ภายหลังที่ "ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567" ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ลงประการ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อควบคุมสัตว์เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งความปลอดภัยของคนและสัตว์ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน เพื่อมีสวัสดิภาพที่ดี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2569 เป็นต้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนอาจมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
บังคับแก่สัตว์เลี้ยงชนิดใดบ้าง ?
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- สัตว์ปีก
- สัตว์น้ำ
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
- สัตว์เลื้อยคลาน
- สัตว์มีพิษ หรือสัตว์ดุร้าย
จำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่ ?
- ห้องเช่า / คอนโด ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 20 - 80 ตร.ม. เลี้ยงได้ 1 ตัว
- ห้องเช่า / คอนโด ขนาดพื้นที่ 80 ตร.ม. ขึ้นไป เลี้ยงได้สูงสุด 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน ขนาดไม่เกิน 20 ตร.วา เลี้ยงได้ 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน ขนาดไม่เกิน 50 ตร.วา เลี้ยงได้ 3 ตัว
- เนื้อที่ดิน ขนาดไม่เกิน 100 ตร.วา เลี้ยงได้ 4 ตัว
- เนื้อที่ดิน ขนาด 100 ตร.วา ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
-สัตว์เศรษฐกิจ เช่น วัว ม้า เป็ด ไก่ ต้องมีพื้นที่ตามที่กำหนด
ต้องจดทะเบียน และฝังไมโครชิป ภายใน 120 วันหลังเกิด หรือ 30 วันหลังนำมาเลี้ยง
สุนัขสายพันธุ์อันตรายต้องแจ้งสำนักงานเขต เพื่อควบคุมเป็นพิเศษ ?
- พิทบูลเทอร์เรีย
- บูลเทอร์เรีย
- สเตฟฟอร์ดเชอร์ บูลเทอร์เรีย
- ร็อตไวเลอร์
- ฟิล่า บาซิเลียโร
- สุนัขที่มีประวัติเคยกัดหรือพยายามทำร้ายคน
เมื่อพาสัตว์เลี้ยงออกเคหสถาน ?
- ต้องใช้สายจูง / กรง
- ห้ามปล่อยให้รบกวนผู้อื่น
- ต้องเก็บอึสัตว์ทุกครั้งในที่สาธารณะ
สอบถามเพิ่มเติม หรืออยากจดทะเบียน ?
ติดต่อคลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 7 แห่ง หรือสำนักงานเขตใกล้บ้าน
หากไม่ทำตาม หรือฝ่าฝืน มีโทษ ?
มีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม
1. วันที่ใช้บังคับ : เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือวันที่ 10 มกราคม 2569
2. กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์ หรือปล่อยสัตว์ ดังนี้ 1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2) สัตว์ปีก 3) สัตว์น้ำ 4) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 5) สัตว์เลื้อยคลาน 6) สัตว์มีพิษหรือสัตว์ดุร้าย
3. สถานที่เอกชนในกรุงเทพมหานครให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ ม้า กวาง หรือ สัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางวา
4. สถานที่เอกชนในกรุงเทพมหานครให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 3 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางวา
5. สถานที่เอกชนในกรุงเทพมหานครให้เลี้ยงไก่ เป็ด ห่านได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 4 ตารางเมตร
6. สถานที่เอกชนในกรุงเทพมหานครให้เลี้ยงนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ หรือนกที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางเมตร
7. สถานที่เอกชนในกรุงเทพมหานครให้เลี้ยงนกขนาดเล็กได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 1 ตารางเมตร
8. การเลี้ยงสัตว์ตามข้อ 3 - 7 ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนดเพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
9. ห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ตามข้อ 2 ในที่หรือทางสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้น
9.1 เพื่อการรักษาโรคเจ็บป่วยหรือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์
9.2 เพื่อกิจกรรมใด ๆ ที่กรุงเทพมหานครประกาศกำหนดพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดให้เลี้ยงสัตว์โดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเป็นการเฉพาะ
9.3 เพื่อการย้ายถิ่นที่อยู่ของเจ้าของสัตว์
9.4 การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ของทางราชการ และการปล่อยสัตว์เพื่อการกุศลหรือจารีตประเพณี
10. เจ้าของสัตว์ต้องเลี้ยงสัตว์ตามปกติวิสัย และต้องปฏิบัติดังนี้
