Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ครบ 16 ปี กำเนิด "หลินปิง" ลูกแพนด้าทูตสันถวไมตรีไทย-จีนจากการผสมเทียม

ครบ 16 ปี กำเนิด "หลินปิง" ลูกแพนด้าทูตสันถวไมตรีไทย-จีนจากการผสมเทียม

27 พ.ค. 68
15:01 น.
แชร์

ครบ 16 ปี กำเนิด หลินปิง ลูกของช่วงช่วง-หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน จากการผสมเทียม ตำนานความสุขที่ยังอยู่ในหัวใจคนไทยมาจนถึงตอนนี้

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ครบรอบ 16 ปี การกำเนิดขึ้นมาลืมตาดูโลกของ หลินปิง แพนด้าที่เกิดจากการผสมเทียม ลูกของ ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย แพนด้ายักษ์ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นลูกแพนด้าตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตรในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้า ที่กลายเป็นขวัญใจคนไทยทั้งประเทศในช่วงเวลานั้น

หลินปิง (ตัวซ้าย) (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

จุดเริ่มต้นแพนด้า "ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน"

โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 โดยเริ่มมาจาก ในปี พ.ศ. 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศจีนและมีการเจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ

ต่อมาทางเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จะแจ้งกลับมาว่ารัฐบาลจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ประเทศไทย ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เป็นเวลา 10 ปี นั่นก็คือ ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย พร้อมข้อกำหนดว่า ลูกของแพนด้ายักษ์ใดๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ครั้งนั้นรัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบและมอบหมายให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ซึ่งต่อมามีการประชุมและดำเนินการ ภายใต้โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2545 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า และมอบหมายให้กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 210 วัน

ก่อนจะมีการส่งมอบช่วงช่วงและหลินฮุ่ย ในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ให้มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ท่ามกลางความตื่นเต้นและดีใจของชาวเชียงใหม่และหลายจังหวัดในภาคเหนือ พร้อมตั้งชื่อไทยและชื่อล้านนาให้กับแพนด้าทั้งสอง โดยช่วงช่วงมีชื่อไทยว่า เทวัญ ชื่อล้านนาว่า คำอ้าย ส่วนหลินฮุ่ย ได้ชื่อไทย เทวี ชื่อล้านนาว่า คำเอื้อย

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

ช่วงช่วง-หลินฮุ่ยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทางองค์กรเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ก่อนที่ทางสวนสัตว์เชียงใหม่จะเริ่มให้คู่แพนด้าได้มีโอกาสผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติ ซึ่งหลินฮุ่ยมีอาการติดสัดถึง 2 ครั้ง แต่การสืบพันธุ์ก็ล้มเหลวทั้งสองรอบ

จนปี พ.ศ. 2550 เกิดการรวมตัวของชุดคณะทำงานเฉพาะกิจจากหลายฝ่าย ทั้งทีมงานของสวนสัตว์เชียงใหม่ ส่วนวิชาการ องค์การสวนสัตว์ ทีมงานวิจัยของโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า ทีมงานคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีข้อมูลการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลจากห้องปฏิบัติการฮอร์โมน ที่ทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต่อมาวันที่ 1 เมษายน หลินฮุ่ยตกไข่ ทีมงานปล่อยให้ช่วงช่วงเข้าผสมกับหลินฮุ่ยอีกแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงดำเนินการผสมเทียมในวันถัดมา ช่วงช่วงถูกวางสลบในไม่กี่ชั่วโมง การผสมเทียมครั้งแรกนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาช่วยเหลือทีมงาน แต่น่าเสียดายว่าหลินฮุ่ยเกิดภาวะตั้งท้องเทียม ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในสัตว์หลายชนิด

กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 หลินฮุ่ยเริ่มเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์อีกครั้ง ทางทีมจึงเริ่มปฏิบัติภารกิจผสมเทียมถึง 2 ครั้ง พาตัวอสุจิของช่วงช่วงไปเจอกับไข่ของหลินฮุ่ยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 สองเดือนหลังวันผสมเทียม ทีมไทยพบว่าพฤติกรรมหลินฮุ่ยเปลี่ยนไป กินอาหารมากขึ้น ท้องและเต้านมขยายใหญ่ นอนเก่งกว่าเดิม ผลตรวจฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

(Photo by AFP)

กระทั่ง 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่สังเกตพบพฤติกรรมผิดปรกติของหลินฮุ่ยที่แสดงอาการกระวนกระวาย เดินไปมา เลียบริเวณอวัยวะเพศถี่มากขึ้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 26 จึงติดต่อไปที่ศูนย์วิจัยแพนด้า ประเทศจีน ปรึกษาจากผู้รู้ จึงได้รับคำตอบว่า หลินฮุ่ยกำลังจะคลอด คำยืนยันทำให้ทีมงานตื่นเต้นและกระวนกระวายอย่างมาก แพนด้าน้อยคลอดออกมา โดยถูกบันทึกภาพด้วยกล้องวิดีโอของทีมงานสวนสัตว์ฯ หลังจากอุ้มท้อง 97 วัน มีน้ำหนักแรกเกิด 235 กรัม

