รู้จัก "วันสารทเดือนสิบ" หรือวันสารทไทย ตานก๋วยสลาก งานบุญเดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก ประเพณีทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
วันสารทเดือนสิบ ถือเป็นประเพณีทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว จะทำกันในเดือน 10 ของทุกปี แบ่งการทำบุญ เป็น 2 หน คือ บุญแรก รับตายาย วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ปีนี้ตรงกับวันที่ 30 ก.ย.66 และบุญหลัง แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ส่งตายาย ซึ่งจะตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2566
ตามความเชื่อในการทำบุญวันสารทเดือนสิบ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวไทยพุทธ จึงได้มีการทำบุญ 2 ครั้ง ในขณะที่ ประชาชน ส่วนใหญ่ก็จะนิยมทำบุญ ส่งตา ยาย ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า
วันสารทไทย มีการทำบุญเหมือนกันทุกภูมิภาค แต่มีการเรียกชื่อ และพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย
• ภาคกลาง เรียกว่า “สารทไทย” ชาวบ้านจะรวมตัวกันทำ “กระยาสารท” ไปใส่บาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน
• ภาคเหนือ เรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หรือทานสลากภัต ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวของและอาหาร ไปถวายทานให้กับผู้ที่ล่วงลับ
• ภาคใต้ เรียกว่า “งานบุญเดือนสิบ” หรือประเพณีชิงเปรต ชาวบ้านจะนำอาหารหวานคาว พร้อมขนมเดือนสิบไปทำบุญที่วัด อุทิศกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
• ภาคอีสาน เรียกว่า “ทำบุญข้าวสาก” ชาวบ้านจะเตรียมอาหารคาวหวานห่อด้วยใบตอง ไปถวายพระสงฆ์ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับ
Advertisement