10.1 จัดให้มีสถานที่เลี้ยงสัตว์ที่มั่นคงแข็งแรง และเหมาะสมแก่ประเภทและชนิดของสัตว์ โดยมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของสัตว์ มีอาหาร น้ำ แสงสว่าง และการระบายอากาศที่เพียงพอ มีระบบระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ
10.2 รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
10.3 จัดให้มีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ทั้งนี้ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ที่เลี้ยงเป็นโรคอันอาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพของประชาชน ให้เจ้าของสัตว์แยกกักสัตว์นั้นไว้ต่างหากและแจ้งให้หน่วยงานที่จดทะเบียน หรือสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัยทราบ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
10.4 เลี้ยงสัตว์ภายในสถานที่เลี้ยงสัตว์ของตน ไม่ปล่อยให้สัตว์อยู่นอกสถานที่เลี้ยงสัตว์ โดยปราศจากการควบคุม กรณีเป็นสัตว์ดุร้ายจะต้องเลี้ยงในสถานที่หรือกรงที่บุคคลภายนอกเข้าไม่ถึงตัวสัตว์และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสังเกตได้อย่างชัดเจน
10.5 จัดให้สัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติตามสมควร
10.6 ควบคุมดูแลสัตว์ของตนมิให้ก่ออันตรายหรือเหตุรำคาญแก่ผู้อื่น
10.7 เมื่อสัตว์ตายลง เจ้าของสัตว์จะต้องกำจัดซากสัตว์และมูลสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงหรือสัตว์นำโรค ทั้งนี้ โดยวิธีที่ไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่น ควัน และไม่เป็นเหตูให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ
10.8 ปฏิบัติการอื่นใดตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข พนักงานเจ้าหน้าที่ คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งของกรุงเทพมหานคร
11. ในเขตกรุงเทพมหานครเป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัข และแมวเกินจำนวนที่กำหนด ดังนี้
11.1 พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 80 ตารางเมตร เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว
11.2 พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงจำนวนรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว
11.3 เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงจำนวนรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว
11.4 เนื้อที่ดินตั้งแต่ 20 ตารางวา แต่ไม่เกิน 50 ตารางวา เลี้ยงจำนวนรวมกันได้ไม่เกิน 3 ตัว
11.5 เนื้อที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา แต่ไม่เกิน 100 ตารางวา เลี้ยงจำนวนรวมกันได้ไม่เกิน 4 ตัว
11.6 เนื้อที่ดินตั้งแต่ 100 ตารางวา เลี้ยงจำนวนรวมกันได้ไม่เกิน 6 ตัว
12. การเลี้ยงสุนัข และแมว ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนดเพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
13. การเลี้ยงสุนัข และแมวต้องปฏิบัติดังนี้
13.1 ปฏิบัติตามข้อ 9 และข้อ 10
13.2 ห้ามเลี้ยงสุนัข และแมวในที่หรือทางสาธารณะ หรือในที่ของบุคคลอื่น โดยปราศจากความยินยอม
13.3 เจ้าของสุนัข และแมวมีหน้าที่กำจัดสิ่งปฏิกูลอันเกิดจากสัตว์ของตนในที่หรือทางสาธารณะหรือในที่อื่นใดในเขตกรุงเทพมหานครโดยทันที
14. หากเจ้าของสุนัข และแมวจะส่งมอบสัตว์ให้แก่เจ้าของคนใหม่ ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานที่จดทะเบียน หรือสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขต หรือสถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนด พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของคนใหม่ ทะเบียนบ้านที่เป็นสถานที่เลี้ยงแห่งใหม่ และแนบหลักฐาน 1) บัตรประจำตัวสุนัข และแมว 2) หนังสือยินยอมจากผู้ให้เช่า ในกรณีเป็นผู้เช่า ) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
15. เจ้าของสุนัข และแมวต้องนำสัตว์ไปฝังไมโครชิป จดทะเบียนและออกบัตรประจำตัวสุนัข และแมวภายใน 120 วันนับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วันนับแต่วันที่นำสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปกระทำการแทน หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
16. การจดทะเบียนสุนัข และแมวตามข้อ 15 เจ้าของสัตว์ต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยงานที่รับจดทะเบียน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขต หรือสถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด หรือแจ้งโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนด พร้อมแสดงบัตรประชาชนของเจ้าของสัตว์ ทะเบียนที่สัตว์อาศัยอยู่ และแนบหลักฐาน 1) ใบรับรอง 2) หนังสือยินยอมจากผู้ให้เช่า ในกรณีเป็นผู้เช่า 3) หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาไม่เกินหนึ่งปี โดยระบุหมายเลขการผลิตวัคซีน และลงชื่อสัตวแพทย์พร้อมเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ถ้ามี) 4) หนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมันจากสัตวแพทย์ (ถ้ามี) 5) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
