วันที่ 5 ก.ค. 68 นาย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แสดงความเห็นต่อการแถลงนโยบายแรงงานของนาย พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันแรกที่เข้าทำงานในตำแหน่ง รมว.แรงงานว่า นโยบาย 5 ข้อ ประกอบด้วย AI เพื่อยกระดับแรงงานไทย, การคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม, Learn to Earn, สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานไทย และ การจัดระเบียบคนทำงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน
สำหรับข้อแรก “AI เพื่อยกระดับแรงงานไทย" ตนจะติดตามว่าที่รัฐมนตรีบอกว่าจะพัฒนาหลักสูตร AI ให้สอดคล้องกับภาคการผลิตและบริการนั้น รูปธรรมจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าดูจากรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ที่ตนอภิปรายในวาระที่ 1 แทบไม่เห็นโครงการอบรมใหม่ๆ แล้วรัฐมนตรีจะปรับรูปแบบการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไร
ต่อมา “การคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม” ที่ รมว.แรงงาน บอกว่าจะผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ให้ครอบคลุมคนทำงานนอกระบบกว่า 21 ล้านคน ต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะยกมือโหวตให้ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่พรรคประชาชนเสนอเข้าสภาแล้ว เพื่อให้เกิดการจ้างงานและคุ้มครองอย่างเท่าเทียมหรือไม่ โดยร่างดังกล่าวขยายความคุ้มครองถึงคนทำงานนอกระบบและการจ้างงานในรูปแบบใหม่ เช่น พี่น้องคนทำงานไรเดอร์ ไลน์แมน ฯลฯ
นอกจากนี้ปัญหาการคุ้มครองแรงงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 มีแรงงานมากกว่า 43,000 คนถูกเลิกจ้างแต่นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย ได้นำเรื่องร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับคนที่ถูกกระทำแบบเดียวกันแต่อาจไม่ได้นำเรื่องมาร้องเรียน ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายบังคับให้นายจ้างนำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ แต่คุณพงศ์กวินไม่ได้กล่าวถึงปัญหานี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ลูกจ้างเหล่านั้นได้รับสิทธิตามกฎหมาย
นโยบายที่สาม “Learn to Earn” รมว.แรงงาน บอกว่าจะสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนสามารถหารายได้เสริมระหว่างเรียน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการความร่วมมือ ตนเห็นว่าที่แถลงมายังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จะติดตามต่อไปว่าเมื่อดำเนินการจริงจะเป็นอย่างไร
ส่วนนโยบายที่สี่ “สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงานไทย” รมว.แรงงาน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งยกระดับรายได้ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ปัจจุบันยังได้รับค่าจ้างไม่ถึง 400 บาทต่อวัน บอกว่ากลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 1.8 ล้านคน โดยระยะแรกจะฝึกอบรมพัฒนาทักษะ รวมถึงพัฒนากลไกค่าจ้างขั้นต่ำและโครงสร้างค่าจ้างให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว
ตนเห็นว่าที่แจ้งว่ามีแค่ 1.8 ล้านคนนั้น รมว.แรงงาน อาจได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง อยากให้รัฐมนตรีลงพื้นที่หาข้อมูลด้วยตนเอง ไม่อยากให้ฟังข้อมูลจากข้าราชการเพียงเท่านั้น เพราะหากได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนอาจทำให้ออกนโยบายแก้ปัญหาไม่ตรงจุด นอกจากนี้การที่รัฐบาลเพื่อไทยปรับขึ้นค่าแรงเพียงบางกิจการหรือบางพื้นที่ และมาถึงวันนี้ก็ไม่ปรากฏไทม์ไลน์ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียง 600 บาท/วัน ในปี 2570 จะดำเนินการอย่างไรเพื่อไปถึงจุดหมายนั้น ยิ่งทำให้พี่น้องแรงงานสูญเสียความเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะทำได้จริง
สุดท้ายคือนโยบาย “การจัดระเบียบคนทำงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน” จากคำแถลงดูเหมือนรัฐมนตรีเข้าใจบริบทว่าคนทำงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการของประเทศไทย หลังจากนี้ตนจะติดตามว่าการเปิดลงทะเบียนแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รัฐมนตรีจะเอาจริงเอาจังไม่ปล่อยให้มีการเรียกรับผลประโยชน์เช่นที่ผ่านมาหรือไม่ เช่น 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลางเพิ่งรวบข้าราชการมหาดไทยที่เป็นตัวการสำคัญกินหัวคิวบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรชมพู จากการตรวจสอบค่าธรรมเนียมตามกฎหมายเก็บจริงแค่ 80 บาท แต่เรียกเก็บหัวคิวคนละ 200 บาท เป็นต้น
เซียกล่าวว่า วันนี้อาจเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าพรรคเพื่อไทยเลือกคุณพงศ์กวินมาเป็น รมว.แรงงาน เพราะความรู้ความสามารถ หรือเพราะแค่เส้นสายทางการเมือง แต่สิ่งที่ตนพูดได้จากการแถลงนโยบายในวันแรก คือตนผิดหวังที่นโยบายหลายอย่างที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงเมื่อปี 2566 ไม่ได้ถูกพูดถึง จึงขอฝากถึง รมว.แรงงาน คนใหม่ ตนและพี่น้องแรงงานไม่เรียกร้องอะไรมากไปกว่าขอให้ท่านทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ หลังจากนี้เชื่อว่าพี่น้องแรงงานจะจับตาการทำงานของท่านอย่างใกล้ชิด และตนจะติดตามด้วยว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ทุกฉบับของพรรคประชาชน เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภา จะได้รับการสนับสนุนจาก รมว.แรงงาน และพรรคเพื่อไทยหรือไม่
Advertisement