(10 พ.ค. 2568) นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง นำสื่อมวลชน บุกไปที่ชุมชนใน ซอยนวมินทร์ 26 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. เพื่อไปช่วยเหลือเด็ก 3 คน คนโตอายุ 3 ขวบครึ่ง คนที่ 2 อายุ 2 ขวบ และคนที่ 3 อายุ 8 เดือน เพื่อนำออกมาจากพื้นที่
เนื่องจากมีพลเมืองดีในชุมชนแห่งนี้ ร้องเรียนขอความช่วยเหลือมายัง กัน จอมพลัง หลังพบว่าทั้งเด็ก 3 คน ถูกผู้เป็นพ่อและแม่ทำร้ายร่างกาย ทำให้รับบาดเจ็บ และอยากให้นำตัวเด็กออกไปจากพื้นที่
โดยวันนี้ กัน จอมพลัง และสื่อมวลชน ได้ฝ่าฝนไปช่วยเหลือเด็กทั้ง 3 คน ทันทีที่เข้าไปในห้องพักแห่งนี้ เด็กบางคนไม่ได้ใส่เสื้อผ้า สุขอนามัยภายในห้องพักไม่เหมาะสมกับเด็กเล็ก พัดลมยังไม่มีฝาครอบ ตรวจสอบขวดนมของเด็ก เต็มไปด้วยคราบสกปรก
เจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน บ้านพักเด็กกรุงเทพมหานคร ของกระทรวงพม. ได้เข้าตรวจสอบเอกสารประจำตัวของเด็กทั้ง 3 คน ก่อนจะนำผ้าคลุมเด็กทั้ง 3 คน แล้วนำออกไปจากพื้นที่
โดย น.ส.ขวัญ อายุ 21 ปี แม่ของเด็กทั้ง 3 คน ยืนยันกับสื่อมวลชน ว่า บาดแผลที่เกิดขึ้น มันมาจากการเล่นกันของเด็ก ยืนยันว่าไม่ได้ทุบตีลูก ที่ผ่านมาก็พยายามสั่งสอนลูกๆ อาจจะมีการตีบ้างในตอนที่ลูกดื้อ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา รอยที่เห็นเป็นเพราะเด็กอาจจะเป็นรอยง่ายด้วย เรื่องการดูแลตอนนี้ลูกคนโต ก็จะเข้าโรงเรียนในปีหน้า ไม่ได้ละเลย
ถ้าวันนี้ทางฝั่ง กระทรวง พม. จะเอาลูกทั้ง 3 คนไปเลี้ยงก่อน ตัวเองอาจจะไม่ยอม เพราะอยากเลี้ยงเอง สามีได้งานทำแล้ว แม่ของตัวเองก็มีงาน มั่นใจว่าจะดูแลเด็กทั้ง 3 คนได้
ด้าน กัน จอมพลัง เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้รับแจ้งมาจากพลเมืองดีภายในชุมชน มีคนมองว่าพ่อกับแม่ยังอยู่ในวัยใส แต่ต้องดูแลลูกถึง 3 คน แถมยังพบมีร่องรอยบาดแผลค่อนข้างเยอะ ชาวบ้านก็เลยเป็นห่วง จึงอยากให้มีคนมาช่วยเหลือเด็กทั้ง 3 คน ซึ่งพอมาถึงในห้องพัก ก็พบว่าบรรยากาศด้านใน มันไม่เหมาะสมสำหรับเด็กจริงๆ ส่วนเรื่องบาดแผล ที่พ่อและแม่บอกว่า มันเกิดจากการเล่นกันของเด็ก กัน จอมพลัง มองว่า ถ้าปล่อยให้ลูกมีบาดแผลขนาดนี้ พ่อและแม่ก็ดูแลลูกไม่ดี ยังไงก็ไม่เชื่อว่าเป็นร่องรอยของเด็กเล่นกันเอง
เบื้องต้นก็ได้ประสานกับทาง พม. ให้นำเด็กไปดูแลก่อนจะดีหรือไม่ แล้วค่อยให้ทางพ่อกับแม่มั่นคงกว่านี้ แล้วค่อยไปรับลูกกลับมาเลี้ยงดูเอง มันจะดีกว่าที่จะให้เด็กทั้ง 3 คน ต้องมากัดก้อนเกลือกิน และมองว่าเรื่องนี้พลเมืองดีทำถูกต้องแล้ว
เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อของเด็ก ซึ่งในตอนแรกพ่อของเด็ก ไม่ยินยอมที่จะให้เด็กเข้าไปอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าจะไปหางานทำเพื่อมาเลี้ยงลูก
สุดท้ายเจ้าหน้าที่เกลี้ยกล่อมได้สำเร็จ ว่าขอให้เด็กมาอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ก่อน และหลังจากที่พ่อมีงานทำ มีความมั่นคง ก็สามารถมารับกลับไปดูแลได้ จนสุดท้ายพ่อของเด็กจึงยินยอมให้เด็กไปอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ในที่สุด
Advertisement