หลายคนไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติด้วยความหวังจะใกล้ชิดธรรมชาติ และเมื่อพบเห็นสัตว์ป่าอย่าง กวาง ลิง ชะนี หรือสัตว์อื่นๆ ที่ดูเชื่อง ก็อาจจะเผลอหยิบขนมหรืออาหารมาให้ด้วยความเอ็นดู ทว่าการกระทำเช่นนี้แม้จะดูเหมือนไม่มีพิษภัย แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ "ผิดทั้งกฎหมายและผิดทั้งธรรมชาติ"
อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติ การให้อาหารสัตว์ป่าจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษเพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว การปฏิบัติตามกฎระเบียบจึงเป็นหน้าที่ของนักท่องเที่ยวทุกคน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าให้คงอยู่ต่อไป
ผิดกฎหมายมีโทษจริงจัง
การให้อาหารสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความผิดตาม มาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2563 ข้อ 6 (2) ห้ามให้อาหารสัตว์ทุกชนิด หากฝ่าฝืนมีต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการรบกวนสัตว์ป่าโดยมิชอบ ซึ่งมีบทลงโทษและปรับตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด พึงตระหนักว่า "การไม่ให้อาหารสัตว์ คือการช่วยชีวิตพวกมันในระยะยาว" อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีสิทธิ์ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ทันที
ผิดธรรมชาติทำลายระบบนิเวศ
ในมิติของธรรมชาติ การให้อาหารสัตว์ป่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างคาดไม่ถึง พฤติกรรมการหาอาหารตามธรรมชาติของสัตว์จะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพวกมันเรียนรู้ว่ามีแหล่งอาหารง่ายๆ จากนักท่องเที่ยว พวกมันจะเริ่มลดความพยายามในการล่าเหยื่อหรือเก็บกินพืชตามธรรมชาติ
นอกจากนี้อาหารที่นักท่องเที่ยวนำมาให้ เช่น ขนมปัง หรืออาหารแปรรูปต่างๆ มักไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับโภชนาการของสัตว์ป่า ในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้สัตว์เจ็บป่วย อ่อนแอ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นการที่สัตว์ป่าเข้ามาใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น ยังเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายโรคระหว่างสัตว์และคนอีกด้วย
Advertisement