(Photo by AFP)

ความสำเร็จครั้งนั้น นำมาซึ่งการจัดประกวดตั้งชื่อแพนด้าน้อย โดยให้ประชาชนลงคะแนนผ่านทางไปรษณียบัตร ปรากฎว่าชื่อ หลินปิง เป็นชื่อที่ได้คะแนนโหวตมาเป็นอันดับ 1 ถึง 13 ล้านฉบับ จากทั้งหมด 4 ชื่อที่ถูกเสนอ ซึ่งหลินปิง มีความหมายว่า ป่าเมืองหนาว หรือป่าแห่งสายน้ำปิง

ส่วนอันดับ 2 ชื่อ ขวัญไทย 3.5 ล้านฉบับ

อันดับ 3 ชื่อ ไทจีน 2.5 ล้านฉบับ

และอันดับ 4 หญิงหญิง 2 ล้านฉบับ

การกำเนิดของหลินปิงกลายเป็นข่าวใหญ่ของประเทศไทย และเป็นเรื่องน่ายินดีระดับประเทศ ความสำเร็จจากการผสมเทียมและให้กำเนิดลูกแพนด้าตัวใหม่กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งทุกหน้าหนังสือพิมพ์ มีการติดกล้องวงจรปิดถ่ายทอดชีวิตครอบครัวแพนด้าออกทีวี โดยเฉพาะ หลินปิง ที่กลายเป็นแพนด้าน้อยเซเลบน้อยขวัญใจคนไทย สร้างรายได้เข้าสวนสัตว์ปีละหลายสิบล้านบาท รวมถึงช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้กลับมาคึกคัก พ่อแม่ผู้ปกครองหลายบ้านไม่พลาดพาลูกหลานไปไปดูครอบครัวแพนด้า

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

ก่อนจะครบกำหนดในปี พ.ศ. 2556 ที่ไทยต้องส่งมอบหลินปิงคืนให้รัฐบาลจีนตามสัญญา 10 ปี โดยครั้งนั้นมีการจัดแพ็กเก็จทัวร์ส่งหลินปิงกลับเมืองเฉิงตูออกมา สำหรับคนที่อยากไปส่งหลินปิงกลับบ้าน ซึ่งมีทั้งเสียงตอบรับที่ดีและเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ทันทีที่กลับถึงประเทศจีน หลินปิงถูกส่งตัวไปอยู่ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า มณฑลเสฉวน เมืองเฉิงตู ประเทศจีน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้จับคู่ผสมพันธุ์กับแพนด้าหนุ่ม ซึ่งปัจจุบันหลินปิงมีลูกทั้งหมด 7 ตัว ได้แก่

ปี 2558 ลูกแฝดเพศเมีย แต่ต่อมาตัวแฝดพี่ตาย เหลือแฝดน้องชื่อ เหวินฮุ่ย

ปี 2560 ได้ลูกแพนด้าแฝด เพศเมียชื่อชื่อ ไหไห่ ออกมาช่วงเช้าและเพศผู้ เหลาเหลา ที่คลอดออกมาในช่วงบ่าย

ปี 2562 ได้ลูกเพศผู้ คือ อันอัน และ แอนดี้

ปี 2563 ได้ ตูตู แพนด้าเพศผู้ ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่อยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์เมืองหย่าอัน มณฑล​เสฉวน

หลินปิงและตูตู ภาพจากเฟซบุ๊ก Royal Thai Consulate-General in Chengdu สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครั้งหนึ่ง หลินปิง รวมถึงช่วงช่วงและหลินฮุย คือสิ่งมีชีวิตที่มอบความสุขให้กับคนไทยทั้งประเทศ แม้จะเป็นในฐานะทูตสันถวไมตรีไทย-จีนเพียง 10 ปี แต่ก็เป็นทั้งความสุขและความสำเร็จของประเทศไทยในการผสมเทียมแพนด้าโดยทีมสัตวแพทย์และนักวิจัยไทย

และโดยเฉพาะปรากฏการณ์การติดตามชีวิตประจำวันของแพนด้าที่ปรากฎขึ้นบนหน้าจอทีวี ในช่วงที่โซเชียลยังไม่ได้รับความนิยมมากอย่างทุกวันนี้ กลายเป็นตำนานความสุขที่ยังอยู่ในหัวใจคนไทยมาจนถึงตอนนี้ก็ว่าได้

Advertisement

แชร์
ครบ 16 ปี กำเนิด "หลินปิง" ลูกแพนด้าทูตสันถวไมตรีไทย-จีนจากการผสมเทียม