยนนโยบายการทำธุรกิจในต่างประเทศ จากเดิมให้น้ำหนักอีคอมเมิร์ซ เปลี่ยนไปเป็นโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน”

คุณวิสัณห์ ศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด  บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด 

แต่ประเด็นที่ JD Central มีผลประกอบการขาดทุนสะสมมากกว่า 5,600 ล้านบาทนั้น เป็นเหตุผลรองลงมา แต่ก็ยอมรับว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ขาดทุน แต่ขณะที่เริ่มมีบางรายที่ทำกำไร  อย่างไรก็ตาม การยุติการทำธุรกิจครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ระหว่าง กลุ่มเซ็นทรัล กับ JD.com จากจีน ซึ่งไม่ได้มีใครไม่เห็นด้วยกับการยุติกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด

จากการสำรวจข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ผลประกอบการย้อนหลัง   5 ปี ของบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 

  • ปี 2560   รายได้รวม    5.2 แสนบาท ขาดทุน      3.7 ล้านบาท
  • ปี 2561   รายได้รวม    446 ล้านบาท ขาดทุน    944  ล้านบาท
  • ปี 2562   รายได้รวม 1,254 ล้านบาท ขาดทุน 1,342  ล้านบาท
  • ปี 2563   รายได้รวม 3,487 ล้านบาท ขาดทุน 1,375  ล้านบาท
  • ปี 2564   รายได้รวม 7,440 ล้านบาท ขาดทุน 1,930  ล้านบาท

 

สรุปJD Central  ปิดกิจการ

 จ่ายเงินชดเชย-ดูแลพนักงานเต็มที่

นายวิสัณห์ ศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวถึง เรื่องการดูแลพนักงาน และการจ่ายเงินชดเชยว่า “การจ่ายค่าชดเชยบริษัทดำเนินการและจะช่วยเหลือพนักงานอย่างเต็มที่จริงๆ ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ยืนยันว่าบริษัทแม่ในจีนมีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะสามารถจ่ายชดเชยพนักงานได้”

โดยมีแนวทางในการดูแลพนักงานกว่า 500 คน มีดังนี้ 

  1. จ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
  2. จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ 100% ไม่ว่าจะอายุงานกี่ปี
  3. จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 1-2 เดือน
  4. ช่วยหางานอื่นในเครือเซ็นทรัล 

ย้ำ!! จะดูแลลูกค้าให้แล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค.66

ส่วนทางด้านการให้บริการกับลูกค้าในขณะนี้ ผู้บริหาร กล่าวย้ำว่า  “จะดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี ทั้งกระบวนการซื้อขาย ขนส่งสินค้าอะไรต่างๆ สต็อกสินค้า และบริการหลังการขาย ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2566  ขอให้ลูกค้าต้องกังวล หรือเป็นห่วงอะไร”

ทั้งนี้ JD Central ได้ประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ ดังนี้

  • การสั่งซื้อสินค้า: ร้านค้าอย่างเป็นทางการของ JD CENTRAL Official Store จะปิดการสั่งซื้อสินค้าเวลา 23.59 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
  • ตลาดกลาง: แพลตฟอร์ม JD CENTRAL (ร้านค้าอื่น ๆ) จะปิดการสั่งซื้อสินค้าเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มีนาคม 2566
  • การจัดส่งสินค้า: JD CENTRAL จะจัดการคำสั่งซื้อสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ก่อนและภายในวันที่ 3 มีนาคม 2566 โดยเวลาการจัดส่งจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทขนส่งภายนอกและผู้ขาย
  • การบริการหลังการขาย: ศูนย์บริการหลังการขาย (Customer Services) ของเรา จะยังคงดำเนินการให้บริการหลังการขายสำหรับคำสั่งซื้อที่เสร็จสมบูรณ์ โดยจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 18.00 น.
  • คูปองส่วนลด: คะแนนสะสม JD (JD POINTS) และคูปองส่วนลดจะสามารถใช้ได้จนถึงเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มีนาคม 2566

อีคอมเมิร์ซไทยไม่ง่าย!!

สำหรับภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ขณะนี้จะเหลือผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย เห็นได้จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าตลาด B2C E-Commerce ปี 2565-2566 จะเติบโตชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวสูงด้วยอัตราเลขสองหลักในช่วงโควิด-19 

โดยในปี 2566 คาดว่า ตลาดอาจขยายตัวราว 4-6% คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 606,000 – 618,000 ล้านบาท เป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการ E-Commerce รายใหม่ น่าจะเริ่มอิ่มตัวหลังจากที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงโควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้มีการใช้จ่ายอย่างจำกัด

ขณะที่คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้า ภายในปี 2570 ให้ไทยมีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศให้มีมูลค่า 7.1 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าสัดส่วนมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการที่ค้าขายผ่านตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่  20% เพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเติบโตทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตามที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินการจัดทำแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของชาติ ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 (ปี 2564-2565) 

คาดการณ์แผน Central ในอนาคต 

ทีม Spotlight คาดการณ์แผน Central เกี่ยวกับแนวทางการทำธุรกิจ Online หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มเซ็นทรัลจะเดินหน้าแผนธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ดังนี้

  • รุก เซ็นทรัลออนไลน์  จากที่ฐานลูกค้าถึง 2.5 ล้านราย

  • ขยาย Central App ที่มีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน

แต่อย่างไรก็ตาม เราคงต้องจับตาดูแนวทางทำธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลต่อไป…จะรุกตลาดกลุ่มอีคอมเมิร์ซ เจาะตลาดกลุ่มฐานลูกค้าที่มีอยู่อย่างไร หรือมีแนวทางที่จะร่วมทุน ร่วมกิจการบริษัทจากต่างชาติอีกหรือไม่ หลังไม่มี  JD Central ในไทยแล้ว !!!

advertisement

SPOTLIGHT