17. กรณีย้ายที่อยู่ของสุนัข และแมว หรือกรณีบัตรประจำตัวสุนัข และแมวสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดในสาระสำคัญ หรือกรณีสุนัขหรือแมวตาย เจ้าของสัตว์ต้องแจ้งต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขต หรือสถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนด ภายใน 30 วัน
18. กรณีสุนัขหรือแมวหาย เจ้าของสัตว์ต้องแจ้งต่อต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขต หรือสถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนด ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบ หากเจ้าของสัตว์พบสัตว์ที่หายแล้วต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน
19. กรณีสุนัขที่ไม่ใช่สุนัขควบคุมพิเศษทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคนโดยปราศจากการควบคุม เจ้าของสุนัขต้องแจ้งต่อต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขตหรือสถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนด เพื่อเปลี่ยนสาระสำคัญของบัตรประจำตัวสุนัขภายใน 3 วันนับจากวันเกิดเหตุ
20. การนำสุนัขหรือแมวออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องปฏิบัติ ดังนี้
20.1 แสดงบัตรประจำตัวสุนัขหรือแมวเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ
20.2 ใช้สายจูงที่แข็งแรงและจับสายจูงตลอดเวลา หรือมีมาตรการเพียงพอในการป้องกันมิให้สุนัขหรือแมวรบกวนหรือเป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์อื่น เช่น กระเป๋า คอก กรง หรืออุปกรณ์อื่นที่เหมาะสม กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษต้องใช้อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรงและจับสายจูง ห่างจากคอสุนัขไม่เกินห้าสิบเซนติเมตรตลอดเวลา เว้นแต่ ขณะที่สุนัขหรือแมวอยู่ระหว่างการประกวด การแสดง หรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดในทำนองเดียวกัน หรือขณะที่สุนัขหรือแมวอยู่ในการฝึกหัด โดยผู้จัดงานหรือผู้ฝึกต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้ทำร้ายคนหรือสัตว์อื่น
21. ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปีหรือเกินกว่าหกสิบห้าปี นำสุนัขควบคุมพิเศษ กล่าวคือ 1) สุนัขสายพันธุ์ที่ดุร้าย เช่น พิทบูลเทอร์เรีย บูลเทอร์เรีย สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอร์เรีย รอทไวเลอร์ ฟิล่าบราซิลเลียโร หรือ ตามประกาศของกรุงเทพมหานคร หรือ 2) สุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคนออกนอกสถานที่เลี้ยง เว้นแต่จะอยู่ในกรง ที่ขัง หรือเครื่องควบคุมอื่นที่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันมิให้เข้าถึงบุคคลภายนอก
22. เจ้าของสุนัข และแมวต้องปฏิบัติดังนี้
22.1 อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตาม กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
22.2 แสดงข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับสัตว์ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
23. กรณีที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ร้องเรียน และเจ้าของสัตว์ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่ คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข
24. กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ โดยไม่ปรากฏเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กักสัตว์ดังกล่าวไว้และให้ดำเนินการตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
25. ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้มีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
26. ผู้ใดที่จดทะเบียนสุนัขตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ก่อนวันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับหรือก่อนวันที่ 15 มกราคม 2568 ให้ถือเป็นการจดทะเบียน สุนัขตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
27. เจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ก่อนวันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือก่อนวันที่ 15 มกราคม 2568 ให้แจ้งต่อสำนักงานเขตหรือแจ้ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 14 เมษายน 2568
Advertisement