(21 ก.ค. 2568) เว็บไซต์สำนักงาน กกต. ได้เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต. รวม13 หน้า ที่มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของ น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภา 2561 มาตรา 62 และรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และให้ดำเนินคดีอาญาแก่ น.ส.เกศกมล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 77 (4) กรณีใช้ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในการยื่นสมัครและแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
คดีนี้มีผู้ร้อง น.ส.เกศกมล รวม 7 ราย ร้องใน 6 ประเด็น ซึ่งมีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันว่า น.ส.เกศกมล สมัครรับเลือกเป็น สว. กลุ่มที่ 19 โดยระบุในข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว.3) ในส่วนของประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน กรมสุขภาพจิต แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง และเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏจากรายงานผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบุรี ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2567 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า น.ส.เกศกมล แนะนำตัวในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มชื่อ เส้นทางสว.67#ตะวันตก ด้วยข้อความว่า "สวัสดีค่ะ หมอเกศค่ะ ศาสตราจารย์ ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย เป็นหมอด้านสุขภาพจิต ชุมชนและผิวพรรณความงามค่ะ กลุ่ม 18 ผู้ประกอบวิชาชีพ จังหวัดเพชรบุรี ค่ะ" ซึ่งเข้าข่ายหรือมีลักษณะ เป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ ของผู้ถูกร้อง เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ผู้ถูกร้อง อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 77 (4)
น.ส.เกศกมล ชี้แจงแก้ข้อหาเป็นหนังสือยืนยันว่ามิได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายตาม ข้อกล่าวหาตนเองสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้รับอนุมัติ จากสภามหาวิทยาลัยรังสิตให้เป็นแพทยศาสตรบัณฑิตตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสมาชิกแพทยสภาตั้งแต่ปี 50 และเริ่มประกอบอาชีพแพทย์ทั่วไป ต่อมาประกอบอาชีพเป็นแพทย์ประจำคลินิกเสริมความงาม อีกทั้งผ่านการอบรมระยะสั้นจากสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 30 ครั้ง และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบ กิจการสถานพยาบาลชื่อว่า เกศกมล คลินิกเวชกรรม รวมระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ และความงามมานานกว่า 10 ปี
ส่วนที่กล่าวหาว่า น.ส.เกศกมล ระบุในส่วนประวัติการศึกษาว่า ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Political Science) California University, USA และศาสตราจารย์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Professor in Human Resource Development) California University และ ระบุประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง
น.ส.เกศกมล ชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นหนังสือว่า มิได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามข้อกล่าวหาโดยตนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ จาก California University ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จดทะเบียนถูกต้องและได้รับการรับรองจากกระทรวง ศึกษาธิการของประเทศสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2564 ขณะตนกำลังศึกษา ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกริก ตนได้พบกับพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของ California University FCE ประจำประเทศไทย ชักชวนให้ตนเรียนปริญญาเอก ซึ่งตนสนใจเข้าศึกษาปริญญาเอก ใช้ระยะเวลา ในการศึกษาประมาณ 3 ปี และชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษา 6 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมค่าใช้จ่าย 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ
โดยตนได้ทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง GOOD GOVERNANCE PRINCIPLES AFFECTING ORGANNIZATION EFFICIENCY OF PUBLIC COMPANIES IN ASEAN COUNTRIES โดยส่งผ่าน พยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2 และมีคณะกรรมการในการสอบดุษฎีนิพนธ์จำนวน 3 คน เป็นผู้ตรวจสอบ โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนที่ตนระบุว่า ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย เพราะตนมีหลักฐานการสำเร็จการศึกษา ดุษฎีบัณฑิตและได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ไม่เคยทำงานในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย แต่อย่างใดนั้น
จากการตรวจสอบและไต่สวนได้ข้อเท็จจริงว่า ขั้นตอนในการรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และการรับรองคุณวุฒิของ California University FCE สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตรวจสอบแล้วไม่พบว่า น.ส.เกศกมล ได้ส่งข้อมูลคุณวุฒิการศึกษาให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนพิจารณารับรองคุณวุฒิ หรือรับรองคุณวุฒิ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน
ขณะที่ตำแหน่งวิชาการศาสตราจารย์ไม่พบว่ามีชื่อ น.ส.เกศกมล อยู่ในฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด ประกอบกับไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีสถาบันอุดมศึกษาใดเคยขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูล ปรากฏว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังไม่เคยพิจารณาเทียบคุณวุฒิการศึกษา จาก California University และ California University FCE
ซึ่งกรณี น.ส.เกศกมล ระบุประวัติการศึกษาว่า ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Political Science) California University, U.S.A." กกต.เห็นว่า เนื่องจากยังไม่มีบุคคลใดหรือองค์กรใดนำวุฒิการศึกษาจาก California University FCE ไปยื่นเพื่อเทียบวุฒิต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อเข้ารับราชการ อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา จึงน่าเชื่อว่าการที่ น.ส.เกศกมล แนะนำตัวในส่วนของ ประวัติการศึกษาดังกล่าว ยังไม่เป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ
แต่กรณีศาสตราจารย์ที่ น.ส.เกศกมล ระบุประวัติการศึกษาว่า ศาสตราจารย์การพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ และระบุประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครว่า "ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย" นั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า น.ส.เกศกมล มิได้มีตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์ตามหลักการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้นของประเทศไทย อีกทั้งพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 3-11 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นผู้มีสิทธิเลือก ระดับประเทศให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า ข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร ซึ่งระบุว่า "ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง เกศกมล เปลี่ยนสมัย" มีผลจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่ น.ส.เกศกมล ดังนั้น จึงเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด ในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้ถูกร้อง
นอกจากนี้กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏเกี่ยวกับการใช้ภาพถ่ายสวมชุดครุยวิทยฐานะโดยไม่มีสิทธิในการสมัคร สว. นั้น เห็นว่า น.ส.เกศกมล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเกริก จึงมีสิทธิไส่ชุดครุยวิทยฐานะของวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทของ มหาวิทยาลัยเกริก และกรณีใส่ชุดครุยของ Universal Institute of Professional Management น.ส.เกศกมล จึงมีสิทธิใส่ชุดครุยวิทยฐานะดังกล่าว จึงมีคำสั่งในประเด็นที่ 1-5 กรณีวุฒิการศึกษา ให้ยกคำร้อง
ประเด็นที่ 6 กรณีศาสตราจารย์ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของ น.ส.เกศกมล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภา มาตรา 62 และรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และให้ดำเนินคดีอาญาแก่นางสาวเกศกมล ตามมาตรา77(4) กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏจากรายงานการไต่สวนเพิ่มเติมจำนวน 3 กรณีให้ยุติเรื่อง
ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 มาตรา 77 บัญญัติว่าผู้ใดกระทำการ (4) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่น เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือก เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใดๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ผู้นั้นหมดสิทธิ ที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
Advertisement