ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย นำโดย น.ส.ช่อขวัญ ช่อผกา ประธานเครือข่ายฯ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่าย นายอัครเดช ฉากจินดา ที่ปรึกษาเครือข่าย และนายพงศ์ธร ตั้งบวรไพศาล ผู้ประสานงาน พร้อมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ได้เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอเพิ่มเติมในการจัดระบบกัญชาไทย ต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข โดยมี นายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรมว.สาธารณสุข และนพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รับมอบหนังสือ
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ข้อเสนอครั้งนี้เป็นการขยายผลจากการยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2568 เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน 3 ข้อหลัก ดังนี้ 1. ยุติความพยายามนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด เพราะเป็นการผลักประชาชนออกจาระบบแล้วนำสู่การผูกขาดกัญชา 2. คงสถานะพืชสมุนไพรของกัญชา ให้เหมาะสมกับคุณสมบัติที่แท้จริง พร้อมรอพ.ร.บ.กัญชาออกมาควบคุมอย่างเหมาะสม ในระหว่างนี้เสนอให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขควบคุมและส่งเสริมอย่างสมดุล 3.ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อจัดระบบอย่างรอบด้าน ได้แก่ 3.1 ประกาศเรื่องการปลูก โดยกำหนดกติกาที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร และเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค 3.2 ประกาศเรื่องการบริโภค วางระบบการซื้อขายและการใช้อย่างเป็นธรรม 3.3 ประกาศเรื่องการคุ้มครองบุคคล ระบุชัดเจนถึงบุคคลที่ควรได้รับความคุ้มครอง และแนวทางปลูก ใช้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน
นายธนกฤต กล่าวว่า ตนไม่เคยปฏิเสธกัญชา ไม่ได้ห้ามปลูก ไม่ได้ห้ามสูบ ที่ผ่านมาเคยแสดงความเห็นร่วมกับ นายประสิทธิ์ชัย มาแล้ว และอยากกจะแสดงความเห็นให้ตรงกัน โดยยืนยันว่ายังไม่มีวาระการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะต้องดูเรื่องสังคมเป็นหลักว่ามีผลกระทบอย่างนั้น ทั้งนี้ตนเห็นว่า กัญชายังคงมีส่วนดีในทางการแพทย์ แต่ยังมีคนที่มีผลกระทบอยู่บ้าง ดังนั้นจึงได้กำหนดกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาในการรักษาโรค และถ้านายประสิทธิชัย มีความรู้เรื่องประโยชน์ เรื่องการใช้กัญชาก็ให้ไปปวารณาตัวเป็นหมอพื้นบ้าน สั่งจ่ายยาตาม ภ.ท. 33 ขอย้ำว่า ถ้าจะเป็นชาวกัญชาที่สมบูรณ์ได้ก็ต้องเป็นชาวกัญชาที่มีเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุผลก็คุยกันไม่รู้เรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้สลับกันปราศรัย โดยนายประสิทธิ์ชัย ยังยืนยันว่า จะปักหลักค้างคืนแบบไม่มีกำหนดจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนในข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อจาก รมว.สาธารณสุข ส่วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้มีการปักหลักชุมนุมหลังเวลา 16.00 น. นั้น ตนยืนยันว่า ในเรื่องนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีเอกสารแจ้งขออนุญาตการชุมนุมตามกฎหมายไว้แล้ว และการชุมนุมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือความเดือดร้อนต่อสถานที่ จึงยังถือว่าอยู่ในกรอบของข้อกฎหมายในการแสดงออก
นพ.เทวัญ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาอยากให้กระทรวงสาธารณสุข ออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และอิงตามฉบับที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข นั้น ก็ต้องยืนยันว่า ขณะนี้เราได้มีการปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ...อิงมาจากฉบับสมัยนพ.ชลน่านอยู่แล้ว นายสมศักดิ์ เคลียร์ตั้งนานแล้ว อยู่ที่สำนักงานรัฐมนตรี รอเข้าครม. ถ้าครม.เห็นชอบก็ส่งไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบต่อ
ทั้งนี้ โดยสาระนั้นได้มีการปรับให้มีความรัดกุม และเข้มข้นว่า ให้มีการใช้ทางการแพทย์เท่านั้น และมีโทษคนสูบสันทนาการ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษเข้มกว่าตัวประกาศสมุนไพรควบคุม คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ทั้งนี้คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกเป็นปีกว่ากฎหมายนี้จะออกมาบังคับใช้
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่ได้กำหนดอายุผู้ที่สามารถใช้ได้ อย่างก่อนหน้านี้กำหนดว่า ห้ามผุ้อายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้ นพ.เทวัญ กล่าวว่า โดยปกติ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี นั้นแพทย์จะไม่สั่งให้ใช้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปเขียนกำกับไว้ อันนี้เราชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าในอนาคต มีการศึกษาเพิ่มมากขึ้นว่า สามารถใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี ได้ และจำเป็นต้องใช้ เราถึงได้เปิดตรงนี้เอาไว้ เพราะเรื่องวิชาการมีการพัฒนาได้เรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีการศึกษาวิจัยอยู่ในกลุ่มสารซีบีดี (CBD) ในกลุ่มอาการชักในเด็ก เรื่องการคลายกล้ามเนื้อ หรืออย่างกลุ่มอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง แต่อันนี้เรายังไม่เขียน
เมื่อถามว่า หากพ.ร.บ.ออกมาบังคับใช้แล้ว ยังจำเป็นต้องเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า ถ้ามีพ.ร.บ.ออกมาบังคับใช้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ถ้ายังมีเพียงประกาศที่กำกับดูแล ก็ยังถือว่า มีความเสี่ยงอยู่ หากสังคมรับไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างร้านกัญชาส่วนหนึ่งที่ไปตรวจจับพบว่า มีการเอายาเสพติดชนิดอื่นมาขายด้วย โดยเฉพาะแผงลอย เดินเร่ขาย มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ให้มีการสูบในร้าน ตลอดจนการลักลอบนำไปทำเยลลี่กัญชา โดยที่คิดว่าที่ทำไปนั้นไม่ผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมายเต็มๆ เราถึงต้องไปปราบ ทั้งนี้เพราะโทษน้อย เขาเลยไม่กลัว แต่ถ้ากฎหมายใหม่ โทษหนักและมีเจ้าหน้าที่ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ ร่วมกันกว่า 6 พันคน ในการปราบปราม
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เรื่องการควบคุม ปราบปรามต่างๆ ก็เป็นกฎหมายตัวเดียวกันนี้แต่มีปัญหาเรื่องเกี่ยงกันของแต่ละหน่วยงานว่า เป็นหน้าที่ใครที่ต้องตรวจจับ นพ.เทวัญ กล่าวว่า การเกี่ยงกันอาจจะพูดยาก ที่ผ่านมา เป็นเพราะกฎหมายมันใหม่ คนเลยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ตอนนี้เริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เลยมีการสนธิกำลังกันออกปราบปราม ซึ่งหลังๆ จับได้เยอะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็ออกมาช่วยกัน แต่ก่อนอาจจะยังไม่เข้าใจ เลยแอนตี้ และอยากให้กัญชาเป็นยาเสพติด คิดว่าโทษไม่มีอะไร แต่ตอนนี้เมื่อมีการเข้าใจมากขึ้น ก็ลดปัญหาร้านทำผิดกฎหมายลงได้เยอะ อีกทั้งกลุ่มงานแพทย์แผนไทยก็เป็นกลุ่มงานใหม่ใน สสจ. ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเรื่องใหม่
Advertisement