วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 สังคมให้ความสนใจจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมปรึกษาคดีประจำสัปดาห์ หลังจากงดประชุมปรึกษาคดี 1 สัปดาห์ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (The Association of Asian Constitutional Courts and Equivalent Institutions: AACC)
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ที่ประชุมจะมีการพิจารณาจากกรณีที่นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ยื่นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าชื่อกัน 36 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่า นงสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ รวมทั้งมีคำขอให้มีคำสั่งให้ นางสาวแพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย จากกรณีที่มีคลิปเสียงการเจรจากับสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
สำหรับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา รับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยสรุปได้ 4 แนวทาง ได้แก่
1. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องไว้พิจารณา แต่ยังไม่สั่งให้ นางสาวแพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
2. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องไว้พิจารณา พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ นางสาวแพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังสามารถนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมต่อได้ ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดี เช่นเดียวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้
3. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ก็ไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องพิจารณามีคำสั่งให้ นางสาวแพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และให้ถือว่าคดีดังกล่าวเป็นที่สิ้นสุด เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจส่งผลต่อการพิจารณาคดีหรือรื้อคดี
4. ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่พิจารณาคำร้องในสัปดาห์นี้ เนื่องจากยังคงมีคำร้องอื่นค้างพิจารณาอยู่ หรืออาจจะเลื่อนการพิจารณาคำร้องออกไป ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะโดยปกติแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมปรึกษาพิจารณาคดีทุกวันพุธ
ทั้ง 4 แนวทางข้างต้น เป็นเพียงคาดการณ์ความเป็นไปได้ ในการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นการชี้นำ วิจารณ์ หรือก้าวล่วงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
Advertisement