"อกหัก" ไม่ใช่แค่ความรู้สึกผิดหวังเสียใจธรรมดา ๆ แต่คือความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่รุนแรงมาก หากชีวิตของเราต้องเผชิญกับความเสียใจสุดขีด ความเครียดรุนแรง หรือเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจมาก ๆ และถ้าเราไม่รีบทำใจให้ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันอาจลุกลามไปถึงขั้นที่เรียกว่า "ภาวะหัวใจสลาย" (Broken Heart Syndrome) และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคหัวใจสลาย หรือ ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Takotsubo Cardiomyopathy เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย เกิดอาการอ่อนแรงเฉียบพลัน ทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลงชั่วคราว ซึ่งห้องนี้มีหน้าที่หลักในการส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เมื่อหัวใจทำงานผิดปกติ ก็จะเกิดอาการคล้ายหัวใจขาดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก หายใจขัด หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม หรือเสียชีวิตได้
ถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะหัวใจสลายได้ แต่ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้คือ ภาวะอารมณ์สะเทือนใจสุดขีด ไม่ว่าจะเรื่องร้ายแรงอย่างความเครียดรุนแรง การสูญเสียคนรักกะทันหัน หรืออกหักเสียใจสุด ๆ ไปจนถึงการรับรู้เรื่องดี ๆ ที่ไม่คาดฝันก็เป็นไปได้เช่นกัน
· เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงเฉียบพลัน คล้ายกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และมีอาการนานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง
· เหนื่อยง่าย หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด
· หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
· อาการอื่น ๆ เช่น ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก และในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ด้วยการตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจเพื่อแยกโรคออกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
โดยปกติแล้ว โรคหัวใจสลายที่เกิดจากความเครียดมักจะ หายได้เองภายใน 1-4 สัปดาห์ แต่ในช่วงที่หัวใจบีบตัวผิดปกติ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาควบคุมการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ และแก้ไขปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรค
เนื่องจากความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การบริหารจัดการจิตใจและลดความเครียด พยายามทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง เสริมสร้างความรักในครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง ไม่เก็บตัวจมอยู่กับความทุกข์ เมื่อรู้สึกเครียด ให้รีบหาทางผ่อนคลายด้วยกิจกรรมที่สนใจ
หากมีปัญหากับคนรัก ให้พยายามหันหน้าพูดคุยกันด้วยความใจเย็น และหากเสียใจจากการสูญเสียคนรัก ให้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและเพื่อนมาก ๆ นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
พญ.นพวรรณ ตันศิริมาศ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยเยียวยาแผลใจให้หายเร็วที่สุด
1. ยอมรับความจริง
เป็นสิ่งสำคัญที่สุด การยอมรับว่าความรักมันจบลงแล้ว จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ และก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง
2. เลิกคิดวกวนซ้ำซาก
หยุดคิดวนไปวนมาว่า "ทำไมเขาทำแบบนี้?" "ทำไมเขาถึงเลิกกับเรา?" เพราะมันมีแต่จะทำให้เราทุกข์ใจซ้ำเติมตัวเองเปล่า ๆ
3. เก็บของที่ทำให้คิดถึงออกไปให้พ้นตา
รูปถ่าย ของขวัญ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้นึกถึงแฟนเก่า เก็บให้หมด หรือจะทิ้งไปเลยก็ได้ ที่สำคัญคือ ลบไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางติดต่อทุกอย่างของแฟนเก่าออกไปซะ เพราะยิ่งพยายามติดต่อเพื่อหวังให้เขากลับมา แต่เขาไม่ตอบสนอง ยิ่งจะทำให้เราช้ำใจหนักกว่าเดิม
4. หลีกเลี่ยงการฟังเพลง ดูหนัง ละครมู้ดโทนอกหัก
เพราะมันจะยิ่งดึงเราจมดิ่งลงไปในความเศร้า ทำให้ปรับตัวได้ช้าลงไปอีก
5. สร้างสิ่งดี ๆ เพิ่มพลังใจให้ตัวเอง
อย่าโทษตัวเองว่าเราผิด ลองฝึกยิ้มหน้ากระจกทุกเช้า แล้วพูดชมตัวเองเบา ๆ หรือพูดดัง ๆ ไปเลยก็ได้ เช่น "สวยจัง" "เก่งจัง" "หล่อจัง" คำพูดดี ๆ พวกนี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจ ความมั่นใจ และเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจได้ดีเยี่ยม
6. ออกไปใช้ชีวิต
ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่สร้างความสุขให้กับตัวเอง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ วาดรูป กินข้าวกับเพื่อน หรือออกกำลังกาย เช่น วิ่ง หรือเข้าฟิตเนสวันละ 30-60 นาที ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้จิตใจแจ่มใส และนอนหลับสบายขึ้นด้วยนะ
7. ทำให้แต่ละวันมีคุณค่า
รีบกลับไปทำหน้าที่หรือกิจกรรมที่เราเคยทำตามปกติให้เร็วที่สุด แม้จะรู้สึกว่าไม่มีอารมณ์ก็ตาม การได้ทำกิจกรรม จะช่วยให้เรามีสติ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เพลิน ๆ และไม่คิดฟุ้งซ่านเรื่องเดิม ๆ
8. มีที่ปรึกษาที่ดี
หาเพื่อนสนิท หรือคนที่ไว้ใจ เพื่อระบายความทุกข์ในใจทั้งหมดออกมา การได้พูดจะช่วยให้เรารู้สึกโล่งขึ้นเยอะเลย
9. ใจเย็นและอดทน
ทุกอย่างต้องใช้เวลา เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง อาการเศร้าเสียใจจะค่อย ๆ ดีขึ้น และเราจะกลับมามีความสุขได้เหมือนเดิมแน่นอน
10. ห้ามพึ่งเหล้าหรือยาเสพติดเด็ดขาด
เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างถาวรแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสพติด ทำให้ปัญหาบานปลายหนักกว่าเดิมอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าการอกหักจะทำให้เจ็บปวดเหมือนหัวใจแตกสลาย โลกพังทลายไปต่อหน้าต่อตา แต่จำไว้ว่า คุณไม่ได้อยู่คนเดียว และความเจ็บปวดทางใจส่งผลถึงร่างกายได้จริง ๆ ถ้าคุณรู้สึกว่าอาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนไม่อยากทำอะไรเลย ชีวิตน่าเบื่อ ไม่มีความสุขติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการทางกายที่น่าเป็นห่วง เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือหอบแรง อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่รู้สึกต้องอายหรือกลัว การปรึกษาคุณหมอ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หัวใจ หรือจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างปลอดภัยที่สุด หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
อย่ามองข้ามสัญญาณที่ร่างกายเตือน หมั่นดูแลสุขภาพกายและใจของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ความรักพัง ๆ มาทำลายชีวิตอันมีค่าของเราได้ จำไว้ว่า "อกหัก" เป็นเรื่องที่ทุกคนเจอได้ แต่ที่สำคัญคือเราจะลุกขึ้นยืนใหม่ได้เร็วแค่ไหนต่างหาก ดูแลหัวใจตัวเองให้ดีไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น เพราะคุณมีค่ามากกว่าสิ่งใดบนโลกใบนี้
ที่มา: โรงพยาบาลนครธน
Advertisement