แม้ "น้ำตา" จะคือตัวแทนของความเสียใจ แต่ในบางสถานการณ์ ผู้คนต่างก็อดสงสัยไม่ได้ว่า น้ำตาที่ล้นทะลักออกมาราวกับเขื่อนแตกนั้น เสียใจจริง หรือแอคติ้งกันแน่ ?
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น นั่นอาจเป็นเพราะ บางคน บางครั้ง หรือบางสถานการณ์ น้ำตาไม่ได้เท่ากับเสียใจเสมอไป
วันนี้ "อมรินทร์ออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับ "น้ำตา" ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น เตือนเลย!! ทีมเห็นน้ำตาแล้วใจบาง ระวังเจอพวก "น้ำตาจระเข้" เจ็บจี๊ดกันมานักต่อนักแล้ว
น้ำตา มีกี่ประเภท
อ้างอิงข้อมูล ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า น้ำตา มี 3 ชนิด คือ
1. น้ำตาที่ให้ความชุ่มชื้น (Basal tears) ผลิตออกมาตลอดเวลา
2. น้ำตาที่ไหลเมื่อเกิดการระคายเคือง (Reflex tears) ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
3. น้ำตาจากอารมณ์ความรู้สึก (Emotional tears) โดยน้ำตาจากอารมณ์ความรู้สึกจะมีสารประกอบแตกต่างจากน้ำตาชนิดอื่นๆ
ร้องไห้ไม่ได้แปลว่าเสียใจเสมอไป
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนดูแลด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรม ระบุว่า การยอมรับและปล่อยให้ตัวเองได้ร้องไห้เป็น วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับความรู้สึกยากๆ
การอนุญาตให้ตัวเองร้องไห้ ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ แต่เป็นการเยียวยาจิตใจ ซึ่งเป็นกลไกลปลดปล่อยความเครียด ความเจ็บปวดทางอารมณ์
และในหลายๆ ครั้ง น้ำตาก็แปลว่า คนๆ นั้นกำลังมีความสุข ตื้นตันใจ เช่น ถูกเซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน เซอร์ไพรส์วันเกิด ได้รับข่าวดีต่างๆ เป็นต้น ทว่ามีอีกหนึ่งข้อมูลหนึ่งน่าสนใจ อ้างอิงจากบทความของ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ที่ระบุว่า
การร้องไห้ช่วยเพิ่มการสื่อสาร อย่างเช่น เวลาเราเห็นใครร้องไห้ เราจะรับรู้ได้ทันทีว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลืออะไรสักอย่าง และ การร้องไห้ช่วยให้เราได้รับสิ่งที่ต้องการ
ร้องไห้ในสถานการณ์ที่ถูกปฏิเสธ น้ำตา จะทำให้ผู้เอ่ยคำปฏิเสธรู้สึกผิด และมีแนวโน้มสูงที่ผู้ปฏิเสธจะยอมทำตามในท้ายที่สุด
แยกยังไงเสียใจจริงหรือการแสดง ?
อ้างอิงจากข่าวที่กำลังดังสนั่นประเทศอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงพฤติกรรมและจิตวิทยาอาชญากร คณะสังคมศาสตร์ ม.มหิดล ระบุว่า ต้องวิเคราะห์ภาษากายประกอบ
การปรากฏตัวในรายการดังของบุคคลในข่าว จะเห็นว่าหลังเจ้าตัวรับรู้เกี่ยวกับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายที่ร่วมลงทุน มีอาการร้องไห้ออกมา ซึ่งก็มีทั้งการร้องไห้ธรรมชาติ และไม่ธรรมชาติ ซึ่งแม้ว่าจะดูยาก เพราะใบหน้าของ บุคคลในข่าว แข็งตึง ไม่สามารถขยับตามอารมณ์ได้ 100% เรียกว่า กล้ามเนื้ออัมพาต อาจเนื่องมาจากการถูกล็อกด้วยการทำศัลยกรรม เหลือเพียงแค่ระหว่างคิ้วกับมุมปากที่ยังพอดูได้บ้าง
1. ตอนที่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพราะเป็นหนี้หลังร่วมลงทุนธุรกิจ ตรงนี้เห็นว่าการร้องไห้ของ บุคคลในข่าว เกิดจากความรู้สึกสะเทือนใจจริงที่มาจากข้างใน แต่ไม่แน่ชัดว่าเรื่องอะไร อาจจะความกลัวที่จะต้องเข้ารายการ, เผชิญหน้ากับผู้เสียหายหรือเสียใจกับการสูญเสีย ซึ่งยืนยันได้ว่าครั้งนี้ไม่ได้เป็น น้ำตาจระเข้ เพราะมีน้ำตาออกมาจากหัวตาจริง ต่างจาก น้ำตาจระเข้ ที่เป็นการร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา แค่ก้มหน้าแล้วเอาทิชชูซับ
2. ใบหูไม่ค่อยแดงเท่าไหร่ แต่ตาแดง ก็แสดงถึงความสะเทือนใจและเสียใจในช่วงเวลาสั้นๆ
3.บุคลิกของ บุคคลในข่าว อาจจะเป็นคนสลับอารมณ์เร็ว เพราะร้องไห้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ แล้วสามารถกลับมาสู่การสนทนาตามปกติได้
4. การยกมือขึ้นมาไหว้ และเอามือมาบังหน้าขณะร้องไห้ ก็เป็นแสดงออกทางร่างกายที่มีความสะเทือนใจเกิดขึ้นจริง
5. ตัวสั่นโยน เสียงสั่น กล้ามเนื้อมุมปากกดลง คิ้วขมวดกดต่ำลงจนเกือบชนเข้าหากัน แสดงออกถึงความเสียใจในช่วงสั้นๆ
แต่หากจะให้วิเคราะห์เชิงลึก คือต้องเอากระดาษทิชชูที่บุคคลในข่าวมาตรวจหาการแตกตัวของโมเลกุลและฮอร์โมนที่ผสมอยู่ในน้ำตา เนื่องจากเป็นน้ำตาที่เกิดจากความปีติยินดี ก็จะพบฮอร์โมนอะดรีนาลีน และฮอร์โมนนอร์เอพิเนฟริน แต่ถ้าเกิดจากความเครียดกังวล ก็จะพบ ฮอร์โมนคอร์ติซอล แต่การตรวจสอบจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของด้วย
น้ำตาจระเข้ แปลว่าอะไร
น้ำตาจระเข้ เป็น สำนวน หมายถึง การหลั่งน้ำตาแบบไม่จริงใจ ใช้เพื่อหลอกคนอื่นว่ากำลังเศร้าเสียใจอยู่ เช่นเดียวกับ สำนวนในภาษาอังกฤษ คำว่า "Crocodile tears" เป็นสำบัดสำนวนสื่อถึง อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งตาเห็น
ตามธรรมชาติของจระเข้ เวลางับกินเหยื่อน้ำตามันจะไหลออกมาด้วย มันสงสารเหยื่อแต่ต้องทำเพราะความจำใจอย่างนั้นหรือ? คำตอบคือ "ไม่ใช่ มันไม่ได้สงสารเหยื่อ"
การหลั่งน้ำตาของจระเข้ เกิดจากการที่จระเข้ขยับขากรรไกรขณะที่งับเหยื่ออย่างรวดเร็ว ทำให้เส้นประสาทที่รับความรู้สึกบนหน้าและควบคุมการเคลื่อนไหวบริเวณนั้นไปกระตุ้นต่อมน้ำตา สาเหตุของน้ำตาไหล น้ำตาสั่งได้ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นแค่เรื่องปกติธรรมชาติเพียงเท่านั้น
Advertisement