Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิด 10 ข้อ กฎมหาเถรสมาคมฉบับใหม่ การลงนิคหกรรม แบบไหนต้องปาราชิก?

เปิด 10 ข้อ กฎมหาเถรสมาคมฉบับใหม่ การลงนิคหกรรม แบบไหนต้องปาราชิก?

22 ก.ค. 68
19:12 น.
แชร์

เปิดคำอธิบาย 10 ข้อ ไฟเขียว "กฎมหาเถรสมาคมฉบับใหม่" การลงนิคหกรรมพระภิกษุ แบบไหนต้องปาราชิก?

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม รับสนองพระบัญชา เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ตามที่โปรดให้เข้าชี้แจงในการนำร่างกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการลงนิคหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ… และร่างกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ… เสนอมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 พิจารณา ความสรุปดังนี้

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประพฤตินอกพระวินัยของพระภิกษุจำนวนหนึ่งตามที่เป็นข่าวในขณะนี้ ในวันนี้ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการลงนิคหกรรม (คือการวินิจฉัยตัดสินโทษพระภิกษุที่กระทำผิด) ฉบับหนึ่ง และว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมทั้งสองฉบับมีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

1. กฎทั้งสองฉบับบัญญัติขึ้นนานปีมากแล้ว คือตั้งแต่ปี 2521 และ 2538 การกล่าวหาอธิกรณ์คือข้อกล่าวหาว่าพระภิกษุกระทำผิดพระวินัย อาศัยพยานหลักฐานในยุคนั้น คือพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดฐานเสพเมถุนธรรม ที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุด้วยเหตุที่เรียกว่าปาราชิกนั้น ยากต่อการหาพยานหลักฐานที่แน่ชัด ซ้ำยังกำหนดกระบวนการพิจารณาให้มีการพิจารณาชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกาด้วย ทำให้กว่าที่จะปรากฏผลสุดท้ายว่าเป็นเช่นไรต้องใช้เวลานานแรมปี หรือหลายปี

2. เนื่องจากปัจจุบันนี้ พยานหลักฐานที่เป็นไปตามยุคสมัยเช่น คลิปวิดีโอ การตรวจสอบข้อมูลจากการสนทนาทางโทรศัพท์ ฯลฯ เป็นข้อมูลที่ไม่ยากเกินกว่าที่จะเข้าถึงได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพยานหลักฐานเหล่านั้นมิได้สร้างขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งรังแกผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานเหล่านั้นย่อมมีความชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อชี้ขาดอธิกรณ์ได้โดยไม่ชักช้า เป็นเวลาสมควรอย่างยิ่งที่จะมีการแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมในเรื่องนี้

3. เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้ทรงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อกลั่นกรองยกร่างกฎมหาเถรสมาคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมแก่กรณีขึ้นคณะหนึ่ง และในวันนี้เองได้มีพระวินิจฉัยเห็นชอบ ในร่างกฎมหาเถรสมาคมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะทำงานนำขึ้นถวาย และมีพระบัญชาให้นำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา

4. การแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมทั้งสองฉบับในวันนี้ ยังคงรักษาหลักการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ที่กำหนดให้การวินิจฉัยอธิกรณ์ และการลงนิคหกรรมเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ดำเนินการ ไม่ใช่ภาระธุระที่ฆราวาสหรือข้าราชการจะไปเป็นผู้ชี้ขาด หากแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเอื้อเฟื้อสนับสนุนในเรื่องพยานหลักฐานและการทำงานของคณะสงฆ์

5. สาระสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในวันนี้คือ หากปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่ได้มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับมาจากแหล่งอื่นใดก็ดี ว่ามีภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง กระทำความผิดถึงปาราชิก หรือแม้ไม่ถึงปาราชิก เช่น ความผิดในระดับสังฆาทิเสส แต่เกิดผลความเสียหายร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องนำเสนอเรื่องนั้นพร้อมพยานหลักฐานเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาด

6. ในกรณีพระภิกษุทั่วไปกระทำผิด เป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าคณะภาคเป็นผู้ตัดสิน ถ้าเป็นกรณีพระสังฆาธิการ คือเป็นพระภิกษุผู้มีตำแหน่งในทางปกครอง เป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ตัดสิน ถ้าเป็นเรื่องสำคัญคือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ หรือเป็นพระราชาคณะ เป็นหน้าที่และอำนาจของมหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา

7. การพิจารณาอธิกรณ์เรื่องปาราชิก หรือมีความร้ายแรง ตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนดังที่ว่ามาข้างต้น ผู้มีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 10 วัน

8. เมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้กระทำผิด ต้องสละสมณเพศแล้ว แต่ผู้นั้นยังดื้อดึงไม่ปฏิบัติตาม ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานขอกำลังและอารักขาจากฝ่ายบ้านเมืองเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

9. ร่างกฎมหาเถรสมาคมสองฉบับที่ได้รับความเห็นชอบแล้วในวันนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้นำขึ้นถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงลงพระนาม และนำไปประกาศในหนังสือแถลงการคณะสงฆ์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากลงประกาศในแถลงการคณะสงฆ์

10. การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคมทั้งสองฉบับนี้ จะเป็นผลให้การพิจารณาอธิกรณ์และลงนิคหกรรมในอาบัติร้ายแรงปรากฏผลโดยเร็ว

Advertisement

แชร์
เปิด 10 ข้อ กฎมหาเถรสมาคมฉบับใหม่ การลงนิคหกรรม แบบไหนต้องปาราชิก?