ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐาน การก่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาชี้แจงถึงสาเหตุตึก สตง. ถล่ม
โดย นายปลอดประสพ กล่าวว่า พบประเด็นหลักๆ 7 ข้อ ที่จำเป็นต้องเชิญ สตง. มาอีกในครั้งหน้า และต้องเชิญ ผู้ว่าฯ สตง. มาเอง รวมถึงอดีตผู้ว่า สตง. มาด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นมายาวนานผู้บริหารปัจจุบันบางทีไม่รู้เรื่อง
ข้อ 1 พบว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องย้ายสถานที่ก่อสร้างจากปทุมธานีมาจตุจักร การอ้างว่าน้ำท่วม ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังได้ เอไอที สวทช. นิคมอุตสาหกรรมมากมายในบริเวณนั้นก็สร้างเขื่อนรอบๆ และอยู่กันมาได้จนถึงทุกวันนี้ถ้าวันนั้นสตง.ถามผู้รู้เช่นตนเอง ก็จะแนะนำไปว่าไม่จำเป็นต้องย้ายเป็นความคิดที่ผิดแล้วก่อปัญหามาก
ข้อ 2 เนื่องจากย้ายสถานที่เดิมมาที่ใหม่ เสียงบประมาณในการออกแบบถึง 2 ครั้ง เพราะตอนอยู่ปทุมออกแบบ ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อย้ายมาก็ต้องออกแบบใหม่ และแพงกว่าเดิม เป็นตึก 33 ชั้น
ข้อ 3 ทางสตง.ไม่มีเทคนิคทางด้านวิศวกรรมเลย คล้าย ๆ ทำเองคิดเองตัดสินใจเองไม่มีหน่วยงานวิศวกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานวิศวกรรมทางรัฐบาล กรมโยธาธิการหรือมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วย ถ้าบริษัทก่อสร้างบริษัทออกแบบควบคุมการก่อสร้างอธิบายมายังไงก็เชื่อตามนั้น เพราะไม่มีใครมาช่วย
ข้อ 4 ต้องเพิ่มบทบาทของกรมโยธาธิการและผังเมือง มาเป็นผู้กำกับและควบคุม
ข้อ 5 เรายังพบช่องว่างระหว่างการทำงานมาก ซึ่งช่องว่างเหล่านี้ คือสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ จำเป็นต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้
ข้อ 6 พระราชบัญญัติควบคุมอาคารต้องถูกรื้อใหม่ทั้งหมด รวมถึงกฎกระทรวงต่างๆ ที่ใช้อยู่ตอนนี้ไม่ทันสมัยเพียงพอ ต้องแก้ไขปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้
ข้อ 7 พบว่าการคัดเลือกบริษัทออกแบบ และบริษัทควบคุมการก่อสร้าง ใช้มาตรฐานไม่เท่ากัน ให้น้ำหนักกับบริษัทออกแบบมาก ในขณะที่บริษัทควบคุมการก่อสร้าง ให้ความใส่ใจน้อยกว่า โดยเฉพาะประสบการณ์ เวลาคัดเลือกบริษัทออกแบบใช้ประสบการณ์ 30% แต่เวลาเลือกบริษัทที่มาทำการควบคุมการก่อสร้าง ใช้ประสบการณ์แค่ 10% ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ทั้งสองอย่างจะต้องเท่ากัน เพราะบริษัทควบคุมการก่อสร้างจะต้องดูแลความปลอดภัย เช่นกันผูกเหล็ก เทปูน ผสมปูน
นอกจากนี้ กรรมาธิการ ได้ฝากคำถาม ถึง สตง. ไปอีก 2 ข้อ คือ สมมุติว่าเหตุการณ์นี้เกิดกับหน่วยราชการอื่น สตง. จะไปแนะนำหน่วยอื่นว่าอย่างไร และ ฝากไปให้ทบทวนตัวเองในระหว่างการก่อสร้างมาตลอดไม่พบสิ่งผิดปกติเลยหรือและทุกอย่างราบรื่นเลยหรือไม่ และเมื่อพบสิ่งผิดปกติแล้วทำอย่างไร เพราะพบว่ามีการแก้ไขแบบถึง 7-8 ครั้ง และมีครั้งสำคัญ คือ การเปลี่ยนตำแหน่งของลิฟท์ ซึ่ง สตง.ไม่ควรคิดเองแค่คนเดียว ควรจะหารือกับหน่วยราชการอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการหรือมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไม เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก และสุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องใหญ่
นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ตนยังคาใจเรื่องการกำหนดริกเตอร์สำหรับการรับแรงแผ่นดินไหวของตึก เมื่อ 35 ปีที่แล้วได้กำหนดไว้ที่ 6 ริกเตอร์ โดยออกเป็นกฎกระทรวง แต่การตรวจสอบครั้งนี้มีกฎกระทรวงที่ยึดถือ 6 ฉบับ มีเรื่องเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของแผ่นดินไหว แต่การตรวจสอบมีปัญหา
"มีการตรวจ มีการทัก เมื่อมีการตรวจสอบ และพบสิ่งผิดปกติทาง สตง. ก็ได้สอบถามไปยังกรมโยธาฯ แต่กรมโยธาได้บอกมาแค่ว่าให้ใช้แบบที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีทางเลือกอื่น และจากการตรวจสอบไม่มีการชี้ว่าอาคารหลังนี้ปลอดภัย จากเหตุแผ่นดินไหว ผู้ตัดสินใจว่าปลอดภัยคือบริษัทผู้รับเหมา ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ดังนั้นกฎกระทรวงต่างๆ ที่ออกมา เป็นเพียงการถามไปตอบมา และไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน" นายนิกรกล่าว
ทั้งนี้ นายนิกร กล่าวว่า วันนี้ประเด็นสำคัญที่ได้มา คือ ลักษณะอาคารของรัฐ เหมือนจะไม่ปลอดภัยในการก่อสร้างเพราะลักษณะการควบคุมไม่มีหน่วยงานใดมาดูแลระหว่างทาง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย และแผนงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูเหตุตึก สตง. แต่เราตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการทั้งระบบ
เมื่อถามว่าส่วนที่ รองผู้ว่าฯ สตง. ยืนยันว่า ผู้ว่าฯ สตง. ติดราชการลับที่สภาแต่ไม่ได้มาชี้แจงที่กมธ. มองว่าไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ นายปลอดประสพ ระบุว่า ไปแต่งตัวและมาใหม่คราวหน้า ถึงอย่างไรก็ต้องมา ส่วนที่ไม่มาชี้แจงนั้นตนขี้เกียจเดา แต่ว่าอย่างไรก็ต้องมา ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้นำต้องมาตอบเอง การให้ลูกน้องมาตนรับได้ครั้งที่หนึ่ง และเรื่องนี้ถือเป็นบทบาท ของผู้นำและเป็นจริยธรรมด้วย
ส่วนรอบหน้าหากยังไม่มาชี้แจงอีกนั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า คงต้องไปเจอกันที่บ้านไม่เห็นจะยากเลยเรื่องนี้มีความผิดพลาด หรือผิดและพลาดอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้น ตึกสตง. คงไม่พังและคนคงไม่ตาย ไม่ต้องมาพูดว่ามันไม่ถูกไม่ผิด ไม่ต้องโทษฟ้าโทษดิน แต่จะทำการแก้ไขอย่างไร ตนมองว่า สตง. ต้องทำเพื่อลูกหลานในวันข้างหน้าจะได้อยู่อย่างปลอดภัย ถ้าสตง.ทำแบบนี้คิดแบบนี้ประเทศเจ๊ง และมีค่าเช่าที่ของการรถไฟ 736 ล้าน ตลอด15 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2576 เรื่องอะไรจะไปเช่า เป็นเศรษฐีนักหรือ โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมืองมาให้ข้อมูลด้วย
ภายหลังการแจง กมธ. ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม รองผู้ว่าฯ สตง. ว่าสรุปแล้ว ผู้ว่าฯ สตง. ติดภารกิจอะไรจึงไม่เดินทางมา โดย รองผู้ว่าฯ สตง. ยืนยันว่า ผู้ว่าฯ สตง. ติดภารกิจลับ ที่สภาฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจังหวะแรกที่ รองผู้ว่าฯ สตง. เข้าใจผิดว่า สภาฯ คือทำเนียบรัฐบาล
Advertisement